​โมร็อกโก ศักยภาพที่ซ่อนอยู่กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

0
154

“โมร็อกโก” ประเทศในแถบแอฟริกาเหนือ ใกล้กับทวีปยุโรปเพียงช่องแคบยิปรอลตากั้น ด้วยลักษณะอันโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ทำให้โมร็อกโกกลายเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างทวีปแอฟริกาและทวีปยุโรป จึงไม่ใช่เรื่องยากหากจะใช้โมร็อกโกเป็นฐานการส่งออกสินค้าสู่ตลาดยุโรป

นอกจากศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งแล้ว ศักยภาพทางเศรษฐกิจของโมร็อกโกยิ่งไม่ควรมองข้าม อุตสาหกรรมหลักของประเทศโมร็อกโกนอกเหนือจากการท่องเที่ยวคือ การทำเหมืองแร่หินฟอสเฟตและการแปรรูปสินค้าหนังสัตว์ สิ่งทอ ที่กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 4.7% ในปี 2558 ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลโมร็อกโกยังเล็งเห็นความได้เปรียบจากชายฝั่งทะเลของประเทศที่ยาวถึง 3,500 กิโลเมตร ครอบคลุมแหล่งน้ำที่มีคุณภาพและประกันความหลากหลายของพันธุ์ปลา จึงคิดที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในประเทศ

รัฐบาลโมร็อกโกจึงเร่งวางนโยบายสำคัญในการส่งเสริมทางด้านอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนและปราศจากสารเคมี ตอบรับกระแสความนิยมบริโภคสินค้าคุณภาพของตลาดโลก และเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ทางทะเลเพื่อมุ่งส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว นโยบายดังกล่าวเสริมให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในโมร็อกโกมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลดีให้ธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวเติบโตควบคู่ไปด้วย

โมร็อกโกเป็นหนึ่งในสามประเทศกำลังพัฒนานอกเหนือจากโอมาน และเอกวาดอร์ ที่ถูกจัดอันดับโดย UNCTAD ว่าอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีการพัฒนาอย่างก้าวหน้า และได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากรัฐบาลโมร็อกโก ที่วางนโยบายทั้งเพื่อการบริโภค การแปรรูปทางอุตสาหกรรม และการสันทนาการ ทำให้โมร็อกโกอยู่ในสถานะของประเทศที่ได้เปรียบในการเข้าสู่ตลาดสินค้าสัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน

ในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ชายฝั่งของโมร็อกโกยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากนัก สะท้อนจากตัวเลขการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในสัดส่วนที่น้อยกว่า 1% ของภาคการประมงทั้งหมด เพราะการประมงของโมร็อกโกแบบดั้งเดิม เน้นสัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติเป็นหลัก อาทิ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาหมึก ที่แต่ละปีมีปริมาณที่จับได้กว่า 8 แสนตัน จนกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมง อันดับ 1 ในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งไทยเป็นประเทศที่นำเข้า

สินค้าประมงจากโมร็อกโกเช่นกัน โดยในปี 2558 มีการนำเข้ากว่า 30,000 ตัน มูลค่าประมาณ 1,450 ล้านบาทอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งของโมร็อกโกในปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น หน่วยงานภาครัฐของโมร็อกโกกำลังเปิดประมูลโครงการก่อสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาด 20-40 เฮกตาร์ จำนวน 9 แห่ง บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้มากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,000 ล้านบาท กลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่ต้องเข้าไปศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเข้าไปร่วมพัฒนาและลงทุนกับโมร็อกโก

สิ่งที่การันตีชื่อเสียงที่ดีทางด้านประมงของโมร็อกโกคือข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าระหว่างโมร็อกโกกับสหภาพยุโรป ทำให้โมร็อกโกอยู่ในฐานะที่ดีที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อส่งออกไปยังตลาดยุโรปซึ่งมีความต้องการสินค้าในลักษณะนี้มากขึ้น เป็นศักยภาพของตลาดที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะอาศัยสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่โมร็อกโกมีกับประเทศต่าง ๆ ในการขยายโอกาสทางธุรกิจ

ปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับโมร็อกโก อยู่ที่ปีละ 167.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,800 ล้านบาท ขณะที่ยังมีการลงทุนของภาคเอกชนไทยในโมร็อกโกไม่มากนัก

ที่มา : www.mfa.go.th/business/th/articles