“รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ต้องเกิด” ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่า รฟท.

0
1101

หลังจากรัฐบาลประกาศใช้อำนาจพิเศษ ม.44 เร่งให้เกิดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ผลที่ตามมาก็คือภาคส่วนต่างๆ มีทั้งฝั่งที่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จนเกิดวงเสวนาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ มากมาย มาฟังอีกหนึ่งความคิดเห็นของอดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) “คุณประภัสร์ จงสงวน” ในงานเสวนารถไฟความเร็วสูงไทยจีน : ประโยชน์ร่วม ที่ต้องเร่งผลักดันจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ห้องสัจจา ชั้น 1 อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คุณประภัสร์ เปิดเผยว่า วันนี้รถไฟความเร็วสูงมีความจำเป็นในการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าหากจะสร้างแค่ภายในประเทศไทยก็ไม่เเห็นด้วย เพราะไม่คุ้มค่า แต่ถ้าสามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางของประชาชนของทุกประเทศที่รถไฟวิ่งผ่าน และนำพาความเจริญมา ทั้งนี้ จากการที่ไปดูงานต่างประเทศ รถไฟความเร็วสูงสามารถพัฒนาประเทศได้จริง อย่างประเทศจีนสมัยตอนที่ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง กับช่วงที่มีแล้วแตกต่างกันชัดเจน เป็นการเปลี่ยนโฉมไปเลย ความเป็นอยู่ของประชาชนก็เปลี่ยน เศรษฐกิจก็เปลี่ยน อยากเห็นประเทศไทยเจริญแบบนั้นบ้าง

“ถ้าจีนเข้ามาทำรถไฟความเร็วสูง ระยะทางตั้งแต่กรุงเทพฯ-หนองคายถือว่าสั้นนิดเดียวสำหรับจีน ระยะทางแค่ประมาณ 500 กว่ากิโลเมตร เชื่อว่าคงไม่ถึง 4 ปีก็สร้างเสร็จ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีที่อยู่ในมือจีนมีความทันสมัย” อดีตผู้ว่า รฟท. แสดงความคิดเห็นและว่า “ระบบการเดินรถไฟ จีนก็มีประสบการณ์การใช้งานมาแล้วมากกว่า 10 ปี และเป็นระบบที่พิสูจน์แล้วว่ามีความน่าเชื่อถือเรื่องความปลอดภัย ประเทศไทยสามารถรับประโยชน์ในส่วนนี้ได้อย่างเต็มที่ เพียงแต่ขอให้เริ่มก้าวแรกกับจีนให้ได้”

“เชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นจะนำพาความเจริญก้าวหน้ามาสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย เพราะถ้าโครงการนี้เกิด จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง นักลงทุนจะเปลี่ยนวิธีคิด แทนที่ทุกอย่างจะมากระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็จะเป็นการกระจายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความเหมาะสมต่างกัน ทั้งเรื่องของตลาดแรงงาน วัตถุดิบ ขอให้มีโครงการนี้ไป ระบบราชการก็จะตามไปด้วย ทำให้แต่ละภูมิภาคสามารถพัฒนาขึ้นมาได้จริง อย่างที่รัชกาลที่ 5 สมัยที่สร้างรถไฟ ท่านก็อยากเห็นประเทศไทยเจริญในทุกๆ ภาค และในหัวเมืองต่างๆ ที่สำคัญ ให้เจริญเฉกเช่นมหานครอย่างกรุงเทพฯ”

สำหรับเรื่องที่ประเทศไทยอาจจะมีการเดินรถไฟ 2 ระบบคือของจีนกับญี่ปุ่น คุณประภัสร์ เห็นด้วยว่า จะมีปัญหา เพราะถ้าพ้นจากเขตแดนประเทศไทยไปแล้ว เข้าไปยังกัมพูชา เวียดนาม ต้องดูว่าส่วนนั้นเขาใช้ระบบไหน หากเป็นคนละระบบแล้วแน่นอนว่ามันไปด้วยกันไม่ได้ นำไปสู่กันลงทุนอีกครั้ง ดังนั้น ไทยต้องตัดสินใจโดยเอาพื้นฐานประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และเชื่อว่าระบบของจีนมีประสิทธิภาพ เป็นระบบที่ดี มีความปลอดภัยสูง ตรงต่อเวลา ไม่น้อยหน้าใคร รัฐบาลต้องคิดให้เยอะ และยึดเอาประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เพราะจะให้เอาใจทุกคนนั้นคงเป็นไปได้ยาก

