กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมสันติสุข

0
396

วันนี้ 1 มิถุนายน 2560 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมงานการนำเสนอผลงานวิชาการสู่เวทีสาธารณะ สร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมสันติสุข ครั้งที่ 2 ในประเด็น “สถานการณ์สื่อกับสังคมไทย : ถึงเวลาฉลาดใช้สื่อ” ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งการเรียนรู้ TK Park เซ็นทรัลเวิร์ด กทม.

พร้อมบอกเล่าถึงความเป็นมาของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมจัดของงานนี้ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมสนับสนุนให่เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้นในสังคมไทย พร้อมทั้งร่วมสร้างสังคมฉลาดรู้สื่อขึ้นในสังคมไทย

ทั้งนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอรายงานการศึกษาของผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 7 (4 ส 7) สถาบันพระปกเกล้า โดยมีวิทยากรชื่อดัง ที่เป็นทั้งนักวิชาการ อาจารย์ ผู้ผลิต และคนในแวดวงสื่อสารมวลชนทีู่้มีประสบการณ์มาเป็นเวลานาน ร่วมเสนอความเห็น ประเด็นบทบาทของ Social Media ในสังคมไทย

ทั้งนี้สำนักข่าวอิศราได้รายงานข่าวถึงการสัมมนานี้ในหลายประเด็นที่น่าสนใจอาทิ

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการอิสระ

สื่อถูกเปรียบเป็นสุนัขเฝ้าบ้านหรือเป็นเหยี่ยว บินสูง มองไกล แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักทำตัวเป็นแร้ง เพราะเรตติ้งขายได้ดี เพื่อให้ได้ข่าวอย่างกรณี ปอ ทฤษฎี เป็นต้น และด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จากที่เคยเห่า สุนัขบางตัวก็ไม่ทำหน้าที่เเล้ว เป็นหมาบอด ไม่เห่า ด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ เลยเห่าไม่ได้หรือบางครั้งเห่าแต่ไม่กัด  บางครั้งด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจก็ทำทีว่าตรวจสอบ เขียนคอลัมภ์ ตรวจสอบ แต่แค่ทำทีเพราะอีกทางรับเงินจากทุน

สื่อมวลชนยังถูกเปรียบเหมือนแมลงวัน แต่ตอนนี้แมลงวันไม่ตอมกันเอง เสือไม่กินเนื้อเสือ กลายเป็นเรื่องที่สื่อไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ กลายเป็นไม่มีการพัฒนา ขณะที่สื่อจำนวนมากทำตัวเป็นลิงแก้แห เช่น เรื่องสถาการณ์ภาคใต้ยิ่งรายงานข่าว สถานการณ์ยิ่งแรง เพราะสื่อมวลชนเอาตัวเองไปอยู่ในความขัดแย้ง ไม่ได้ทำกระจกที่ตรงไปตรงมา เช่นมักเขียนประโยคที่สงสาร เพื่อจะได้มีงบลงมาในพื้นที่

นอกจากนี้เรายังเปรียบสื่อปัจจุบันเหมือนนกน้อยในกรงทอง จากเดิมความเป็นนกพิราบของสื่อ มีเสรีภาพ วันนี้สื่อมวลชนอยู่ใต้มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท องค์กรสื่อในยุคเก่า เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ วาทกรรมสื่อโดนลิดรอน คือเราสร้างกรงทองมาเองขณะที่มีสัตว์ต่างถิ่นนั่นคือ รูปแบบสื่อ (Platform Media )  จากต่างประเทศเราแพ้เม็ดเงินจากต่างประเทศ นิวมีเดีย(New Media) ทำให้มาตราฐานการเสนอเท่ากันหมด สื่อในประเทศล้มหายหมด คือเราเอารูปแบบของต่างประเทศมา แต่ไม่ได้พัฒนาบุคลากรวิชาชีพในประเทศ

สื่อเก่าเสี่ยงสูญพันธ์ุมากขึ้น คาดการณ์ว่า หนังสือพิมพ์กำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ภายในปี 2037ต้องย้ายแฟลตฟอร์ม ถ้าไม่ปรับตัวก็จะสูญพันธ์ุไป  เช่น การถ่ายทอดสดทางเฟสบุ๊ค ทำลายองค์กรขนาดเก่าที่ต้องอาศัยคนมาก กลายเป็นเล็กลง “small is new big” คือเล็กแต่ใหญ่  โลกกำลังจัดระเบียบใหม่ อาชีพสื่อมวลชน วิชาชีพนี้กำลังถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ด้วยทุน ทุนไม่มีสัญชาติ ลุกลามทั่วประเทศ กระแสในอนาคต การเป็นองค์กรสื่อได้ด้วยตัวเองจะมากขึ้น  และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สื่อไม่จำเป็นสุนัขอย่างเดียว แต่เป็นหมาป่าพเนจร ทำงานคนเดียวในพื้นที่ตัวเองประเด็นที่สนใจ การที่มีศักดิ์และสิทธิ์ของฐานันดรที่กำลังถูกท้าทายโดยฐานันดรที่5 ที่มีกล้องแค่ตัวเดียว

