พีกว้าจ่าง : อ่อนหยุ่นมิใช่อ่อนแอ นำพาร่างกายกลับสู่ความสดชื่น

0
1595

อ.เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้ชำนาญการสายงานกิจการนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  และ ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย)

[email protected]

มวยเหนืออีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในการฝึกควบคู่กับปาจี๋เฉวียน คือ พีกว้าจ่าง หรือ ฝ่ามือสับงัด หรือถ้าแปลตรงตัวควรจะแปลว่า ฝ่ามือสับแขวน เป็นหนึ่งในมวยจีนไม่กี่ชนิดที่ใช้คำว่า จ่าง(掌)ที่แปลว่าฝ่ามือ ต่อท้ายชื่อมวย (โดยปกติมวยจีนแทบทุกชนิดจะลงท้ายชื่อมวยว่า 拳 ซึ่งแปลว่าหมัด แต่ในบริบทของการใช้เรียกชื่อมวย คำว่าหมัดนี้จะมีความหมายว่ามวย เช่น ไท่จี๋เฉวียน จะแปลว่า มวยไท่จี๋ ไม่ใช่ หมัดไท่จี๋) สาเหตุของการใช้คำว่า ฝ่ามือ นั้นเพราะกระบวนท่าทั้งท่าฝึกและท่ารำล้วนไม่มีการใช้หมัดเลยแม้แต่น้อย

พีกว้าจ่างมีประวัติความเป็นมามาตั้งแต่ราชวงศ์หมิงเช่นเดียวกับปาจี๋เฉวียนแต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากเท่า สมัยโบราณกาล ทั้งพีกว้าจ่างและปาจี๋เฉวียน เป็นสำนักที่แยกกันโดดๆคือ ต่างคนต่างฝึกวิชาของตนเองไป จนมีปรมาจารย์บางท่านเห็นความสำคัญที่ทั้งสองวิชาสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ จึงได้มีการฝึกฝนอีกวิชาหนึ่งควบคู่ไปด้วย จนมีคำกล่าวว่า “八极参劈挂,神鬼都害怕。劈挂参八极,英雄嘆莫及。” (ปาจี๋ชานพีกว้า เสินกุ่ยโตวไฮ่พ่า พีกว้าชานปาจี๋ อิงสยงทั่นม่อจี๋) ซึ่งแปลว่า “ปาจี๋รวมพีกว้า เทพมารล้วนสะท้าน , พีกว้ารวมปาจี๋ ยอดยุทธมิกล้าเปรียบ”

เหตุผลที่กล่าวเช่นนี้สามารถอธิบายได้หลายแง่มุม แง่มุมที่อธิบายได้ง่ายที่สุดคือ ท่าร่าง(身法 – เซินฝ่า) ของปาจี๋เฉวียนนั้นหดแคบ หนักแน่น มั่นคง  ในขณะที่ท่าร่างของพีกว้าจ่างนั้นเปิดกว้าง ผ่อนคลาย แคล่วคล่อง จนบางสำนักถึงกับมีหลักการว่า ไม่ควรฝึกฝนมวยสองมวยนี้ในช่วงเวลาเดียวกันเพราะจะทำให้ไม่เข้าถึงเนื้อในของแต่ละวิชา ในระยะหลัง ผู้ฝึกฝนพีกว้าจ่างหลายสำนัก จึงมักฝึกฝน ทงเป้ยเฉวียน(通臂拳)ควบคู่กันไปด้วย ที่บางตำนานเล่าว่าเป็นมวยที่เลียนแบบท่วงท่าการเหวี่ยงแขนแบบชะนี ควบคู่กันไปด้วย เหตุที่นิยมฝึกร่วมกันเพราะ เว่ยเต้า(味道) ที่แปลว่ารสชาติ ของมวยนี้มีลักษณะเหมือนกัน คือการใช้แรงยาวแบบแส้ฟาดออกไป ส่วนทักษะที่ร่างกายของผู้ฝึกต้องสั่งสมคือ ความอ่อน และ การเปิดของข้อต่อแขนทั้งหมด ตลอดจนกระดูกสันหลังในส่วนที่เกี่ยวข้อง

พื้นฐานพีกว้าจ่างในสายที่ผู้เขียนเรียนมามี 4 ท่า คือ 劈(พี-สับ) , 抱(เป้า-โอบ) , 撐(เชิง-ค้ำ) , 靠(เค่า-พิง) ซึ่งในแต่ละท่าหลักมี 4 ท่าย่อย รวมเป็น 16 ท่า ซึ่งครอบคลุมหลักสำคัญเอาไว้อย่างครบถ้วน

จากความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียนนั้น พีกว้าจ่าง มีคุณประโยชน์ในเชิงสุขภาพสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแรงที่ทำให้หัวใจเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ การยืดเหยียดผ่อนคลายร่างกาย การบริหารข้อให้คล่องตัว ล้วนทำให้ร่างกายผ่อนคลายสบายเบาหลังจากการฝึกทั้งสิ้น

ผู้เขียนขอสาธิตท่า “เป้า” หรือท่าโอบ ของพีกว้าจ่างเอาไว้สักเล็กน้อย ดังภาพ

วิธีใช้ในการป้องกันตัวของท่าเป้าก็คือ การใช้มือด้านหน้าป้องกันหมัดที่เข้ามาของฝ่ายตรงข้าม ประกอบกับการใช้การก้าวเท้าอ้อมเข้าด้านข้างของฝ่ายตรงข้ามเล็กน้อย จากนั้นมืออีกข้างของผู้เขียนจะอ้อมไปที่ด้านหลังศีรษะของฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ด้วยแรงเหวี่ยงของร่างกายของผู้เขียน ทำให้การทำลายรากและทุ่มลงสู่พื้นเป็นไปได้โดยสะดวก

(หมายเหตุ – การฝึกฝนด้วยตนเอง หรือการฝึกฝนกับคู่ฝึกซ้อมโดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้สอน อาจเกิดอันตรายได้)

ต่อไป ผู้เขียนจะเขียนถึงวิชา ปากว้าจ่าง(八卦掌)หรือที่คนชอบเรียกกันว่า ฝ่ามือแปดทิศ , ฝ่ามือมังกรแปดทิศ(ในชื่อภาษาจีนไม่มีคำว่ามังกร ผู้แปลบางท่านอาจคุ้นชินกับสำนวนนิยายกำลังภายใน) , ฝ่ามือแปดราศี , ฝ่ามือแปดรูปลักษณ์ แล้วแต่จะเรียก

ปากว้าจ่าง เป็นวิชามวยที่มีต้นกำเนิดยุคปลายราชวงศ์ชิง ถือว่าเป็นมวยน้องเล็ก ที่มีหลักปรัชญาและหลักวิชาน่าสนใจมาก โดยเฉพาะหลักในการบำรุงอวัยวะต่างๆของร่างกาย พลาดไม่ได้ครับ