​สุดอลังการ! งาน SETA 2017 ชูเทรนด์พลังงานไฮบริด รถพลังงานไฟฟ้า

0
181

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม และ กรุงเทพมหานคร เปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” ปีที่ 2 ภายใต้ธีม “Towards A Low-Carbon Society” ใน4 หัวข้อหลัก ได้แก่ นโยบายและการวางแผนด้านพลังงาน เทคโนโลยีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำพลังงานเพื่อการคมนาคมขนส่งเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ และ เมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อผลักดันและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เน้นเทรนด์อุตสาหกรรมไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยงานจัดระหว่าง วันที่ 8 – 10 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีการดำเนินการเพื่อให้พลังงานมีเสถียรภาพที่เหมาะสม โดยการสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานทุกรูปแบบของประเทศ ที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต ขนส่ง จำหน่าย และการกระจาย ให้ต้นทุนราคาพลังงานอยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนไม่แบกรับภาระมากเกินไป  ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการประหยัดพลังงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับงาน SETA 2017 นับเป็นปีที่ 2 แล้ว ที่ประเทศไทยจะได้แสดงถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาภาคพลังงานของประเทศ และศักยภาพในการพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคเอเชีย เชื่อมความร่วมมือของประเทศในเอเชีย โดยมีผู้นำประเทศ และผู้นำทางความคิดจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้เรียนรู้แนวความคิด การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการประชุม อภิปราย และการจับคู่เพื่อเจรจาทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในงานนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทย ได้มองเห็นโอกาสในการขยายการลงทุนด้านพลังงานในต่างประเทศอีกด้วย

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบาย Energy4.0 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 เป็นนโยบายภาพใหญ่เพื่อยกระดับประชาชนให้มีความสามารถทางการแข่งขัน และมีรายได้สูงขึ้น เช่น โครงการ Smart Cities คือ การพัฒนาชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้โครงข่าย Smart Grid หรือระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจริยะ ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงาน เกิดการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้าง Smart Building ติดตั้ง Smart Meter เป็นข้อมูลการบริหารจัดการไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดหาไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้า ขยายจุดเติมไฟฟ้าไปตามจุดสำคัญต่าง ๆ เช่น ศูนย์การค้า ที่จอดรถ ส่วนราชการ รวมถึงการทำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยลดมลภาวะทางด้านเสียงและอากาศให้กับสิ่งแวดล้อม การวิจัยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เพื่อให้จุไฟได้มากขึ้น เรียกว่า Energy Storage เพื่อให้มีขนาดเล็กลง มีคุณภาพ และราคาถูก ในการบริหารจัดการพลังงานในประเทศมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหลายอย่าง กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการให้เกิดความสมดุลทั้งด้านความมั่นคง ความเป็นธรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในอนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรมการเดินทาง และความต้องการในการเดินทางของประชาชน ภายใต้ 3 แนวคิด คือ การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) มุ่งเน้นการลดใช้พลังงานฟอสซิล ปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก และส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์โดยลดต้นทุนโลจิสติกส์ ส่งเสริมการขนส่งทางรางและทางน้ำให้เป็นรูปแบบการขนส่งหลัก โดยมีการขนส่งทางถนนเป็นระบบสนับสนุน และการเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusive Transport) การยกระดับการขนส่งให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก มีค่าโดยสารที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า กระทรวงฯ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้มีความสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งต้องการเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจของประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน โดยใช้องค์ความรู้เพื่อเป็นพื้นฐานในการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตร อาหารและพลังงานทดแทน อีกทั้งนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถ่ายทอดไปสู่โรงเรียน ชุมชน ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้มีการบรรยาย ประชุมสัมมนา และเวิร์คช็อปจากองค์กรระดับนานาชาติ และบริษัทที่เป็นผู้นำในหัวข้อต่างๆ อาทิ “CEO Energy Forum”  โดยรวบรวมกูรูด้านพลังงานระดับโลกและเจาะลึกนโยบายพลังงานและความร่วมมือในระดับภูมิภาคใน“CLMVT Energy Forum“ Financing in Energy โดย Reliott” “Hybrid & EV TechnologyZone” เป็นต้น ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ในเว็บไซต์ www.SETA.Asia