นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation)

0
9116

 

“ถ้าเราได้ครอบครองสิทธ์ในเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) แล้วพวกเราก็คงจะกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านได้อย่างรวดเร็ว” ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก หรือใหญ่ ดูเหมือนว่าจะพยายามแข่งขันกันเพื่อปลดล็อค ขีดจำกัดในการสร้างนวัตกรรม โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขการใช้ต้นทุนที่บริษัทจะสามารถสรรหาได้ ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดในเรื่องของนวัตกรรมทางธุรกิจ ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินความหมายของคำว่า Innovation มาบ้างแล้ว โดยทั่วไปแล้ว Innovation คือ การสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือ สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และสิ่งนั้นจะต้องสร้างคุณค่าให้กับองค์กร และสาธารณะ

การเกิดนวัตกรรมของสินค้า มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การผลักดันทางเทคโนโลยี (Technology-Push) เกิดจากการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น นวัตกรรมของสินค้าและบริการ จะถูกผลักดันโดยฝ่ายR&D (Research and Development) ส่วนสาเหตุอีกอย่างคือ นวัตกรรมที่เกิดจากแรงดึงดูดของตลาด (Market-Pull) ก็คือ ความต้องการใหม่ๆ ความต้องการที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ซึ่งแรงจูงนี้จะมาจาก ฝ่ายขายและการตลาด ของบริษัทต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย กับ ความต้องการที่เกิดขึ้นใหม่ตามท้องตลาด จะต้องถูกนำมาเชื่อมโยงกัน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ

นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) คือ การสร้างมูลค่าและความมั่งคั่งใหม่ สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึง ลูกค้าและบริษัท เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยหนึ่งมิติ ทางด้านธุรกิจ นวัตกรรมทางธุรกิจจำเป็นมาก สำหรับการแข่งขันทางธุรกิจ และมันยังส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น นวัตกรรมทางธุรกิจ ได้รับความสนใจจากผู้บริหารระดับสูงมากมาย มีงานศึกษาจากบริษัทIBM ในปี 2008 โดยทำการสัมภาษณ์ CEOs พบว่า 69% ของบริษัทจำกัด ให้ความสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมทางธุรกิจอย่างมาก

การสร้างInnovation นั้นอาจใช้วิธีทำให้สินค้าและบริการเกิดความแตกต่างอย่างโดดเด่น หรือเพิ่มoptionsต่างๆให้กับสินค้าและบริการ สำหรับนวัตกรรมโมเดลธุรกิจสมัยใหม่ นั้นคู่แข่งทางธุรกิจต้องสามารถเลียนแบบ หรือทำตามได้ยาก อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ มีความแตกต่างจากนวัตกรรมสินค้า และการพัฒนาเทคโนโลยี โดยที่นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ จะมุ่งเน้นลงไปที่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และ บริษัทผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Firms) ปัจจุบันมีนักวิชาการมากมายพยายามศึกษาถึงตัวแปรการเกิดนวัตกรรมต่างๆ เช่น มีผลงานวิจัยต่างประเทศ พบว่า การเพิ่มนวัตกรรมนั้นสามารถทำได้จากการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กร การลดระยะระหว่างหน่วยงานในองค์กร เพิ่มการทำกิจกรรมระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการทำลายกำแพงกั้นขวางการแลกเปลี่ยนความรู้ในองค์กร ล่าสุดงานวิจัยของ RangusและSlavec (2017) ชี้ให้เห็นว่า การกระจายอำนาจการบริหาร (Decentralization) จะเพิ่มความมีส่วนร่วมของพนักงาน แล้วส่งผลไปยังการสร้างInnovation นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการต่างชาติ เสนอแนะ การมีพันธมิตรทางธุรกิจ จะช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจได้อีกด้วย

 

ดร. กุลบุตร โกเมนกุล : รองคณบดี ฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และ อาจารย์ประจำ สาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย รังสิต