พาหมาแมวเข้า-ออกประเทศก็เป็นธุรกิจได้

0
924

จีนยอมให้หมากับแมวเป็นสัตว์เลี้ยงเพียง 2 อย่างที่เดินทางเข้า-ออกประเทศได้ นักเดินทางหนึ่งคนพาได้หนึ่งตัว สัตว์ชนิดอื่นแม้แต่เต่า กระต่าย หนูแกสบี้ตัวเล็ก ๆ เคยมีคนแอบซุกซ่อนไว้ในกระเป๋า แต่มักไม่รอดสายตา  จับได้เมื่อไหร่ถูกส่งกลับทันที ในกรณีเลวร้ายสุด ๆ อาจถูกนำไปทำลายทิ้งเสียก็ได้

หมาแมวแม้จะได้สิทธิ์พิเศษกว่าสัตว์อื่น แต่กระบวนการในการพามันเข้า-ออกยุ่งยากกว่าคนหลายเท่า  เจ้าของต้องเรียนรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎที่ประเทศต้นทางและปลายทางกำหนดไว้  และที่สำคัญต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางอย่างต่ำ 6 เดือน  เพราะจีนมีข้อบังคับชัดเจนว่านักเดินทางสี่ขาที่จะเดินทางออกจากประเทศ  ต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนโรคกลัวน้ำย้อนหลังตั้งแต่ 1 เดือนถึง 1 ปีนับจากวันเดินทาง  และต้องมีใบรับรองจากแพทย์ที่ทำการตรวจสุขภาพให้กับหมาแมวตัวนั้นก่อนออกเดินทาง 30 วัน  เหตุผลที่ต้องเข้มงวดขนาดนี้  จีนอ้างว่าเป็นความรับผิดชอบเพราะจีนเป็นประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคกลัวน้ำ  ยังกำจัดโรคกลัวน้ำได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ขืนปล่อยออกไปง่าย ๆ แล้วไปกัดคนเข้า  ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงระดับการทูตระหว่างประเทศเลยทีเดียว

การนำสัตว์เลี้ยงเข้าประเทศจีนก็เหมือนกัน  จีนเรียกร้องให้เจ้าของสัตว์ต้องแสดงหนังสืออนุญาตผ่านแดนจากประเทศต้นทางที่เจ้าสี่ขาเดินทางมา  พร้อมหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำด้วย  แต่ถึงจะมีเอกสารจำเป็นครบทุกอย่างก็ตาม  ก็ยังต้องกักกันไว้ที่ด่านกักกันสัตว์อีกอย่างต่ำ 7 วันจนถึง 30 วัน  ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าสี่ขาตัวนั้นเดินทางมาจากประเทศไหน

แต่ละประเทศกำหนดกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการนำสัตว์เลี้ยงผ่านเข้า-ออกจากประเทศไม่เหมือนกัน  เจ้าของสัตว์จึงต้องศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามกฎที่ประเทศต้นทางและปลายทางกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด   แค่นั้นไม่พอแต่ละสายการบินยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการพาเจ้าสี่ขาขึ้นเครื่องไม่เหมือนกันอีกต่างหาก  เจ้าของก็มีหน้าที่ต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎเหล่านั้นเช่นกัน  เช่น  บางสายอาจอนุโลมให้เจ้าของนำสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก (ปกติน้ำหนักไม่เกิน 8 กิโลกรัม) ติดตัวขึ้นไปในห้องผู้โดยสารได้  แต่บางสายก็ให้ถือสัตว์เลี้ยงเสมือนหนึ่งสินค้าซึ่งต้องโหลดเข้าใต้ท้องเครื่องอย่างเดียว  แม้แต่กรงหรือลังที่ใช้กักขังมันในระหว่างเดินทางก็มีสเปคกำหนดไว้ชัดเจน  เจ้าของจะทำตามอำเภอใจไม่ได้เด็ดขาด

ในเมื่อการพาสัตว์เลี้ยงเดินทางมันยุ่งยากนัก  บรรดาเจ้าของสัตว์ทั้งหลายซึ่งล้วนแต่มีเงินเหลือใช้แต่ไม่มีความอดทนพอสำหรับเรื่องจุกจิกกวนใจเหล่านี้   จึงยินดีจ่ายเงินเพื่อให้บริการมืออาชีพทั้งหลายมารับภาระไปจากตน อันที่จริงธุรกิจขนย้ายหมาแมวเข้าออกประเทศเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับจีน  แต่อนาคตของธุรกิจประเภทนี้กลับเบิกบานรุ่งโรจน์อย่างเห็นได้ชัด เพราะจำนวนคนที่ต้องการใช้บริการมีเพิ่มขึ้นทุกปี  ค่าบริการที่ชาร์จก็เรียกได้แบบไม่ค่อยต้องเกรงใจกันเท่าไหร่ โดยส่วนใหญ่จะให้บริการแบบที่เรียกว่า door-to-door  คือรับตัวจากบ้านแล้วส่งตัวให้ถึงบ้าน ก่อนเดินทางเป็นธุระจัดการให้ทุกอย่างทั้งตรวจสุขภาพ  ฉีดวัคซีนให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด รวมตลอดไปถึงการดูแลให้เจ้าสี่ขาได้รับความสุขสบายและปลอดภัยตลอดการเดินทาง

