เผยการมีส่วนร่วมในเฟซบุ๊กของทีวีดิจิทัลไทย ต้องระวังเพจคู่แข่งนอกกระแสมาแรง

0
387

ศูนย์ดิจิทัลศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยอัตราการมีส่วนร่วมในเฟซบุ๊กของทีวีดิจิทัลไทย วันนี้ (13-6-2560) ศูนย์ดิจิทัลศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ทำการศึกษาถึงอัตราการมีส่วนร่วมในเฟซบุ๊กของช่องทีวีดิจิทัลไทย เพื่อเปรียบเทียบกับการวัดเรตติ้งผู้ชมปรกติของ บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด โดยพบว่า มีช่องทีวีดิจิทัลหลายช่องมีความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วมในเฟซบุ๊กของช่องทีวีได้ดี คือ ช่อง3, Amarin TV, ช่อง8, PPTVHD36, Workpoint TV, ไทยรัฐ ทีวี เป็นต้น

อาจารย์ธวัชชัย สุขสีดา ประธานศูนย์ดิจิทัลศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า “พฤติกรรมการเปิดรับสื่อและไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป มีการดูโทรทัศน์น้อยลง โดยผู้ชมยุคใหม่จะเลือกดูเนื้อหาตามที่เห็นจากในสื่อเฟซบุ๊กของตัวเองมากขึ้น ทำให้ช่องทีวีดิจิทัลจำเป็นต้องนำเนื้อหาต่างๆ เอาไปใช้สื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมในเฟซบุ๊กมากขึ้น เพื่อเพิ่มฐานผู้มีส่วนร่วมแข่งกันจึงจะสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงขึ้น ทั้งนี้การศึกษาการมีส่วนร่วมบนแฟนเพจเฟซบุ๊กของช่องทีวีต่างๆนั้นใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า LikeAlyzer ซึ่งหากมีการศึกษาในเชิงลึกลงไป จะสามารถวัดได้แม่นยำละเอียดมากขึ้น เช่น สามารถดูขีดความสามารถในการบริหารแฟนเพจเฟซบุ๊กของช่องทีวีต่างๆ ตามช่วงเวลาต่างๆ โดยต้องตรวจสอบการจำนวนเม็ดเงินโฆษณาที่ใช้เพื่อเพิ่มสมาชิกใหม่เพื่อเปรียบเทียบไปด้วยกัน”

ทางศูนย์ดิจิทัลศึกษามีข้อเสนอแนะไปยังผู้บริหารช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ ด้วยว่า เนื้อหาดีๆในช่องทีวีต่างๆควรจะมีการตัดเป็นคลิปสั้น สลับกับการย่อยเป็นอินโฟกราฟิกส์ เพื่อนำเสนอผ่านสื่อแฟนเพจเฟซบุ๊กของช่องอย่างเป็นระบบ ควรจัดสรรงบประมาณและกำลังคนมาดูแลด้านนี้อย่างใกล้ชิด เพราะถ้าช่องทีวีดิจิทัลไม่ให้ความสำคัญกับสื่อเฟซบุ๊ก ในอนาคตจะมีคู่แข่งที่ทำเน้นเฉพาะสื่อเฟซบุ๊ก และแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างรวดเร็วอย่างกรณีเพจ “อีจัน” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นช่องข่าวอาชญากรรมที่สามารถสะสมผู้รับชมได้อย่างรวดเร็วถึงเกือบ 3 ล้านคนโดยใช้เวลาไม่นาน โดยมีการ Live สด เทียบเท่ารายการทีวี และมีอัตราการมีส่วนร่วมในเฟซบุ๊กสูงมาก

สอบถามเพิ่มเติม

อาจารย์ธวัชชัย สุขสีดา ประธานศูนย์ดิจิทัลศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
โทร.085-826-9302 หรือ 02-954-7300 ต่อ 300 อีเมล [email protected]