“ดรุณดุริยางค์” โน๊ตเปียโนเพลงจากขนมและการละเล่นไทย

0
787

เปียโน นับเป็นเครื่องดนตรีของชาติตะวันตกที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของการเรียนดนตรีสากล แรกเริ่มการเรียนการสอนเปียโนในประเทศไทยต้องพึ่งพาโน้ตดนตรีจากต่างประเทศ แม้ต่อมาจะมีการเรียบเรียงและประพันธ์โน้ตเพลงเปียโนโดยคนไทยออกวางจำหน่าย ซึ่งมีทั้งเพลงไทยเดิม เพลงร่วมสมัย เพลงสุนทราภรณ์ แต่ส่วนมากโน้ตเพลงเหล่านี้มักจะมีความยาก ในระดับกลางตอนปลายจนถึงระดับสูง ซึ่งไม่เหมาะกับนักเปียโนรุ่นเยาว์ ที่ฝึกอยู่ในระดับต้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ดร.อชิมา พัฒนวีรางกูล อาจารย์ดนตรี เขียนหนังสือ “ดรุณดุริยางค์” โน้ตเปียโนเพลงไทยระดับชั้นต้นถึงชั้นกลาง ซึ่งศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ไปเมื่อเร็วๆ นี้

ดร.อชิมา พัฒนวีรางกูล ได้เล่าถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการประพันธ์เพลงในหนังสือ “ดรุณดุริยางค์” ว่าจากประสบการณ์ในการสอนดนตรี พบว่าการสอนดนตรีเด็กเล็กไม่ใช่เรื่องง่าย ในทางกลับกันนั้นมีความยากและซับซ้อนยิ่งกว่าการสอนผู้ใหญ่ เพราะการสอนเด็กจะไม่ได้สอนอย่างตรงไปตรงมา ต้องสร้างจินตนาการให้เด็กสนุกก่อน เพราะตนเองมีความเชื่อว่าการเรียนรู้อย่างมีความสุข จะทำให้เด็กมีความตั้งใจในการฝึกฝนเทคนิคการเล่นเปียโนทั้งนี้โน้ตในการเรียนเปียโนสำหรับผู้เริ่มเรียนในระดับชั้นต้นถึงชั้นกลางนั้น ส่วนใหญ่จะอาศัยโน้ตเพลงของต่างประเทศเพียงอย่างเดียว โน้ตที่เป็นสำเนียงไทยที่มีอยู่ส่วนมากจะเป็นโน้ตในระดับชั้นกลางตอนปลายไปจนถึงระดับสูง ซึ่งมีช่วงการกดคีย์เปียโนที่กว้างสำหรับมือผู้ใหญ่ เด็กที่เริ่มเรียนในระดับต้นจึงไม่สามารถเล่นเพลงเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากเพราะเด็กจะขาดโอกาสในการเรียนรู้เพลงเปียโนสำเนียงไทย”

   

หนังสือ “ดรุณดุริยางค์” โน้ตเปียโนเพลงไทยระดับชั้นต้นถึงชั้นกลาง ประกอบด้วยบทเพลงทั้งหมด 20 เพลง เป็นชื่อของการละเล่นและขนมไทย อาทิ มอญซ่อนผ้า ชักเย่อ กระต่ายขาเดียว บุหลันดั้นเมฆ ขนมชั้น ลอดช่องเป็นต้น ผู้ประพันธ์ได้นำเทคนิคการเล่นเปียโน มาเชื่อมโยงกับวิธีการทำขนม และการละเล่นต่างๆ ได้อย่างลงตัว นอกจากจะมีความไพเราะสนุกสนานแล้ว ยังทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาเทคนิคการเล่นเปียโน และเรียนรู้วัฒนธรรมไทยผ่านบทเพลงอีกด้วย ภายในเล่มนอกจากจะมีโน้ตเปียโนสำเนียงไทย ที่มีการแบ่งสีแต่ละบรรทัดไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้เล่นมือใหม่ไม่หลงบรรทัดของโน้ตแล้ว ยังมีภาพประกอบสี่สีสวยงาม พร้อมสอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการละเล่นและขนมแต่ละชนิด โดยจัดทำเป็น 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ มีซีดีบทเพลงประกอบภายในเล่ม ใช้กระดาษที่มีคุณภาพ ขนาดของหนังสือมีมาตรฐานเดียวกับโน้ตของต่างประเทศ

การประพันธ์เพลงในหนังสือดรุณดุริยางค์นั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีโน้ตเปียโนสำหรับเด็กที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยโดยผสมผสานให้มีความร่วมสมัย เพื่อให้ดนตรีของประเทศไทยก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ซึ่งประเทศเหล่านี้ ไม่ใช่ชาติตะวันตก แต่เขาสามารถผลิตหนังสือโน้ตเพลงสำหรับเด็กออกมาได้เป็นจำนวนมาก โดยผสมผสานวิธีการเล่นแบบตะวันตกให้เข้ากับสำเนียงของชาติได้อย่างลงตัว”

น้องพรีม-มุทิตา สุนทราทรพิพัฒน์ อายุ 6 ปี เล่าว่า “คุณแม่พาไปเรียนเปียโนตั้งแต่ 3 ขวบ ตอนนั้นครูจะไม่รับเพราะยังเล็กมากแต่คุณครูก็ให้ลองดู แล้วหนูก็เรียนได้ หนูว่าเพลงที่โน้ตน้อยจะง่าย เพลงที่โน้ตเยอะจะยาก โน้ตที่เรียนจะเป็นโน้ตเพลงของต่างประเทศ แต่พอมาได้เรียนโน้ตเปียโนสำเนียงไทยในหนังสือดรุณดุริยางค์หนูชอบมาก ชอบภาพวาดสวยๆ ในหนังสือเพราะหนูชอบวาดรูป วันนี้หนูเล่นเพลงขนมใส่ไส้ เป็นเพลงที่คุณครูเลือกให้เพราะเหมาะกับหนู เพลงนี้สำหรับหนูไม่ยาก ใช้เวลาซ้อมประมาณ 2 เดือน วันละ 1 ชั่วโมง หนูคิดว่าเปียโนช่วยให้หนูมีสมาธิ ทำให้หนูอ่านหนังสือนิทานได้นานๆ”

ขณะที่ น้องพราว-ธัญญา ภัทรพนาสกุล อายุ 12 ปี เล่าว่า “เริ่มต้นเรียนเปียโนตั้งแต่ 5 ขวบ ตอนแรกก็ไม่ค่อยสนใจแต่พอเรียนไปสักพักก็ชอบ การเรียนมีทั้งส่วนที่ยากและง่าย ตอนเรียนจะใช้โน้ตเปียโนของอังกฤษ กับญี่ปุ่น แต่พอได้เล่นเปียโนสำเนียงไทยก็ทำให้รู้สึกถึงความเป็นไทยมากขึ้น โน้ตเปียโนของไทยกับต่างประเทศบางทีก็ใช้เทคนิคเดียวกัน แต่ว่าของไทยเราจะฟังแล้วรู้สึกคุ้นหูมากกว่า เลยรู้สึกจะง่ายกว่าสำหรับหนู วันนี้เล่นเพลงลอดช่อง ซึ่งเป็นเพลงที่หนูเลือกเองเพราะหนูชอบเพลงนี้ ขณะที่เล่นเพลงนี้หนูจินตนาการถึงความหวานเย็นของขนมลอดช่อง ส่วนเพลงจ่ามงกุฎหนูเล่นแทนเพื่อนที่มาไม่ได้ค่ะ”

ที่มา : www.ryt9.com