Bangkok Songkran Festival 2017

0
171

เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ลานกิจกรรม สแควร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  โดย หนังสือพิมพ์ M2F การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ   ทรูคอร์ปอเรชั่น บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ โตโยต้า มอเตอร์(ประเทศไทย) กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย  จัดงาน อัศจรรย์สงกรานต์กลางกรุง M2F Presents Bangkok Songkran Festival 2017 @CentralWorld” ร่วมสืบทอดประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ และเล่นน้ำในแบบปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ พร้อมเย็นชุ่มฉ่ำกับบรรยากาศของความสนุกสนานไปกับกิจกรรมความบันเทิงต่างๆ ปาร์ตี้โฟม อุโมงค์สายน้ำ สรงน้ำพระ ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายนนี้  ที่ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่เวลา 12.00 – 21.00 น.จัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์อย่างมีวัฒนธรรม เป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ 100%

โดย นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งกล่าวว่า งาน “อัศจรรย์สงกรานต์กลางกรุง M2F Presents Bangkok Songkran Festival 2017 @CentralWorld” เป็นพื้นที่เล่นน้ำปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อร่วมสืบทอดและส่งเสริมประเพณีงานสงกรานต์ของไทยให้กับประชาชนชาวกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้มีพื้นที่เล่นน้ำอย่างปลอดภัย โดย กทม. เน้นย้ำนโยบาย ป. ปลอดโป๊ ปลอดแป้ง ปลอดแอลกอฮอล์ ปลอดปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และประหยัดน้ำ ตลอดทั้ง 3 วันที่มีการจัดงาน โดยในปีนี้ได้รณรงค์การเล่นน้ำในแบบวิถีไทย ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมการสรงน้ำพระพุทธรูป สร้างสิริมงคลให้กับชีวิต กิจกรรมเกมงานวัด ในบรรยากาศแบบไทย การแต่งชุดไทยเล่นน้ำสงกรานต์ 

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ตระหนักและให้ความสำคัญการลดปัญหาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเทศกาลสงกรานต์ โดยได้ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัย โดยรณรงค์ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 โดยสงกรานต์ ปี 2560 ได้ขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าในถนนตระกูลข้าว 50แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำอื่นๆ ทั้งของภาครัฐ และเอกชน อีกกว่า 100 แห่ง อาทิ จังหวัด เชียงใหม่ อ่างทอง เชียงคาน ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี และภูเก็ต และคาดว่าจะมีการกำหนดZoning พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าอีกไม่น้อยกว่า 2,800 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นผลสำเร็จ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยที่สำคัญ 

“การจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามีต้นแบบแห่งแรกคือ ถ.ข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ที่ควบคุมการขายและห้ามดื่ม สามารถลดปัญหาทะเลาะวิวาท ลดพฤติกรรมลวนลาม จากเดิมมีการทะเลาะวิวาททุกชั่วโมง ลดเหลือเพียง 1-2 เคส หรือที่ ถ.ข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี จากปี 2551 ก่อนการจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า มีเหตุทะเลาะวิวาทถึง 50 ครั้ง ลดลงจนไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทและไม่มีผู้เสียชีวิตหลังจากปี 2553 เป็นต้นมา ส่วนในกรุงเทพฯ ที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ จัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าต่อเนื่องปีที่ 6 หรือที่ ถ.สีลม จากเดิมมีจุดขายเหล้ามากถึง 800 จุด แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่พบการตั้งร้าน หรือจุดขายเหล้าริมถนน ซึ่งตัวอย่างพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าเหล่านี้ ได้กลายเป็นกระแสไปทั่วประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่นที่จะให้ลูกหลานเข้ามาเล่นน้ำ กลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างจุดขายทางการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย สวนทางกับความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ถ้าไม่มีแอลกอฮอล์ ก็จะไม่สนุกและคนมาเที่ยวลดลงได้” 

ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ประกาศ  “7 มาตรการ สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” ได้แก่ 1.ประกาศว่าเป็นการจัดงานปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ร้านค้า ปฏิบัติตามกฎหมาย 3.ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ 4.ฝากเหล้าไว้กับตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าพื้นที่เล่นน้ำ 5.แลกหรือแจกเครื่องดื่มทดแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้ามาในพื้นที่ 6.เฝ้าระวังการกระทำความผิดในพื้นที่ 7.สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ปัญหา

นายณัฐ ครุฑพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์กิจกรรม กองการกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท. รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเทศกาลงานสงกรานต์ ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามในการเล่นน้ำอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งในปี 2560 ททท. ได้จัดงานกิจกรรมสงกรานต์ ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และ 13 พื้นที่ทั่วประเทศ ให้เป็นจุดเล่นน้ำที่สนุกสนาน ปลอดภัย และปลอดจากแอลกอฮอล์ 100 % ตลอดทั้ง วันเต็ม และส่งเสริมให้คนไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีพื้นที่ในการร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ผสมผสานขนบประเพณีที่งดงามและกิจกรรมที่สนุกสนาน เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการกระตุ้นการใช้จ่ายและขยายฐานตลาดกลุ่มระดับกลาง-บน มุ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ตอบรับกระแสการท่องเที่ยว Thailand Festival Experience ในพื้นที่ที่คงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ จัดกิจกรรมเชิงวิถีมีส่วนร่วมของชุมชน