ม.รังสิต เผยผลงานวิจัย พบลงทุนหุ้น Healthcare IPOในไทย ผลตอบแทนดีสุดในอาเซียน

0
341

เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรังสิตได้มีการแถลงถึงผลวิจัยด้านการเงินและการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล โดย ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และ อาจารย์ประจำสาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยพบว่า การลงทุนกับหุ้นใหม่ด้านบริการด้านสุขภาพจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด และพบว่าหุ้นโรงพยาบาลไทยถ้าถือระยะยาวจะให้ผลตอบแทนดีที่สุดอาเซียน โดยเฉพาะหุ้นเข้าตลาดใหม่ที่เป็นกลุ่มโรงพยาบาล ที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก จะมีผลตอบแทนที่ดีกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่

จากการวิจัยพบว่า สาเหตุที่การลงทุนในกลุ่มโรงพยาบาลเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดี เป็นเพราะว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายต่อคนสำหรับสินค้าและธุรกิจสุขภาพบริการ ทั่วโลกนั้นมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 60% โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization:WHO) ประเมินค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพบริการ ในภูมิภาคอาเซียน ตกปีละประมาณ 17,500 บาทต่อคน โดยอุตสาหกรรมบริการสุขภาพของประเทศในภูมิภาคอาเซียน จะมีการลงทุนด้านวิจัยนวัตกรรมสูง ทำให้นำไปสู่ความมั่งคั่งในอนาคตได้ดี อีกทั้งความต้องการบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น นั้นหลักๆมาจากการเติบโตของรายได้ของกลุ่มครัวเรือนระดับชนชั้นกลาง (middle-class households) และ กลุ่มผู้ที่มีการศึกษาที่สูงขึ้น (better education) รวมถึงกระแสการตื่นตัวทางด้านการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น (greater health awareness)

สำหรับความได้เปรียบในการแข่งขันด้านบริการสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน ธุรกิจบริการสุขภาพในประเทศไทยนั้นถูกได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการให้บริการด้านสุขภาพในระดับโลก โดย “Medical Tourismในประเทศไทย” นั้นมีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 40% ของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourist) ที่มาใช้บริการในอาเซียน (ข้อมูลจาก The UK Trade and Investment, 2015)

ทั้งนี้ ตลาด Medical Tourism ในประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ และ ไทย ยังถูกคาดการณ์ว่าจะโตขึ้นจาก 2.64 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2014 เป็น 4.48 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2019

ส่วนปัจจัยบวกอื่นๆ ที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมโรงพยาบาลเติบโตได้ดีคือ การเติบโตของประชาคมผู้สูงวัย (aging population) โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ภาครัฐให้ความสำคัญผ่านการผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็นศุนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub). ทำให้จูงใจให้บริษัทจำนวนมากเข้าไปแข่งขันกันในธุรกิจกลุ่มบริการด้านสุขภาพ และเร่งขยายการเติบโต โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมทุนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

งานวิจัยพบว่า แหล่งเงินทุนสำคัญของบริษัทที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพเหล่านี้ คือการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) โดยผลงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ระดับนานาชาติ Inquiry: The Journal of Health Care Organization, Provision, and Financing พบว่า ผลตอบแทนระยะยาวของหุ้น IPO ของกลุ่มบริการด้านสุขภาพ (Health Care and Biopharmaceutical IPOs)ในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆในภูมิภาคอาเซียน ทั้งหมด 76 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงปี 1986 ถึง 2014 หุ้นIPO กลุ่มบริการด้านสุขภาพมีผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด แต่เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามการจะทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พบว่าประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ให้ซื้อถือระยะยาวจะให้ผลตอบแทนดีที่สุดอาเซียน ในขณะที่ ประเทศสิงค์โปร์และอินโดนิเซีย จะให้ผลตอบแทนที่ขาดทุน โดยผลตอบแทนคำนวณจากราคาหุ้นปิดเทรดวันแรกและราคาหุ้นที่ถือครองไปในช่วง 3 ปี นับจากการซื้อขายวันแรกในตลาดรอง

ดร.กุลบุตรเปิดเผยต่อไปว่า หุ้น IPO กลุ่มโรงพยาบาล ที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก จะมีผลตอบแทนที่ดีกว่า รพ.ขนาดใหญ่ ทั้งนี้การศึกษาผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น IPO กลุ่มโรงพยาบาลในภูมิภาคอาเซียน ช่วยทำให้นักลงทุนทั่วไปสามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น เช่น การซื้อถือระยะยาวสำหรับหุ้นกลุ่มบริการสุขภาพนี้