สานพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนา

0
603

“สานพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายของ Thailand 4.0”

โดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

ประเทศไทยแต่เดิมจนถึงปัจจุบัน ยังติดอยู่กับ “ทำเยอะ ได้น้อย” จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไรให้กลายเป็น “ทำน้อย ได้เยอะ” ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการพัฒนาอย่างน้อยใน 3 ประเด็นคือ

1) เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม

2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วย
เทคโนโลยีและนวัตกรรม

3. เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

การปฏิรูปประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1. เปลี่ยนจากการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming)

2. เปลี่ยนจาก Traditional SMEs ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพ

3. เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคบริการที่มีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services ให้มากขึ้น

4. เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานมีที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง

ดังนั้น “ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการพัฒนาเครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” (New Engines of Growth) ที่จะสร้างความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมให้กับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วยการแปลง “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” ของประเทศไทยที่มีอยู่ 2 ด้านคือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” เป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน” โดยการเติมเต็มด้วยปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น “5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”อันประกอบด้วย

1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food,Agriculture & Bio-Tech)

2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med)

3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics)

4. กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT Artificial Intelligence & EmbeddedTechnology)

5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)

ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะเป็นฐานราก หรือ Platform ในการสร้าง “New Startups” ได้มากมาก อาทิ

กลุ่มที่ 1 Agritech, Foodtech;

กลุ่มที่ 2 Healthtech, Meditech, Spa;

กลุ่มที่ 3 Robotech;

กลุ่มที่ 4 Fintech, IoT, Edtech, E-Marketplace, E-Commerce;

กลุ่มที่ 5 Designtech, Lifestyle Business, Traveltech, Service Enhancing

บัดนี้ 5 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายใน Thailand 4.0 ได้ถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านมาตรการที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 9 พ.ค ที่ผ่านมา โดยครม.ได้อนุมัติกรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กรวมตัวกันเพื่อลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้น

ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักจัดตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม เพื่อพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่เอกชนหรือกลุ่มเอกชนทำวิจัยอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันโดยผู้ประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกันตามโครงการสานพลังประชารัฐ และได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการฯ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุด3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชี สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2560-31 ธ.ค. 2562

แนวทางนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาวิจัย นวัตกรรมที่ตรงกับผู้ใช้ โดยคาดว่า จะสามารถส่งเสริมให้เงินลงทุนวิจัย เพิ่มขึ้นเป็น 1% ของจีดีพี หรือ 1.3 แสนล้านบาท/ปี ได้ใน 5 ปีข้างหน้า

….เส้นทางไปสู่ Innovation- Driven Economy กำลังค่อยๆถูกถักทอขึ้นด้วยกลไกประชารัฐ เพื่อเดินหน้าไปสู่ Thailand 4.0