แนะกลยุทธ์ SMEs ไทย บุกตลาดแดนมังกร

0
275

ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความร่วมมือในธุรกิจส่งออกและนำเข้าสินค้าที่ดีต่อกันมาโดยตลอด เศรษฐกิจของจีนเองก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพอย่างยิ่งในการสั่งซื้อสินค้าของไทย ดังนั้น สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงได้จัดเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ“ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ศักยภาพและโอกาสเจาะตลาดแดนมังกร” ขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในงานนี้มีกูรูมาให้ความรู้และคำแนะนำจากประสบการณ์จริง เพื่อเสริมสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้นักธุรกิจไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs)ให้มีบทบาทและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในตลาดประเทศจีน

นายชาตรี เวทสรณสุธี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน จากธพว. เปิดเผยว่า สินค้าโอท็อปของไทยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีน จึงเป็นโอกาสที่สำคัญของภาคธุรกิจไทย เอสเอ็มอีไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันและให้เร็ว ต้องรู้ว่าเขาสนใจอะไร ชอบซื้อด้วยช่องทางไหน ซึ่งปัจจุบันผู้ค้าชาวจีนนิยมทำการค้าออนไลน์ นอกจากนี้ ควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น เพิ่มสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ รักษามาตรฐานสินค้าให้ดี และมีเงินทุนหมุนเวียน

ด้านนายธารากร วุฒิสถิรกุล เลขาธิการสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน กล่าวว่าไทยได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์จากยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของจีนแต่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจะต้องตื่นตัว อย่าค้าขายแบบเดิมๆ ควรเพิ่มนวัตกรรมสินค้า โดยมุ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยถนัด อาทิ สินค้าอาหารทะเล อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพและสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าฮาลาล อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหาร โดยให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีด้วย เช่น ตอนนี้ในจีนแทบไม่ชำระด้วยเงินสด แต่เปลี่ยนเป็นการชำระผ่านทางออนไลน์ ส่วนการส่งออกผลไม้สดและอาหารแช่แข็ง ควรคำนึงถึงระยะเวลาการขนส่ง และสินค้าควรได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัยจากหน่วยงานทั้งของไทยและจีน รวมถึงสร้างภาพลักษณ์และหาผู้ร่วมทุนที่เชี่ยวชาญในตลาดจีน

ขณะที่ นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจจีนว่า ถึงแม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ในภาพรวมยังคงเติบโตมากอยู่ ทั้งนี้ ชาวจีนมีกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ประกอบการทั่วโลกต่างประสงค์จะส่งสินค้าเข้าจีนมากที่สุด สำหรับไทยควรจับมือเป็นพันธมิตรกับจีนมากกว่าแข่งขันการค้ากับจีน คนไทยควรรีบเพิ่มศักยภาพของตัวเอง เพื่อสร้างโอกาสในการเจาะตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเข้าใจตลาดที่ต้องการเข้าไปลุยมีแหล่งเงินทุน และที่สำคัญต้องมีสินค้าที่โดนใจชาวจีนโดยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า ทั้งนี้ สินค้าที่มีคุณภาพและราคาไม่สูงเกินไป มักจะเป็นสินค้าขายดี

นายสุจินต์ พิทักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กลุ่มเซรามิก กล่าวเสริมว่า ธุรกิจเซรามิกของไทยมีโอกาสเจาะตลาดจีนได้อีกมากโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เบญจรงค์และเน้นว่าจะเข้าไปทำธุรกิจในจีนต้องศึกษาการตลาดของแต่ละพื้นที่ให้ดี

ทั้งนี้ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการจากธพว. กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การติดปีกธุรกิจเอสเอ็มอีไปต่างแดนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะธุรกิจดังกล่าวมีการจ้างงานเป็นหลัก ซึ่งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่สนับสนุนค้ำยันผู้ประกอบการไทยด้านเงินทุนและความรู้เป็นสำคัญ

รู้แล้วรอดก่อนรุกตลาดจีน

ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังจีนค่อนข้างมีคุณภาพ แต่ที่ส่วนใหญ่ขยายไปตลาดจีนไม่สำเร็จ เนื่องจากประสบกับปัญหามากมาย ยกตัวอย่างเช่นการเข้าไปจัดแสดงสินค้าเกี่ยวกับยาในประเทศจีน กฎหมายจีนมีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการนำเข้ายาไปจัดแสดงและจำหน่ายในงาน ต้องมีผู้จบสายการแพทย์ หรือมีหมอ-เภสัชกร ประจำที่บูธแสดงสินค้าทุกครั้ง อีกปัญหาสำคัญคือเรื่องของการสื่อสาร แม้จะใช้ล่ามคนจีนหรือคนไทยแปลภาษาแล้วก็อาจจะไม่สามารถอธิบายถึงผลิตภัณฑ์เชิงลึกให้ลูกค้าชาวจีนได้ โดยเฉพาะสินค้าเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการใช้แบงก์ปลอม และการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งหากต้องการป้องกันการเลียนแบบสินค้า ก็ควรจดทะเบียนลิขสิทธิ์ตัวผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศไทยและในประเทศจีนด้วยผู้ประกอบการยังต้องติดตามระบบการขนส่งสินค้าภายในประเทศจีนให้ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะมักประสบกับการขนส่งที่ล่าช้า และอีกข้อควรรู้คือ ปัจจุบันคู่ค้าชาวจีนนิยมโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นวีแชท (WeChat) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ระบบนี้เอาไว้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 – 5 เมษายน พ.ศ. 2560