ข้อมูลจากด่านกักกันสัตว์เข้าออกจากประเทศจีนระบุว่า  11 เดือนของปีที่แล้วคือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2016  มีหมาแมวเข้าออกจากประเทศทั้งหมดประมาณ 8,000 ตัว  เฉพาะที่ท่าอากาศยานกรุงปักกิ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าบางวันมีเข้าและออกถึง 7-8 ตัว  ส่วน ICVS (International Center for Veterinary Services) โรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่ในกรุงปักกิ่ง  ซึ่งนอกจากให้บริการรักษาโรค เลี้ยงดู  และฝึกหัดสัตว์ทุกชนิดแล้ว  ยังจัดอบรมให้ความรู้ฟรีแก่เจ้าของสัตว์ที่จะพาหมาแมวของตนออกเดินทาง   ICVS บอกว่าในรอบปีที่ผ่านมามีเจ้าของมาขอรับบริการจากตนประมาณ 2,000 ราย 40% ของเจ้าของสัตว์เป็นพลเมืองจีน

อะไรทำให้เจ้าสี่ขาลุกขึ้นมาอพยพย้ายถิ่นกันเป็นที่เอิกเกริก ? เรื่องนี้โปรดอย่างคิดว่าเป็นเรื่องของหมาแมวคนไม่เกี่ยว  เพียงพิเคราะห์ดูสักนิดก็จะเห็นว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคที่จีนกำลังเฟื่องฟู  หลาย ๆ ปีมานี้จีนมีนักการทูตต่างชาติ  และนักธุรกิจระดับประเทศหิ้วกระเป๋าเดินทางเข้าออกเป็นประจำทุกวัน   คนพวกนี้ต้องเข้าไปทำงานระยะยาวจึงมักพาครอบครัวไปพำนักอยู่ด้วย  หมาแมวที่เคยเลี้ยงดูซึ่งพวกฝรั่งถือคติว่าเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว  จะไปไหนจึงต้องขนมันไปด้วย

คติของพวกฝรั่งที่ว่านี้ (ซึ่งที่จริงต้องเรียกว่าคติของพวกผู้ดีมีอันจะกินจึงจะถูก)  พอมาเจอกับจีนในยุคเฟื่องฟูเข้า  ก็แทรกซึมกลายเป็นคติของคนจีนผู้มีอันจะกินจนล้นเกินได้อย่างไม่น่าเชื่อ  ทุกวันนี้คนจีนที่ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ต่างประเทศมีเป็นจำนวนมาก  ส่วนไม่น้อยซื้อบ้านช่องห้องหอปักหลักอยู่อย่างถาวร  จึงต้องหอบหิ้วสัตว์เลี้ยงไปด้วย   อีกส่วนหนึ่งเป็นพวกเด็กหนุ่มสาวที่ไปเรียนหนังสือต่างประเทศ  ซึ่งจากคำบอกเล่าของ Kiki Chen เจ้าหน้าที่ของบริษัท World Care Pet  ฟังแล้วแทบไม่อยากเชื่ออีกเหมือนกัน  เธอบอกว่านักศึกษาหนุ่มสาวชาวจีนรุ่นใหม่  ชอบทำตัวเป็นคุณหนูอุ้มหมาแมวไปอยู่เป็นเพื่อนที่เมืองนอก  พอเรียนจบก็หิ้วมันกลับมาด้วย

อยากรู้ไหมว่าค่าใช้จ่ายในการพาสัตว์เลี้ยงเหินฟ้าไปต่างแดนแพงแค่ไหน ?  คุณเฉินเจ้าหน้าที่ของ ICVS  ยกให้ดูพอเป็นตัวอย่าง… หมาขนาดธรรมดา ๆ ตัวหนึ่งมีค่าตรวจสุขภาพ  ค่าฉีดวัคซีน  และค่าบริการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางต่าง ๆ รวมกันอยู่ที่ 6,752 หยวน  หรือประมาณ 40,000 บาท  ค่าพาหนะรับส่งแบบ doot-to-door อีกประมาณ 4,200  บาท  ค่าเครื่องบินคิดอัตราคาร์โกคือขนส่งแบบสินค้า  ราคาอาจมีตั้งแต่แพงเท่ากันหรือกระทั่งแพงกว่าค่าตั๋วโดยสารของผู้เป็นเจ้าของ

ตัวเลขโดยคร่าวๆ ก็คือ  หมาหนึ่งตัวเดินทางจากปักกิ่งไปลอนดอนต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไว้ที่ 12,000 – 20,000 หยวน หรือ 60,000 กว่าบาท – 200,000 กว่าบาท  ขึ้นกับขนาดของหมาและสายการบินที่เลือกบิน

เพราะจำนวนนักเดินทางสี่ขาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน  ทางการจีนจึงอยู่ในระหว่างพิจาณาว่าจะยกเลิกกฎข้อบังคับที่ให้สัตว์ทุกตัวต้องถูกกักตัวไว้ที่ด่านอย่างต่ำ 7 วันถึง 30 วัน  หันไปใช้วิธีพิจารณาแต่ละตัวเป็นราย ๆ  เคสไหนดูแล้ว “ความเสี่ยงต่ำ” หลังจากตรวจเอกสารแล้ว  ตรวจสุขภาพโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว อาจปล่อยให้เจ้าของเอาตัวกลับไปได้เลย ซึ่งวิธีนี้นอกจากช่วยลดภาระต้องเลี้ยงดูสัตว์สี่ขาจำนวนมากแล้ว  ยังเชื่อว่าจะได้รอยยิ้มและคำขอบคุณจากเจ้าของกลับคืนมาให้ชื่นใจด้วย..

“เจ้าของบางคนพอรู้ว่าสัตว์เลี้ยงของตนต้องถูกกักตัวไว้หลายวัน  ถึงกับน้ำตาร่วง  ตกเป็นหน้าที่ให้พวกเราต้องรีบเข้าไปปลอบประโลม”

โปรดทราบ… เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้  คนเกลียดหมาเกลียดแมวไม่ควรอ่าน หรือหากจะอ่านก็ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องโกหก

โดย วิริยาภา
จากคอลัมน์ THIS IS CHINA นิตยสาร New Silk Road