คัดกรองเด็กเล็กทุกเช้า เน้นช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝนนี้ ระวังโรคมือ เท้า ปาก

0
2865
กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือสถานศึกษาคัดกรองเด็กเล็กทุกเช้า เน้นช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝนนี้ ระวังโรคมือ เท้า ปาก หลังข้อมูลปี 2559 กว่าร้อยละ 60 เด็กป่วยช่วง พ.ค.-ส.ค.
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือสถานศึกษาเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็ก โดยขอให้คัดกรองเด็กเล็กทุกเช้า ทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น เน้นในช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝนนี้ หลังข้อมูลปี 2559 พบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
วันนี้ (5 พฤษภาคม 2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนทั่วประเทศ ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยโรคที่มักเกิดกับเด็กในช่วงเปิดเทอม คือ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบได้มากช่วงหน้าฝน และมักเกิดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก  กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ได้ตระหนักและระมัดระวังโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ
สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 เมษายน 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 17,117 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั้งหมด 79,910 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากถึง 70,874 ราย คิดเป็นร้อยละ 89 ของผู้ป่วยทั้งหมด  นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงที่พบผู้ป่วยมากที่สุดของปีที่แล้ว คือ ช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน (เดือน พ.ค.-ส.ค.) เพียง 4 เดือนมีผู้ป่วยมากถึง 50,156 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ของผู้ป่วยทั้งหมด
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ  ไอ จาม รดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เองใน 7-10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
สำหรับการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝนนี้  หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย w ไม่พาเด็กไปในที่ชุมชนแออัดเช่นห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น รวมถึงให้เด็กล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค นอกจากนี้ ต้องหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น ภายในศูนย์ฯ และโรงเรียนเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกครั้งที่พบว่ามีเด็กป่วยโรคนี้ ที่สำคัญหากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

โรคมือ เท้า ปาก

  • ข้อมูลทั่วไป โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enterovirus หลายชนิด ซึ่งพบเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น และมีหลากหลายสายพันธุ์สำหรับสายพันธุ์ที่ก่อโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อคอกแซกกี (Coxsackie virus group A, B) เอคโคไวรัส และเอนเทอโรไวรัส Enterovirus 71 หรือ EV71) สามารถพบได้ทุกวัยแต่ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
          การติดต่อ เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง โดยเชื้อจะติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่น ที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ทั้งนี้ เชื้ออาจอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยได้เป็นเดือน (พบมากในระยะสัปดาห์แรก) ทำให้ผู้ป่วยยังคงสามารถแพร่กระจายเชื้อได้
          ระยะฟักตัว : โดยทั่วไป มักเริ่มมีอาการป่วยภายใน 3 – 5 วันหลังได้รับเชื้อ
          อาการ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น โดยจะปรากฏอาการดังกล่าวอยู่ 3-5 วัน แล้วหายได้เอง หรือมีอาการไข้ ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อน ลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหล ในบางรายอาจไม่พบตุ่มพองแต่อย่างใด แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ
นอกจากนี้กรณีการติดเชื้อจาก Enterovirus 71 อาจมีอาการรุนแรงมากจนเสียชีวิตได้ เนื่องจากทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ เนื่องจากเชื้อชนิดนี้สามารถทำให้เกิดอาการป่วยและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสใช้ในการรักษาเป็นการเฉพาะ การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ให้ยาลดไข้ การเช็ดตัวผู้ป่วยเป็นระยะๆ  ทายาชาหรือยาลดการอักเสบบริเวณแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ให้ดื่มน้ำ น้ำผลไม้เย็นๆ ไอศกรีม เพื่อลดอาการเจ็บแสบให้รับประทานอาหารอ่อนๆ นอนพักผ่อนมากๆ ในกรณีผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้ ไข้สูง ซึมมีอาการเกร็ง ชัก กระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยหอบ กระสับกระส่าย ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที เพราะจำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

          กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคมือ เท้า ปาก คือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

  1. แนวทางและนโยบายการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ของกรมควบคุมโรค
  • หลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้าตลาด โรงละคร โรงภาพยนตร์ หรือโรงพยาบาล เพราะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และระมัดระวังการไอจามรดกัน
  • ใช้ช้อนกลางและหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำหรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร และภายหลังการขับถ่ายและหลังทำกิจกรรมการละเล่นต่างๆ ของเด็ก
  • หมั่นดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ ของใช้ ของเล่นต่างๆ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
  • หมั่นดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลและสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ (รับประทานอาหารที่สด สะอาด สุกใหม่ๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ อาบน้ำชำระร่างกาย ทุกวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ)

การควบคุมโรค

  • พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก ตรวจดูสุขภาพร่างกายเด็กเบื้องต้นเป็นประจำทุกวัน
  • เมื่อเด็กป่วยให้หยุดพักรักษาอยู่บ้าน ไม่ควรไปคลุกคลีหรือเล่นกับบุคคลปกติทั่วไปจนกว่าจะหายป่วย
  • แยกเด็กผู้ป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ให้คลุกคลีหรือเล่นร่วมกัน
  • แยกอุปกรณ์ ของใช้ ของเล่นต่างๆ ที่เด็กป่วยสัมผัสและใช้เป็นการเฉพาะ
  • แยกสิ่งของปนเปื้อนเชื้อที่สัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระของเด็กป่วยอย่างเข้มงวด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่นๆ
  • การทำลายเชื้อ ต้องทำลายเชื้อในน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ของผู้ป่วยอย่างรวดเร็วปลอดภัย ล้างทำความสะอาด หรือทำลายสิ่งของปนเปื้อน หลังสัมผัสสิ่งของปนเปื้อนหรือสิ่งขับถ่าย
  • การดูแลเด็กป่วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก ต้องล้างมือก่อนและหลังการสัมผัสตัวเด็ก อุปกรณ์ ของใช้ ของเล่น และสิ่งขับถ่ายต่างๆ ทุกครั้ง
  • แจ้งหรือรายงานเด็กป่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่รับทราบทุกครั้ง เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้มีการระบาดในวงกว้าง

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่จะดำเนินการสอบสวนผู้สัมผัส ติดตามค้นหาผู้ป่วย และค้นหาแหล่งโรค เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานเลี้ยงเด็ก
สำหรับประชาชนทั่วไป (พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก)

  • ควรตรวจดูสุขภาพร่างกายเด็กเบื้องต้นเป็นประจำทุกวัน
  • ควรรักษาความสะอาดโดยล้างมือทุกครั้ง ก่อนการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ของใช้ร่วมกัน เช่น การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ และแปรงสีฟันร่วมกัน เป็นต้น
  • เมื่อเด็กป่วยให้หยุดพักรักษาอยู่บ้าน ไม่ควรไปคลุกคลีหรือเล่นกับบุคคลปกติทั่วไปจนกว่าจะหายป่วย (ประมาณ 5-7 วัน)
  • สังเกตอาการผิดปกติของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการสงสัยโรคมือ เท้า ปาก หรือมีไข้สูงอย่างน้อย 2 วัน ร่วมกับอาการอาเจียน หอบเหนื่อย ซึม ชัก กล้ามเนื้อกระตุก  หรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์ แม้จะไม่มีผื่นขึ้นก็ตาม

คำแนะนำสำหรับศูนย์เด็กเล็ก และสถานศึกษา

  • แจ้งการระบาดไปที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนการระบาด ให้ความรู้ และคำแนะนำ
  • เผยแพร่คำแนะนำ  เรื่องโรคมือ เท้า ปาก  แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน  รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยที่ช่วยป้องกันโรคติดต่อ  โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม และควรแยกของใช้ไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ฯลฯ
  • เฝ้าระวังฯ โดยตรวจเด็กทุกคน หากพบเด็กที่มีอาการโรคมือ  เท้า  ปาก  ต้องรีบแยกออกและให้หยุดเรียน  7 -10  วัน  หรือจนกว่าจะหายป่วย  เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ
  • ควรรีบพาเด็กป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว  และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
  • พิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (กรณีมีเด็กป่วยหลายห้อง หรือหลายชั้นเรียน) ประมาณ 5 – 7 วัน
  • หากพบว่ามีการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก หรือ มีผู้ป่วยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก พิจารณาให้ปิดชั้นเรียนที่มีเด็กป่วยมากกว่า 2 ราย หากมีการป่วยกระจายในหลายชั้นเรียนแนะนำให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 5 วัน พร้อมทำความสะอาด อุปกรณ์รับประทานอาหาร ของเล่นเด็ก ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ และให้มั่นใจว่าน้ำมีระดับคลอรีนที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน
  • ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม สระว่ายน้ำ ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น
  • ทำความสะอาดของเล่นเครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
  • หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดประตู  หน้าต่าง  ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง