“คอคอดกระ” กับทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งจีน

0
565

โครงการขุดคลองกระหรือคลองไทยถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Century Dream, Century Project” (ความฝันแห่งศตวรรษ โครงการแห่งศตวรรษ) เนื่องจากโครงการนี้ถูกนำเสนอมานานและยังไม่มีการเริ่มต้น เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไทยยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจังเนื่องจากขาดประสบการณ์และความรู้ด้านเทคนิคเฉพาะรวมถึงปัจจัยด้านการลงทุน โครงการนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับประเทศ ในอดีตไทยเคยมีความร่วมมือกับต่างชาติไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, ญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกาในการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการแต่สุดท้ายก็ต้องหยุดชะงักลงจากหลายปัจจัย เช่น สงครามหรือวิกฤตทางการเงิน

หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้นำเสนอแนวคิด หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และเส้นทางสายไหมทางทะเล โครงการขุดคลองไทยถูกนำมาปัดฝุ่นและเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนให้กับประเทศไทยหากโครงการได้รับการอนุมัติ โดยนักวิชาการหลายท่านจากจีนได้แสดงความเห็นสอดคล้องกันในงานประชุมนานาชาติในหัวข้อ “คลองไทย: เทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” เมื่อเดือนกันยายน 2560 ดังนี้

  • การขุดและพัฒนาคลองกระ (คลองไทย) จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งสำหรับจีน ไทย และประเทศในเขตหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
  • ความร่วมมือกันระหว่างจีนและไทยในการพัฒนาคลองกระจะช่วยยกระดับศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมของประเทศไทย
  • ประสบการณ์จากการสร้างเขื่อนสามผา (Three Gorges Project เป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกกั้นแม่น้ำแยงซีเกียง) และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้จะเป็นโครงการอ้างอิงที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาคลองกระของไทย
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรจะมีการวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาคลองกระอย่างจริงจังโดยทันทีเพื่อโอกาสในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของชาติและของโลก

ศาสตราจารย์ Zhao Jinsong ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยด้านการขนส่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Jiaotong University) บรรยายในงานไว้อย่างน่าสนใจว่าการปฏิวัติด้านการพาณิชย์ของโลกครั้งที่ 3 กำลังเกิดขึ้น (The 3rd Trade Revolution of the World) ยังความท้าทายมาให้แก่โลก

สามพันกว่าปีที่แล้ว ชาวกรีกโบราณเป็นผู้คว้าโอกาสในช่วงการปฏิวัติด้านการพาณิชย์ครั้งที่ 1 ทำให้กรีกกลายเป็นผู้นำด้านการขนส่งสินค้าระดับโลก 200-300 ปีต่อมาในช่วงการปฏิวัติด้านการพาณิชย์ครั้งที่ 2 เป็นอังกฤษที่ได้ตำแหน่ง “อาณาจักรที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน”  มาถึงครั้งที่ 3 โอกาสกำลังเปลี่ยนทิศไปยังชาติที่อยู่ในเขตเส้นทางสายไหมยุคใหม่ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ยุคนี้สิ่งที่ตลาดต้องการคือการขนส่งอย่างรวดเร็ว Just-in-time (การผลิต/จัดส่งสินค้าที่ต้องการในเวลาที่ต้องการ ชนิดและจำนวนถูกต้อง) และ door-to-door (การรับสินค้าจากผู้ส่งไปถึงมือผู้รับโดยจะมีการดูแลเรื่องขั้นตอนพิธีการระหว่างให้)

สรุปโดยย่อว่าการปฏิวัติด้านการพาณิชย์ครั้งที่ 1 เน้นเรื่อง “ความปลอดภัย” เนื่องจากการขนส่งทางท้องทะเลมีอันตราย ครั้งที่ 2 คือ “ความใหญ่” เรือขนส่งที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้ค่าขนส่งต่ำลง และครั้งที่3 “ความว่องไว” เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี และ “ความว่องไว” นี้เองที่ทำให้คลองไทยมีความโดดเด่นแตกต่างจากช่องแคบมะละกา

เหตุผลที่ E-trade หรือการซื้อขายทางอินเตอร์เนตไม่เฟื่องฟูมากในหลายประเทศไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีแต่เป็นเพราะระบบการขนส่งทำได้ไม่ดีพอ การส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อในราคาที่ถูกที่สุดและไวที่สุดเป็นความท้าทายใหม่สำหรับผู้ขาย E-trade ทำให้การแข่งขันทางด้านราคาลดบทบาทลงไปอย่างมีนัยยะ กุญแจสำคัญที่จะกำชัยชนะเหนือคู่แข่งคือใครจะส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อได้ไวกว่ากัน

ศาสตราจารย์ Zhao Jinsong ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการขุดคลองไทยไว้ดังนี้ “เวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ไม่ควรที่จะช้ามากไปกว่านี้ ผมคิดว่าเราไม่ควรไปกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างช่องแคบมะละกาและคลองไทย

สถานการณ์ของช่องแคบมะละกาไม่เหมือนกับคลองปานามาที่เมื่อเกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการเพิ่มมากขึ้น เราสามารถขุดและขยายให้กว้างใหญ่ขึ้นได้ ช่องแคบมะละกาอยู่ระหว่างเกาะสองเกาะนั่นยิ่งทำให้ทางเดินเรือแคบลง ผมคิดว่าเราต้องการคลองขุดแห่งใหม่

อย่างที่กล่าวมาว่าการปฏิวัติด้านการพาณิชย์ครั้งที่ 3 กำลังเริ่มขึ้น ผู้ที่ต้องการจะใช้การขนส่งทางเรือในราคาที่ประหยัดจะยังคงใช้บริการช่องแคบมะละกา แต่ถ้า “เวลา” เป็นเรื่องสำคัญและมีความสามารถจะจ่ายเพิ่มขึ้นอีกนิดสำหรับค่าขนส่ง คุณก็ต้องการทางเลือกใหม่ คลองไทยจะตอบโจทย์นี้เพราะจะช่วยประหยัดเวลาได้

ผมคิดว่าช่องแคบมะละกาและคลองไทยสามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อการบริการที่ดีขึ้น ตอนนี้เทรนด์ในการซื้อของคือ E-trade ซึ่งต้องการการส่งของแบบ Door-to-Door สิ่งที่คนขายต้องการคือทำอย่างไรถึงจะส่งของให้ถึงผู้ซื้อได้รวดเร็วกว่าคู่แข่ง คือรวดเร็วที่สุดหากเป็นไปได้ ถ้ามองจากมุมนี้คลองไทยจะมีบทบาทสำคัญขึ้นมาทีเดียว”

ประเทศส่วนใหญ่ใน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีจำนวนประชากรมากถึง 63% ของโลก อุปสรรคที่สำคัญในประเทศเหล่านี้คือระบบการขนส่งที่ล้าหลัง การพัฒนาระบบขนส่งถูกจำกัดด้วยปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและความสามารถในการจัดการของประเทศนั้นๆ ภายใน 5 ปีข้างหน้าจีนวางแผนจะลงทุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานใน 22 ประเทศ โดยประเทศจีนมีความเชื่อมั่นว่าด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมโยธาในปัจจุบัน มนุษย์สามารถทำให้ 3 ทวีปเชื่อมถึงกันได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานอย่างอุโมงค์ สะพานและถนน

โดย: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: ณจักร วงษ์ยิ้ม