หนุนแบรนด์”ฮาลาล”สร้างธุรกิจใหม่รุกตลาดทั่วโลก

0
196

ศุภณัฐ’ยกOICเชื่อมั่นศักยภาพมุสลิมไทย
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) บรรยายพิเศษในงาน “รวมพลนักธุรกิจฮาลาลชายแดนใต้ 4.0 ” มี ดร.บรรจง ไวทยเมธา รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนการผลิตและธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.พร้อมนักธุรกิจชายแดนใต้เข้าร่วมที่ห้องน้ำพราว1 โรงแรมซีเอส ปัตตานี จ.ปัตตานี

ดร.บรรจง ไวทยเมธา รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับฮาลาลมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการใช้นวัตกรรม รวมถึงนโยบายการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ขับเคลื่อนนวัตกรรมฮาลาลที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาในพื้นที่ด้วย

โดยการจัดงานในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “Halal Science & Innovation @Pattani ยกระดับชายแดนใต้ด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมฮาลาล” ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2560 ประกอบด้วย งานรวมพลนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลจูเนียร์กับการประกวดโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล เป็นการนำเสนอธุรกิจฮาลาล Halal Digital Marketing Halal Biz Talk ในประเด็นทางด้าน Halal Startup, Halal smart farmer, Halal fashion&Design, Halal Franchise ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงาน 232 คน จากหน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น SMEs Start up ภาคการศึกษา หน่วยงานราชการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป เพื่อเสริมสร้างความรู้และขับเคลื่อนธุรกิจของผู้ประกอบการสู่ธุรกิจฮาลาลในยุค Digital 4.0

“การพัฒนานวัตกรรมฮาลาล ให้กับ Halal Smart Farmer และ Halal Fashion and Design รวมถึง Halal Franchise จะนำมาซึ่งโอกาสธุรกิจด้านฮาลาล รวมถึงจะช่วยยกระดับชายแดนใต้ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมฮาลาลด้วย” ดร.บรรจง กล่าว

นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า งานรวมพลนักธุรกิจฮาลาลชายแดนใต้ 4.0 ครั้งนี้ มีความสำคัญมาก และด้วยจำนวนประชากรของประเทศไทย 64 ล้านคน เป็นพี่น้องมุสลิมมากถึง 20 ล้านคน โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพมาก เมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศสมาชิกโอไอซี(OIC)

” ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสให้การต้อนรับคณะโอไอซีเขามองว่า พี่น้องมุสลิมบ้านเรามีศักยภาพมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เป็นประเทศสมาชิกโอไอซี” นายศุภณัฐ กล่าว และว่า

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะช่วยพัฒนาเมืองต้นแบบฯได้ โดยเฉพาะการส่งเสริมและการจัดอบรมให้แก่ นักธุรกิจฮาลาลชายแดนใต้ให้มีสินค้ามีศักยภาพ และออกสู่ตลาดต่อไป

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน “เครื่องหมายฮาลาลประเทศไทย” ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีให้กับนักธุรกิจใหม่จะต้องรู้จักใช้ประโยชน์ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการพัฒนาสินค้าฮาลาลของตนให้มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากนานาชาติเพิ่มด้วย

“ผมอยากให้สินค้าของเราออกไปเป็นโมเดล เป็นแบรนด์ที่ดีและเป็นธุรกิจที่ก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้ ผมอยากให้พวกเราเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความก้าวหน้าในพื้นที่ต่อไป” นายศุภณัฐ กล่าว