เอเชียตะวันออกในปี 2017: จับตามองแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลง

0
379

เอเชียตะวันออกเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยมี GDP รวมกันในปี 2015 ประมาณ 21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังถูกคาดหวังในฐานะ “หัวรถจักร” ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ดังนั้นความเข้าใจต่อพลวัตของภูมิภาคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

รอบปีที่ผ่านมามีประเด็นร้อนที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ข้อพิพาทในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ประเด็นผู้หญิงปลอบประโลม (comfort women) โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการทดลองขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เป็นต้น

สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษามธ.ศูนย์รังสิตได้เชิญ ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “เอเชียตะวันออกในปี2017: The Trump Factor” และอีก 4 ผู้เชี่ยวชาญที่นำเอาประเด็นน่าสนใจของแต่ละภูมิภาคที่กำลังเป็นที่จับตา ไม่ว่าจะเป็นจีน นำเสนอโดย ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและผอ.สถาบันจีน-ไทยแห่งม.รังสิต, เกาหลี โดย รศ. ดร.นภดล ชาติประเสริฐ ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. และอาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มธ., ญี่ปุ่น โดย รศ. ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. และภูมิภาคของเรา “อาเซียน” วิเคราะห์โดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ.

เริ่มมองจากภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก กลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ จะเห็นความน่าสนใจว่าจีนยังคงดำเนินยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันเรื่องหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ด้วยกลไกที่สำคัญคือธนาคาร AIIB รวมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันขงจื่อเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้กว้างขวาง

ด้านญี่ปุ่นภายใต้การนำของชินโซ อาเบะ จะเน้นหนักในเรื่องยกระดับความสามารถด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มงบทางการทหารเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาและส่งออกอาวุธได้และมีสิทธิ์ในการป้องกันร่วม (Collective Self Defense) ซึ่งนั่นหมายถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศพันธมิตรของตนเอง นโยบายอาเบะโนมิกส์ (Abenomics) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามานาน

ส่วนเกาหลีใต้ ปีที่แล้วได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อประธานาธิบดีปาร์ค กึน ฮเยถูกดำเนินการถอดถอนจากข้อกล่าวหาทุจริตในหน้าที่และการใช้อำนาจในทางมิชอบ

มองไกลออกไปนอกภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงภายในของสหรัฐอเมริกามีนัยสำคัญต่อเอเชียตะวันออก การก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของโดนัลด์ ทรัมป์ทำให้เราไม่ควรพลาดที่จะติดตามและวิเคราะห์นโยบายจากผู้ชายคนนี้ ตามที่ทรัมป์ได้ประกาศไว้ตอนหาเสียงว่าเขาจะเน้นกิจการภายในประเทศเป็นสำคัญ (American First) การลดกำลังทหารหากประเทศพันธมิตรไม่ออกค่าใช้จ่ายให้กองกำลังสหรัฐฯที่ประจำการในประเทศตนในสัดส่วนที่น่าพึงพอใจ กระทั่งการถอนตัวจากเวทีเจรจา TTP ซึ่งจะมีผลแน่นอนต่อประเทศที่กำลังฝากความหวังให้ TTP ช่วยฉุดรั้งเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง

ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียน-ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและจำนวนประชากร (แน่นอนว่าไทยก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคนี้) อย่างไรก็ตามอาเซียนยังคงประสบปัญหากับความท้าทายในการรวมเป็นประชาคมเดียวกัน รวมถึงปัญหาภายในที่เกิดขึ้นเป็นระลอก เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ประเด็นเชื้อชาติและศาสนาในอินโดนีเซีย ปัญหาการแข่งขันอำนาจและการทุจริตในมาเลเซียและไทย การปราบปรามด้านยาเสพติดด้วยวิธีรุนแรงในฟิลิปปินส์ ความไม่สมดุลในการพัฒนาของลาวและกัมพูชา ฯ

อิทธิพลของทรัมป์ต่อประเทศต่างๆนั้นน่าสนใจยิ่งนัก ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้อเมริกาและจีนไม่ห้ำหั่นกันเองจนกลายเป็นสงครามการค้าหรือการทหารระหว่างประเทศ จะมีอยู่สี่เรื่องหลัก คือ 1) สองประเทศนี้มีการพึ่งพาอย่างสูงในด้านเศรษฐกิจและยังต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่สำคัญของโลกอย่างเช่นภาวะโลกร้อน ยอดการค้าขายกัน 660,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐแถมจีนยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่มากของอเมริกาอีกด้วย 2)อเมริกามียอดลงทุนสะสมในจีนอยู่ประมาณ 75,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และทำให้การจ้างงานในจีนเพิ่มขึ้น ด้านจีนถึงแม้ยอดการลงทุนในอเมริกาจะถือว่าเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นแต่ตัวเลขก็ไม่น้อย และแน่นอนว่าทำให้ตัวเลขการจ้างงานในประเทศปลายทางเพิ่มขึ้น

3) ช่วงปี2015-2016 นักศึกษาจีนทีไปเรียนที่อเมริกาในระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวะมีจำนวนมากกว่า 300,000 คนนับเป็นนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุด ก่อรายได้ให้กับประเทศกว่า 1,200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมกลุ่มที่เรียนในระดับประถมหรือมัธยมศึกษาที่มีอีกจำนวนมาก และ 4)ความเชื่อมโยงกันด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปอเมริกาและจับจ่ายใช้สอยเยอะมากและมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปีนี้ (2017) ถูกยกให้เป็นปีท่องเที่ยวอเมริกา-จีน

ช่วงระหว่างหาเสียงทรัมป์ทำให้ญี่ปุ่นตกใจกับนโยบายของเขา คำพูดพาดพิงบางอย่างเช่นแนะนำให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ควรพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองเพื่อต่อสู้กับเกาหลีเหนือ หรือเรื่องกำลังทหารที่กดดันให้ญี่ปุ่นเน้นเรื่องการป้องกันประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าจับตาว่าอาเบะ-นายกฯของญี่ปุ่นเป็นผู้นำคนแรกของโลกที่เข้าพบทรัมป์หลังจากที่เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าของสหรัฐอเมริกาคือโอบาม่าให้ความสำคัญกับอาเซียน ในขณะที่อาเซียนคล้ายจะไม่อยู่ในสายตาของทรัมป์ โดยทางผู้เชี่ยวชาญมองว่าการออกจาก TTP เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนักเพราะการอยู่ในโต๊ะเจรจาต่อไปจะทำให้อเมริกาสามารถถ่วงดุลกับจีนได้ดีกว่า แถมยังมีอีกหลายประเทศสำคัญที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วม อย่าง อินเดีย ฟิลิปปินส์ หรือไทย การถอนตัวเนื่องจากกลัวตัวเองจะเสียเปรียบน่าจะนำมาซึ่งการเสียโอกาสอันใหญ่หลวงของอเมริกาเอง

โลกจะยังคงหมุนต่อไป การติดตามความเคลื่อนไหวของผู้นำที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกจะทำให้เราออกแบบแนวทางรับมือกับนโยบาลและตามกระแสได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม การเข้าใจพลวัตของเอเชียตะวันออกจะทำให้เรามองสถานการณ์อย่างเข้าใจในมิติที่หลากหลายและนำไปประยุกต์กับการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ไม่ว่าจะทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่ในองค์กรหรือภาคส่วนใดก็ตาม

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