จริงหรือเด็กต่างชาติ แห่มาเรียนที่ประเทศไทยไม่สนใจ Ranking?

0
4568

ปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการการศึกษาไทย คงไม่สามารถปฎิเสธได้ถึง วิกฤตในมหาวิทยาลัยไทย โดยสามารถสังเกตได้จาก การที่สถาบันการศึกษาไทยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน ทำการออกกลยุทธ์โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อแย่งชิงนักศึกษาใหม่ เพื่อความอยู่รอด โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่า ยอดผู้สมัครสอบแอดมิดชั่นกลางประจำปี 2560 ลดลงอย่างน่าใจหาย โดยปีนี้จากสถิติมีคนสมัครน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งมีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุสำคัญที่เป็นสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ 1.การที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงวัย อัตราการเกิดที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง 2.ทางเลือกของนักเรียนในทุกวันนี้มี ตัวเลือกที่เยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อ โดยเลือกโครงการรับตรง การสมัครโควต้าพิเศษต่างๆ หรือ แม้กระทั่งการเลือกที่จะไปประกอบธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากมีช่องทางการทำธุรกิจที่มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเรียนระดับปริญญา

จะเห็นได้ว่า ถ้าดูจากอันดับมหาวิทยาลัยของไทย ในจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ของ Times Higher Education มหาวิทยาลัยของไทยจะอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างที่จะเสียเปรียบมหาวิทยาลัยต่างชาติที่ใช้การเรียน-การสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ในทางกลับกัน เรากลับพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในขณะที่นักศึกษาไทยมีจำนวนที่ลดลง กลับมีนักศึกษาต่างชาติที่ทยอยมาเรียนที่ประเทศไทยกลับมากขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนในสังกัดและในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เผยว่า นักศึกษาที่มาเรียนที่ประเทศไทยมากที่สุดในปัจจุบัน เป็นอันดับ 1 คือ นักศึกษาจากประเทศจีน ซึ่งมีจำนวนเกือบหมื่นคน อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่มหาวิทยาลัยในประเทศจีนนั้นไม่สามารถรองรับจำนวนนักศึกษาจีนที่เพิ่มมากขึ้นได้ และอีกประการคือ นักศึกษาจีนต้องการเพิ่มโอกาสในการทำงานหรือประกอบธุรกิจที่ประเทศไทยในอนาคต  ส่วนนักศึกษาที่มาเรียนที่ประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ นักศึกษาชาวเมียนม่า ซึ่งมียอดนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 1,205 คน ในปี พ.ศ.2552 มาเป็น 2,000 คนเศษในปีนี้ หรือ เพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัว นอกจากนี้จึงค่อยเป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มาจากทั้งทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และแอฟริกา

ถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยที่กำลังเน้นสร้างความเป็นนานาชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนอย่างมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิตมีนักศึกษานานาชาติที่มาจากหลากหลายประเทศกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดย Joona Penttila นักศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุการมาเรียนที่ประเทศไทย ว่า “ต้องการที่จะเรียนรู้มุมมองต่างๆของชาวต่างชาติในต่างแดน เพราะตอนนี้กำลังศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการ และประเทศไทยนั้นมีความน่าสนใจโดดเด่นในเรื่องนี้มาก”

ส่วน Kotaro Yanai จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวต่อไปว่า “ฉันต้องการเรียนภาษาที่สองและสามในเวลาเดียวกัน และก็ต้องการเรียนรู้การทำธุรกิจระหว่างประเทศ” ในขณะที่ Benjamin นักศึกษาจากประเทศแคมเมอรูน นั้นตัดสินใจมาเรียนที่ประเทศไทยเนื่องจากชอบบรรยากาศต่างๆ กิจกรรมต่างๆที่หลากหลายในมหาวิทยาลัย และอุปนิสัยของคนไทยที่มีความใจดี ชอบช่วยเหลือและมีความเป็นมิตร

ผศ.ดร.กฤษฎา ศรีแผ้ว  คณบดี วิทยาลัยนานาชาติ ม.รังสิต ได้กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้นักศึกษาต่างชาติ เลือกที่จะมาเรียนที่ประเทศไทย คือ มหาวิทยาลัยไทยต้องสร้างความสุขให้กับนักศึกษาต่างชาติ สนับสนุนการมีส่วนร่วมและช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาไทย รวมถึง การสร้างบรรยากาศและแรงบันดาลใจในการใฝ่รู้ให้กับนักศึกษา (Inspired, not required) โดยปัจจุบันนี้ นักศึกษาต่างชาติชอบการเรียนรู้โดยการลงมือทำ (Learning by doing) มากกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียน

ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ ม.รังสิต กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ สำหรับการมาศึกษาต่อในประเทศไทยที่เป็นแรงจูงใจสำคัญแล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการ นั่นคือ ความประทับใจการดูแลของสถานศึกษาไทย ซึ่งหาได้ยากในมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นๆ เช่น การบริการเอาใจใส่นักศึกษาต่างชาติอย่างใกล้ชิด เพราะเราเข้าใจถึงสภาพจิตใจของนักศึกษาที่ต้องห่างบ้านเกิด ต้องเผชิญกับปัญหา Home sick รวมถึง การเจอความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Culture shock) ดังนั้น เราจึงมีทีมบริการ 24 ชม. ตั้งแต่การรับส่งที่สนามบิน การดูแลเรื่องที่พักอาศัย การดำเนินอำนวยความสะดวกในเรื่องของวีซ่า การดูแลสุขภาพในการทำประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ การจัดตั้งทีมปรึกษาปัญหา (Case management team) รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ การทำกิจกรรมเสริมต่างๆมากมายร่วมกันกับนักศึกษาไทยและองค์กรในประเทศไทย