นายพิภพ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

ในฐานะคนสื่อมาสิบกว่าปี เราทำข่าวเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ส่วนกรงอยู่กับเจ้าของสื่อ  ในฐานะวิชาชีพสื่อเราไม่สนใจแค่เพียงความนิยม จะเป็นสุนัขที่กัดเร็วไม่ได้ เราไม่อยากกัดผิดคน ให้โอกาสว่าคนนี้ใช่หรือเปล่า การเป็นสุนัขมืออาชีพเราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม จึงอยากบอกคนสื่อว่า “อย่าเสพติดยอดแชร์”  อยากให้เสพติดยอดเปลี่ยนแปลงมากกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ว่า คือ คนที่เสพเนื้อหาของเราเเล้วเขาสามารถนำไปเปลี่ยนแปลงต่อยอดได้

เราอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน เราปิดตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปสร้างสรรค์ เป็นผู้สร้าง (maker) ซึ่งความหมายคือ เราฉลาดพอในฐานะประชากรของประเทศชาติ ต้องสร้างสื่อที่ฉลาดและสร้างผู้ใช้ที่เท่าทัน   

เราคือสื่อ ทุกคนช่วยกันสร้างคอนเทนต์  ฉลาดอย่างไร ก็คือ ต้องกำกับตัวเองเป็น คัดกรองเป็น เข้าไปมีส่วนร่วมเป็น ในฐานะผู้สร้างเนื้อหา เราอยากให้คนของอนาคตมีความสร้างสรรค์ เป็นคนที่เถียงเป็น เป็นนักเอ๊ะ คือสงสัยว่าจริงหรือเปล่า ให้เกิดบรรยากาศถกเถียง เราไม่ต้องการคนว่าง่าย นับแค่จำนวนกดไลท์ นับแชร์ กลไกที่ทำให้คนในประเทศมีสามอย่างนี้คือ หลักวิชาวารสารศาตร์ ซึ่งอาชีพสื่อมวลชนมีลักษณะเด่นคือเป็นอาชีพเปิด ดังนั้นในการเรียนการสอนจำเป็นต้องสร้างความหมาย สร้างความคิด  เมื่อนักเรียน ได้เรียนรู้และสามารถเข้าใจ อธิบายโลกของตนเองได้ เขาจะกลายเป็นอนาคต

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) 

วันนี้นักข่าวโทรทัศน์เวลาลงพื้นที่ต้องส่งออนไลน์ก่อน ต้องทวีตข้อความ โดนบอกว่า เราต้องเร็ว กำลังทำลายความเข้าใจของสังคม เราเลยต้องมานั่งคุยกันว่า ขอเนื้อหามาก่อนได้ไหม  ขณะเดียวกันต้องคิดว่า เรากำลังส่งเรื่องอะไรออกไป เรื่องนั้นมีประโยชน์ สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร  สุดยอดของคนทำสื่อออนไลน์ คือการแยกให้ออกไประหว่างเสียงบ่นทั่วไป(Noise) กับเสียงหลัก (Voice) คือ เสียงความคิดเห็น เสียงประชาชน

วันนี้ถ้าดูสังคมไทยเราเต็มไปด้วยอย่างแรกมากกว่า ถึงแม้ว่าบริบทการรับข่าวสารจะเปลี่ยนไปมาก แต่จริงๆ เเล้วสูตรการรู้เท่าทันสื่อยังไม่เปลี่ยน

ถอดบทสนทนา เวทีสาธารณะการนำเสนอผลงานวิชาการของนักศึกษา 4 ส 7
ณ วันที่ 1 มิ.ย.2560 ณ TK Park ประเด็นบทบาทของ Social Media ในสังคมปัจจุบัน

ผู้ดำเนินรายการ คุณวิทเยนท์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์ บลูสกาย แชนแนล

ผู้เข้าร่วมการเสวนา
1) คุณปรเมศวร์ มินศิริ ผู้กำกับดูแลเวปไซต์ กระปุกดอทคอม
2) คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการอิสระ
3) ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4) คุณพิภพ พานิชภักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
5) รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนสื่อสร้างสรรค์

จัดทำโดย อ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์
1 มิ.ย.2560