วิทยายุทธจีน: ปาจี๋ (มวยแปดสุดยอด) จากมุสลิมเผ่าหุย สู่แดนจงหยวน

0
4181

อ.เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้ชำนาญการสายงานกิจการนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  และ ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย)

[email protected]

ผู้เขียนได้ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะตัดสินใจเขียนบทความเกี่ยวกับวิทยายุทธจีนขึ้นมา นั่นเพราะว่าเดิมทีผู้เขียนเองอยากให้แง่มุมด้านนี้ของผู้เขียนเป็นแง่มุมส่วนตัวที่เอาไว้ส่งต่อให้กับกลุ่มศิษย์ไม่กี่คนตามวิถีการสืบทอดแบบโบราณ แต่เนื่องจากตอนนี้ผู้เขียนมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลฝ่ายไทย หน้าที่การเผยแผ่วัฒนธรรมจีนจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างเต็มความสามารถ ประกอบกับมีผู้เรียกร้องให้ผู้เขียนได้เผยแผ่วิชาเท่าที่จะเผยแผ่ได้ออกมา ผู้เขียนเห็นแก่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่สนใจในด้านพลานามัย และประโยชน์ที่จะได้ต่อตัวองค์ความรู้ในแง่ที่ว่าวัฒนธรรมจีนที่มีคุณค่านี้ยังมีผู้ได้เรียนรู้สืบทอดต่อไป จึงได้เขียนบทความเกี่ยวกับวิทยายุทธตามความเข้าใจของผู้เขียนออกมา โดยจะขอเขียนตามความชำนาญในวิชานั้นๆของผู้เขียนเป็นหลัก สอดแทรกด้วยประสบการณ์ที่น่าสนใจที่ผู้เขียนได้พบเจอมา

จุดเริ่มต้นในการเรียนวิทยายุทธของผู้เขียนนั้นคงไม่ต่างจากหลายท่านที่รู้จักวิทยายุทธจีนจากนิยายกำลังภายใน แต่ผู้เขียนนั้นมีนิยายกำลังภายในเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาจีนกับอากง(คุณตา)ตั้งแต่ยังเด็ก นับแต่การชอบพลิกๆดูตำราไท่จี๋เฉวียน(มวยไท้เก็ก)สกุลต่งที่อากงมีอยู่ที่บ้าน ตลอดจนการไปเดินร้านหนังสือแถวเยาวราชนั้น อากงมักจะพาแวะเวียนไปดูหนังสือจีนโดยนอกจากหนังสือการเขียนพู่กันจีนแล้ว หนังสือวิทยายุทธก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่อากงซื้อให้ ด้วยความอยากรู้จึงขยันตั้งใจเรียนภาษาจีนมาทีละเล็กละน้อย เมื่อโตขึ้นก็ได้มีโอกาสใช้ภาษาจีนในการติดต่อสื่อสารกับคนจีนบ้าง คนจีนโพ้นทะเลในประเทศอื่นๆบ้าง จึงสามารถฟังพูดอ่านเขียนได้อย่างปัจจุบันนี้

การเรียนวิทยายุทธของผู้เขียนนั้นก็เริ่มมาจากหลากหลายวิชาไม่ว่าจะเป็น เทควันโด , ยูโด , หย่งชุน , ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท้เก็ก) , มวยไทยโบราณ , ดาบไทยภาคเหนือ ฯลฯ แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนจนได้รับอนุญาตจากครูผู้สอนให้สามารถสอนต่อได้ตามระบบดั้งเดิมก็คือ มวยแปดสุดยอด หรือที่บางท่านเรียกว่า มวยแปดปรมัตถ์(八极拳 – ปาจี๋เฉวียน) , ฝ่ามือสับงัด (劈挂掌 – พีกว้าจ่าง)และฝ่ามือแปดรูปลักษณ์(八卦掌 – ปากว้าจ่าง)ซึ่งทุกวิชาล้วนเป็นวิทยายุทธของจีนภาคเหนือทั้งสิ้น

บทนี้ผู้เขียนจะขอเขียนถึงปาจี๋เฉวียนหรือมวยแปดสุดยอด ซึ่งเป็นมวยที่น่าสนใจและเคยได้รับความนิยมอย่างสูงในต่างประเทศรองจากไท่จี๋เฉวียนเลยทีเดียว ปาจี๋เฉวียนนั้นปรากฏชื่อครั้งแรกใน จี้เซี่ยวซินซู(纪效新书)ของ ชีจี้กวง (戚继光)แม่ทัพปราบญี่ปุ่นยุคราชวงศ์หมิง โดยสมัยนั้นเรียกกันว่า ผาจื่อเฉวียน(耙子拳)หรือมวยคราด เพราะรูปของมือที่เป็นการกำหมัดหลวมๆคล้ายๆคราดของชาวนา ต่อเมื่อล่วงกาลผ่านเวลานานเข้า ปรมาจารย์ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น ปาจี๋เฉวียน นอกจากเพื่อความไพเราะดูไม่ลูกทุ่งเหมือนคำว่าคราดแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของมวยนี้ด้วย เช่น มวยนี้จะมีลักษณะการระเบิดแรงออกทุกทิศทุกทาง อีกทั้งระบบการฝึกยังมีการฝึกฝนให้สามารถส่งแรงออกได้จากแปดจุดสำคัญของร่างกาย อีกด้วย

แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์การจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่อ้างอิงถึงการสืบทอดปาจี๋เฉวียนนั้น เริ่มจากท่านปรมาจารย์อู๋จง ชนเผ่าหุย(ชาวมุสลิม) ในต้นราชวงศ์ชิง ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านเมิ่ง(孟春)ในมณฑลเหอเป่ย(河北省)ซึ่งทุกวันนี้ในบริเวณนั้นยังมีการฝึกฝนกันอยู่และมีทายาทสกุลอู๋ผู้สืบทอดวิชาโดยตรงของอู๋จงอยู่ที่นั่นด้วย

แต่เพราะบุคคลท่านหนึ่ง มวยแปดสุดยอดนี้จึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ฝึกฝนวิทยายุทธยุคปัจจุบัน และเป็นมวยที่ผู้ที่ต้องการฝึกฝนวิทยายุทธจีนเพื่อป้องกันตัวเลือกเป็นอันดับต้นๆ ท่านผู้นั้นคือ ทวนเทพเจ้าหลี่ซูเหวิน(神枪李书文)ปรมาจารย์รุ่นที่ 5 เหตุที่หลี่ซูเหวินมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือนอกจากเพราะวิชาทวนอันลือลั่นและวิชามวยอันไม่เป็นรองใครแล้วนั้น ลูกศิษย์ของหลี่ซูเหวินถึง 3 ท่าน ยังได้รับความไว้วางใจจากบุคคลระดับสูงในรัฐบาลสามยุคสามสมัย นั่นคือ ศิษย์คนโตฮั่วเตี้ยนเก๋อ(霍殿阁)ได้รับเชิญจากจักรพรรดิองค์สุดท้ายผู่อี๋(หรือที่คนไทยเรียกว่าปูยี)ให้เป็นราชองครักษ์และครูสอนวิชามวยให้กับองค์จักรพรรดิ , หลี่เจี้ยนอู่(李健吾)ได้รับความไว้วางใจให้เป็นองครักษ์ของท่านประธานเหมาเจ๋อตุง , ศิษย์คนสุดท้าย หลิวหยุนเฉียว(刘云樵)อดีตสายลับพรรคจีนคณะชาติซึ่งได้รับความไว้วางใจให้สอนหน่วยองครักษ์ ซึ่งผู้เขียนเองได้มีโอกาสศึกษามวยแปดสุดยอดสายหลี่ซูเหวินนี้ผ่านจากหลานศิษย์และเหลนศิษย์ของหลี่ซูเหวิน

มวยแปดสุดยอดที่ผู้เขียนได้ฝึกมาตามระบบโบราณนั้นมีวิธีฝึกที่เรียบง่าย ท่วงท่าไม่ซับซ้อน ไม่มีท่าร่ายรำเพื่อความสวยงามเหมือนมวยจีนอื่นๆ แต่ความยากของมวยนี้นั้นอยู่ที่การฝึกสั่งสมพลังภายใน โดยใช้การฝึกยืนหยุดนิ่งในแต่ละท่า(定式 – ติ้งซื่อ)กำหนดจิตและกายให้สงบ และเคลื่อนจิตไปยังจุดต่างๆของร่างกาย ซึ่งจุดนี้นี่เองทำให้การฝึกมวยแปดสุดยอดแม้ในชุดรำชุดแรกที่มีความยาวไม่มาก กลับต้องใช้เวลาสั่งสมพลังภายในหนึ่งปีเป็นอย่างต่ำ(ผู้เขียนได้ยินครูบาอาจารย์เล่าว่าสมัยโบราณฝึกชุดแรกกันประมาณ 3 ปี) เมื่อมีพื้นฐานที่ดีการฝึกในขั้นตอนต่อไปจะไปค่อนข้างเร็ว โดยพวกเราที่ฝึกมวยนี้มักจะยกคำพังเพยจีนที่ว่า “ขมก่อนหวานทีหลัง”(先苦后甘 – เซียนขู่โฮ่วกาน)มาเปรียบเทียบอยู่เสมอ

ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างท่าที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ฝึกมวยแปดสุดยอดทุกสำนัก นั่นคือ ท่าศอกทะลวงใจ(顶心肘 – ติ่งซินโจ่ว)หลักสำคัญของท่าร่างภายนอกนี้คือ “มือหนึ่งอุ้มเด็ก อีกมือหาบสาแหรก” ส่วนการฝึกพลังภายในของท่านี้คือ ฝึกแรงจม(沉坠劲 – เฉินจุ้ยจิ้ง)โดยการกำหนดจิตผ่อนคลายมวลทั้งหมดของร่างกายลงสู่พื้นดิน หากผู้ฝึกไม่คิดมากว่าท่านี้ใช้ป้องกันตัวได้อย่างไร การฝึกจิตให้รู้จัก “ทิ้ง”ทุกอย่างออกไปบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ดีไม่น้อยกับจิตใจ ต่อจากนั้นหากจิตใจที่ผ่อนคลายส่งผลต่อมาถึงร่างกายแล้ว ร่างกายที่ถ้าคุ้นชินกับความผ่อนคลายนั้นก็เป็นเหตุให้เลือดลมเดินสะดวก ความตึงเครียดแข็งเกร็งที่นำมาซึ่งความปวดเมื่อยก็น้อยลงไปเองตามธรรมชาติ

แต่หากต้องการจะอธิบายในส่วนของการใช้ป้องกันตัว ท่าศอกทะลวงใจ นี้ก็เป็นท่าศอกที่โจมตีเข้าที่หน้าอกของคู่ต่อสู้โดยมีการใช้การก้าวเท้าเข้ามาเสริมให้การใช้ศอกมีพลานุภาพสูงขึ้น ซึ่งการใช้เท้าในการขับเคลื่อนแรงนี้เองที่เป็นหลักสำคัญของการฝึกมวยจีนภาคเหนือทุกประเภท และมวยแปดสุดยอดนี้ก็มีจุดเด่นเรื่อง “เสียง”ของการจมแรงลงที่เท้า และเสียงของการก้าวเท้าไปข้างหน้าที่หนักแน่นทรงพลังปานแผ่นดินไหวกว่ามวยจีนภาคเหนือชนิดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

นอกจากการใช้เท้าเพื่อก้าวเพื่อเสริมแรงในการโจมตีของท่อนบนแล้ว หากมีระยะและจังหวะที่เหมาะสมเพียงพอ การใช้เท้าของมวยจีนทางเหนือนั้นจะปรับเปลี่ยนเป็นการขัดเพื่อทุ่มอีกฝ่ายลงสู่พื้นได้อีกด้วย จากภาพประกอบที่เป็นการแปรเปลี่ยนตามสภาพการณ์ของท่าศอกทะลวงใจ

ในมณฑลเหอเป่ย เมืองต้นกำเนิดของมวยแปดสุดยอดนี้ มีคำกล่าวว่า “八极参劈挂,神鬼都害怕”(ปาจี๋ชานพีกว้า เสินกุ่ยโต้วไห้พ่า) ที่แปลว่า “ปาจี๋(มวยแปดสุดยอด)รวมกับพีกั้ว(ฝ่ามือสับงัด) , ทั้งเทพและมารล้วนสะท้านกลัว” ในนิตยสารเล่มต่อไป ผู้เขียนจะอธิบายถึงวิชาพีกว้าจ่าง กระบวนท่าป้องกันตัวอย่างสังเขป และการฝึกพื้นฐานเพื่อบำรุงสุขภาพ