เปิดเวทีการค้า B2B โชว์ศักยภาพการท่องเที่ยวไทยและลุ่มน้ำโขง ในงาน TTM+ ปีที่ 16

0
240

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Travel Mart Plus (TTM+) 2017 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 14-16 มิถุนายน 2560

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการขายแหล่งท่องเที่ยวและบริการทางการท่องเที่ยวของไทยในตลาดต่างประเทศ  เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวจากต่างประเทศได้รับข้อมูลสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีโอกาสสำรวจแหล่งท่องเที่ยว ศึกษากิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายของไทย  สนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นเวทีหลักสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโดยเฉพาะในแบบ Business to Business หรือ B2B ได้เจรจาทางธุรกิจโดยอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันจากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเข้าร่วมนำเสนอสินค้าบริการ ภายใต้ธีม “Delivering Unique Experiences” ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดงานในปีนี้ โดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

งาน Thailand Travel Mart Plus Amazing Gateway to the Greater Mekong Subregion หรือ TTM+เป็นงานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวลักษณะ Business to Business (B2B) ที่จัดขึ้นประมาณต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี เริ่มจัดครั้งแรกตั้งแต่ ปี พ.. 2544 โดยความร่วมมือระหว่าง ททท.  สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TCT)  สมาคมโรงแรมไทย (THA)  สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)  สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติไทย (TICA)  สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และธุรกิจท่องเที่ยวภาคเอกชน

งาน TTM+ ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทย และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท  บริษัทนำเที่ยวและตัวแทนจำหน่ายด้านการท่องเที่ยว สมาคมด้านการท่องเที่ยว สวนสนุก สนามกอล์ฟ และธุรกิจบันเทิง ฯลฯ  ให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั่วโลกได้ซื้อขาย โดยเป็นการจัดงานในรูปแบบของการนำเสนอสินค้าและบริการ

ทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่และสินค้าบริการใหม่ ๆ รับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นด้านธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยว่าเป็นจุดเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และเวียดนาม

ในปีนี้  มีจำนวนการตอบรับของผู้ขายในประเทศ และผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน ในแถบลุ่มน้ำโขง รวมทั้งสิ้น 429 บูธ จาก 362 หน่วยงาน แบ่งเป็นผู้ขายที่เคยร่วมงานเป็นครั้งแรก 106 ราย  และเคยร่วมงานแล้ว 256 ราย  ในจำนวนนี้เป็นประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 13 หน่วยงาน  ส่วนผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้าร่วมงานจำนวน 361 ราย (56 ประเทศและเป็นผู้ซื้อรายใหม่จำนวนมาก  อาทิ บัลแกเรีย โคโซโว  โมรอคโค  โปแลนด์  สโลวาเกีย  และศรีลังกา ขณะที่ผู้ซื้อที่เป็น 5 อันดับแรก จากตลาดหลักเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ได้แก่ จีน สหราชอาณาจักร อินเดีย ออสเตรเลีย และอิตาลี

กิจกรรมภายในงาน อาทิ การเจรจาธุรกิจที่มีนัดหมายล่วงหน้า (pre-appointment) ประมาณ 14,000 นัดหมาย ระหว่างผู้ขาย (Seller) ที่เป็นผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากกลุ่มประเทศ GMS (Greater Mekong Subregion) กับผู้ซื้อ (Buyer) ที่เป็นบริษัทนำเที่ยวจากทั่วโลก  การจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้ด้านการท่องเที่ยว (Tourism Seminar & Workshop) ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ที่จัดเป็นครั้งแรกภายในงาน TTM+ เพื่อเป็นการส่งต่อและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวไปสู่บุคคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแขนงต่าง ๆ ทั้งผู้ประกอบการที่กำลังประกอบกิจกรรมด้านท่องเที่ยว  และกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภาคเหนือที่มีการเรียนการสอนด้านการท่องเที่ยว  การจัดแสดงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว (Local Tourism product showcase) เป็นการสนองนโยบายประชารัฐของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนที่ให้การท่องเที่ยวเป็นช่องทางเปิดโอกาสด้านการทำธุรกิจไปสู่ภาคธุรกิจชุมชน โดยการคัดเลือกสินค้าและบริการที่เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคเหนือ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้า OTOP Premium นำเสนอกลิ่นอายล้านนา และสินค้านวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) มาจัดแสดงและนำเสนอขายแบบ B2B แก่ผู้เข้าร่วมงานที่ประกอบธุรกิจด้านท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม/รีสอร์ท บริษัทนำเที่ยว สถานประกอบการ Wellness & Spa โดยแบ่งพื้นที่เสนอขายสินค้าจำนวน 7 โซน ซึ่งนำจุดขายของศิลปวัฒนธรรมล้านนามานำเสนอ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ รวมถึงของตกแต่งบ้านและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น (OTOP) ที่มีศักยภาพ  รวมถึงการจัดรายการนำเที่ยว Pre-Post tour ให้กับ Buyer และ สื่อมวลชนจากต่างประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าทางการท่องเที่ยวในโครงการใหม่ ๆ ที่สนใจ อาทิ สินค้าท่องเที่ยวในโครงการ The LINK  สินค้าทางการท่องเที่ยวในโครงการ 12 Hidden Gems  เป็นต้น

ททท. คาดว่า การจัดงานครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยได้มีการเจรจาและนำเสนอขายสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นการเพิ่มประสบการณ์และเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจในระดับสากลให้แก่ภาคเอกชนไทย  ผู้ประกอบการนำเที่ยวต่างประเทศได้มีโอกาสสำรวจ ศึกษา และรับข้อมูลสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงกิจกรรมที่หลากหลายของไทยเพื่อนำไปบรรจุในโปรแกรมเสนอขาย และยังช่วยประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและความหลากหลาย ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ที่มา : unseenthinthai