ขยายแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชน “ยุคดิจิทัล” ผ่านแนวคิดของ ราเมศ พรหมเย็น

0
333

หากพูดถึง TK park “อุทยานการเรียนรู้” พื้นที่เล็กๆ ใจกลางเมืองบนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เราคงเห็นภาพของแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ในการเสริมสร้างทักษะ พัฒนาความคิด และส่งเสริมรักการอ่าน รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้แนวใหม่อยู่เสมอ

วันนี้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 12 ภายในงาน TK park ขับเคลื่อนแนวคิด “Learning in Digital Age” โดยมีคุณ ราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้พูดถึงประเด็นการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลสำหรับเยาวชนไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการศึกษาอย่างรอบด้าน TK park ก็เป็นอีกหนึ่งในการรองรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนในยุคดิจิทัล”

การไปต่อเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 เด็กและเยาวชนต้องสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ทุกหนแห่งบนโลกนี้มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาตอบสนองความต้องการของสังคม

วิธีการที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ถูกทางนั้นเป็นความยากและท้าทาย เพราะผู้เรียนต้องใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่ยังคงต้องอยู่ในกรอบที่สังคมต้องการหรือยอมรับได้

เช่นนี้ ทำให้ทาง TK park ปรับกระบวนการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัล เน้นการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงาน ทั้งเว็บไซต์ Digital TK, ห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library), TK แอพพลิเคชั่น และสื่อสังคมออนไลน์

“ห้องสมุดออนไลน์ของเรามีหนังสือทั้งในและต่างประเทศ องค์ความรู้ประเภทต่างๆ และสารพันบันเทิง รวมถึงรูปแบบมัลติมีเดีย ให้สัมผัสมากกว่า 10,000 เล่ม เพื่อกระจายองค์ความรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างสะดวก ที่จะสามารถเข้าถึงได้ไม่น้อยกว่า 16 ล้านคน”

ยังไม่รวมการเรียนการสอนในรูปแบบของอีบุ๊ค ที่ได้ร่วมมือกับทางอุ๊คบีพัฒนาสื่อการสอน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร หนังสือภาพ และหนังสือเสียง พร้อมขยายไปยังหลากหลายแพลตฟอร์มให้ตรงกับพฤติกรรมของ Gen Y และ Gen Z

ไม่เพียงเท่านี้ การที่เด็กในพื้นที่ห่างไกลจะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้นั้น จำเป็นต้องมีศูนย์การเรียนรู้ เพื่อขยายโอกาสลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ โดยทางรัฐบาลเองก็ได้พัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศ

ปัจจุบันอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายได้เปิดให้บริการแล้วกว่า 19 แห่ง ทั่วประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2560 นี้ มีกำหนดเปิดให้บริการใหม่ ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี สำหรับจังหวัดชายแดนใต้ และอุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา (TK Square Korat) ทั้ง 2 แห่งนี้ จะเข้ามาลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งความรู้ และให้สามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น

“จะเห็นว่าเรานำเทคโนโลยีมาบูรณาการกลายเป็นสื่อการเรียนการสอนอีกหลายรูปแบบ และจะกลายเป็นเครือข่ายผ่านระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบฐานข้อมูลหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่เป็นโอกาสใหม่ของเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัล เอื้อต่อการเรียนรู้ให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา” คุณราเมศกล่าวทิ้งท้าย