​4 แนวทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรของสภาพัฒน์

0
265

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ว่า บทบาทหน้าที่ของสภาพัฒน์จะต้องปรับเปลี่ยนจากนักวางแผน เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และขับเคลื่อนการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศไปพร้อมกัน โดยจะต้องมีหน่วยงาน Future Lab ในการติดตามสัญญาณของโลกเพื่อให้ไทยสามารถปรับตัว หรือเตรียมพร้อมนโยบาย เนื่องจากในอนาคตโลกจะมีความผันผวน มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงาน Policy Lab ในการคิคค้นนวัตกรรมทางนโยบายและยุทธศาสตร์ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงต่อเทรนด์ของโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถในการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติ

พร้อมกันนี้ ได้วาง 4 แนวทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรของสภาพัฒน์ คือ ทิ้ง ซ่อม เสริม และสร้าง โดยจะต้องทิ้งหรือถ่ายโอนภารกิจที่ไม่จำเป็นหรือเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การวิเคราะห์การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ควรจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง การเพิ่มงบประมาณประจำปีของสภาพัฒน์ในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงเพิ่มศักยภาพกำลังคนเพื่อสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ รับมือการเปลี่ยนแปลง การจัดตั้งหน่วยงานสถาบันวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ระดับประเทศ รวมถึงขับเคลื่อนสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสศช.ต้องถอดรหัสประเด็นท้าทายออกมาให้เป็นนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

“อันดับแรก ผมเห็นว่าสภาพัฒน์จะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในบริบทของศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นองค์กรแห่งอนาคต (Organization for the Future) เป็นห้องทดลองอนาคต (Future Lab) และห้องทดลองนโยบาย (Policy Lab) ของรัฐบาล ชี้แนะทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต” นายสุวิทย์ กล่าว