“ในชีวิตคนหนึ่งคนมันสั้น แต่สิ่งที่จะคงอยู่ต่อไปคือรถไฟ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงอยู่เป็น 100 ปีแน่นอน ต้องคิดให้ดีว่าประโยชน์สูงสุดคืออะไร อย่าให้คนรุ่นหลังมาด่าว่าทำไมตรงนี้ใช้ระบบของจีน แต่อีกที่เป็นอีกระบบหนึ่งที่เข้ากันไม่ได้ ลูกหลานคงมีแต่จะบอกว่า ‘คิดได้ยังไง’ ฉะนั้น จะเดินทางไหนต้องเลือกสักทาง”

ทั้งนี้ หากใช้ระบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น Siemen หรืออะไรก็ตาม จะมีคำถามเกิดขึ้นว่าแล้วมันต่อเชื่อมกับคนอื่นได้รึเปล่า เพราะถ้าต้องการให้เชื่อมต่อเป็นภูมิภาค ไปยังประเทศอื่นๆ ได้ เป็นรถไฟที่เดินทางได้ทั่วจริงๆ ไม่ใช่แค่เขตพรมแดนไทยต้องคิดให้เยอะๆ ต้องกล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกที่ควร

อดีตผู้ว่า รฟท. บอกถึงเม็ดเงินการลงทุนของโครงการนี้ที่สูงถึง 5 แสนล้านว่า ขอเรียนตามตรงว่าไม่ทราบรายละเอียดว่ารัฐมีนโยบายจัดการอย่างไร สำหรับรัฐบาลก่อนก็มีแนวคิดเรื่องการออกพันบัตร เป็นต้น อย่างไรก็ดี ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง มีเรื่องของเงินที่ต้องหามาใช้ ถ้าคิดแต่เพียงว่าใช้เงินเยอะแล้วไม่กล้าลงทุนอย่างเดียวก็คงไม่ถูกต้อง ควรช่างน้ำหนักว่าระหว่างการลงทุนนี้กับสิ่งที่ได้กลับมามันคุ้มค่าหรือไม่

“หากรัฐบาลตั้งสมมติฐานว่าเราจะเป็นแบบนี้ ได้เงินจากส่วนนี้ ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะทำให้มันเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าทำได้ เรื่องของเงินที่ลงทุนไปจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เหมือนเอกชนทั่วไป ที่คงเติบโตไม่ได้หากไม่กล้าลงทุน สำคัญคือมีความเสี่ยงอะไรบ้าง และต้องทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้น ทุกอย่างต้องมีผลตอบแทนและไปได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องลงทุนบนพื้นฐานที่ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินการลงทุน ไม่จะเป็นสภาพัฒน์ก็ดี ภาครัฐ หน่วยงานในกระทรวงต่างๆ ต้องทำให้สมมติฐานที่เราตั้งไว้เกิดขึ้นมาได้จริง อย่าให้กลายเป็นว่าพอรัฐบาลหน้าเข้ามาบริหารก็กลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปจนสมมติฐานไม่เกิด และกระทบเรื่องของรายได้ทั้งหมด

การลงทุนไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว หากกลัวการลงทุน ประเทศพัฒนาไม่ได้ ถามว่าถ้าเราไม่ทำวันนี้ เด็กรุ่นต่อไปจะด่าเราหรือไม่ ยกตัวอย่าง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการพูดกันมานานมาก แต่กว่าจะเกิดขึ้นจริงผ่านมาหลายปี ประเทศเสียโอกาสไปมาก ถามว่าหากวันนั้นมีการสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ การจราจรในปัจจุบันจะเป็นอย่างที่เห็นหรือไม่ เปรียบเทียบคนที่จบมหาวิทยาลัย ทำงาน ระหว่างซื้อบ้านกับซื้อรถ ถ้าระบบการขนส่งมวลชนดี เดินทางได้สะดวก จะมีซักกี่คนที่เลือกซื้อรถก่อน ทุกวันนี้ที่ใครๆ ก็ซื้อรถ เพราะระบบขนส่งสาธารณะมันไม่ดี

ประเทศไทยที่มีปัญหามาก เนื่องจากพอมีการเปลี่ยนรัฐบาล ข้าราชการก็เอาใจคนที่เป็นรัฐบาลโดยที่ไม่ได้ดูว่าสิ่งที่เสนอไปมันถูกต้องจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น การทำงานต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่พูดแต่ปาก แล้วห่วงเรื่องตำแหน่งหน้าที่” คุณประภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย