ห้องเรียน Passage to Asean (P2A)

0
770

ถ้าพูดถึงประชาคมอาเซียน (ASEAN) ทุกท่านคงคุ้นเคย และรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็คือ องค์กรเพื่อสร้างสันติภาพและเสถียรภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศบรูไน, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, ประเทศกัมพูชา, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศสิงค์โปร์ และ ราชอาณาจักรไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึง ความร่วมมือทางวิชาการ และส่งเสริมการมีหลักสูตรการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงคำว่า Passage to ASEAN หรือเรียกโดยย่อว่า “P2A” คิดว่าหลายท่านอาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยิน วันนี้ทางทีมงานสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ได้มีการพูดคุยและซักถาม ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เกี่ยวกับภาพรวม ความสำคัญ และทิศทางของP2A

P2A คืออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร?
: เพื่อให้เข้าใจโดยง่าย P2A นั้นเป็นเครือข่าย (Networking) ที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 2012 ซึ่งแรกเริ่มเกิดจากการรวมตัวกันของตัวแทนจาก 5 มหาวิทยาลัยในประเทศอาเซียน โดยการชุมนุมครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต และมีการตกลงทำวิสัยทัศน์ร่วมกัน นั้นคือ “One vision, one Identity” and creating “one caring and sharing community” ในทุกวันนี้ P2A นั้นได้พัฒนาไปได้ไกลมาก โดยในปัจจุบันเรามีสมาชิกมากกว่า 60 มหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน โดยในแต่ละมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างมากกับการเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษา อีกทั้งมุ่งเน้นไปที่สนับสนุนการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวของนักศึกษาเอง เพราะเราเชื่อว่าเด็กเหล่านี้จะเป็นผู้ออกแบบอนาคตของชาติ

ช่วยยกตัวอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการผลักดัน P2A?
: โครงการหลักที่แต่ละมหาวิทยาลัยสนันสนุนให้เกิด คือ “ASEAN Journey” หรือ โปรแกรมการเรียนรู้ทางไกล โดยผ่านการเดินทางไปศึกษายังต่างแดนที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยน และเข้าใจถึงวัฒนธรรมอื่นๆ สร้างเครือข่ายต่างๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ และแชร์ประสบการณ์กับเพื่อนนักศึกษาต่างชาติ อีกทั้งพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม เพื่อเอาตัวรอดในสังคมนอกบ้าน แน่นอนว่าการเรียนรู้โดยการเดินทางไปต่างแดนนั้น สิ่งที่ท้าทายมากคือ ค่าใช้จ่าย และเวลาที่เสียไป ดังนั้น เราจึงใช้เครือข่ายพันธมิตรใน P2A เพื่อช่วยเหลือและสนันสนุน หาทางเลือกที่ประหยัดในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่พัก, การให้แนะนำ, ห้องเรียนในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และอื่นๆอีกมากมาย โดยส่วนมากแล้ว ASEAN Journey จะเป็นการเดินทางเพื่อการเรียนรู้ในระยะสั้น (Short-term period) แต่ใช้เวลาให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด

คิดว่าเด็กไทยจำเป็นไหมสำหรับการเดินทางที่จะต้องไปเรียนรู้ในประเทศต่างๆ ในอาเซียน?
: สำหรับนักเรียนและนักศึกษาไทยของเราเองจะเห็นว่า เด็กเรามีความรู้ในเรื่องของสังคม, การเมือง และวัฒนธรรมต่างๆ ในประเทศต่างๆในอาเซียนค่อนข้างที่จะน้อยมากเมื่อเทียบกับนักศึกษาต่างชาติในประเทศอื่นๆ เนื่องจากส่วนใหญ่เราจะให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ในประเทศทางฝั่งตะวันตก และ ประเทศอเมริกามากกว่า ดังนั้นการออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง สัมผัสด้วยตัวเองและเห็นด้วยตาจึงค่อนข้างน่าสนใจกว่าการนั่งอ่านข้อมูลแต่ในตำรา และจากเว็บไซด์ต่างๆ เมื่อเร็วๆนี้ ทางมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดวิชาเลือกใหม่ 2 วิชา ได้แก่ Introduction to P2A และ P2A Journey ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง สถาบัน Gen Ed., OIA, IAS และ วิทยาลัยนานาชาติ (RIC) จุดเด่นของวิชานี้คือ นักศึกษาไทยและนานาชาติ จะเรียนรู้และทำงานร่วมกัน ออกแบบการค้นคว้าด้วยตัวเอง รวมถึงวางแผนการเดินทางเองทั้งหมด โดยที่มหาวิทยาลัยจะให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามกำหนด ในส่วนตัวอาจารย์เองนั้นจะต้องถูกฝึกเทรนด์เพื่อที่จะมาชี้แนะ (Coaching) ดังนั้น คลาส P2A จะเน้นที่การทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย (Activity-based) มากกว่า การนั่งเรียนในห้องเรียน (Lecture-based) นอกจากนี้ การเรียนการสอนรวมถึงการทำรายงานต่างๆที่นำเสนอ จะต้องใช้เป็นภาษาอังกฤษ แต่ในส่วนของนักศึกษาต่างชาติ นั้นจะต้องใช้ภาษาไทยแทน ดังนั้นความยากและความท้าทายอีกประการหนึ่งของอาจารย์ผู้สอน คงจะเป็นการประเมินวัดผล ซึ่งจะใช้หลักในการประเมินจากทักษะ (Skill) และ ความรู้ (Knowledge)

คลาสเรียน P2A อาจจะเป็นโมเดลรูปแบบการศึกษาทางเลือกใหม่ ซึ่งผู้สอนจะให้ผู้เรียนเข้ามามีบทบาทในการออกแบบ และแสวงหาความรู้ โดยใช้ทักษะต่างๆนอกห้องเรียน อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของคลาสเรียนสมัยใหม่จะเป็นไปในทิศทางใด ก็คงต้องมีการเปรียบเทียบกับคลาสเรียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้เกิดผลดีที่สุดในองค์รวมต่อไป

บทสัมภาษณ์ ดร. กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดี ฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และ อาจารย์ประจำ สาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต