5 ปีศูนย์วัฒนธรรมจีน (2013-2017) – หน้าต่างสู่วัฒนธรรมจีน

0
383
บุคคลสำคัญร่วมงานครบรอบ 5 ปี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ดำเนินงานจนครบรอบ 5 ปี (2013-2017) โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้ยึดแนวทางการปฏิบัติงานตามนโยบายของสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม การเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนความคิด และการบริการสารสนเทศเป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมในประเภทต่างๆ มากกว่า 600 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลวัฒนธรรมจีน งานวัดตรุษจีน เทศกาลภาพยนตร์จีน เป็นต้น กิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมเหล่านี้ได้รับความนิยมและชื่นชมจากสังคมไทยเป็นอย่างมาก

5 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ได้รับความสนพระราชหฤทัยจากพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ทรงพระอักษรพู่กันจีน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหวังและการอวยพรต่อมิตรภาพไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้บุคคลสำคัญทางการเมืองของไทย เช่น องคมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานรัฐ องค์การมวลชนธุรกิจและสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือมาโดยตลอด จนก่อให้เกิดรากฐานการทำงานอย่างมีเสถียรภาพของศูนย์วัฒนธรรมฯ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอักษรพู่กันจีนคำว่า “ศูนย์วัฒนธรรมจีน”

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ได้จัดคอนเสิร์ตดนตรีร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “ยึดมั่นในเจตนารมณ์ สานสัมพันธ์จีน-ไทย” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 5 ปี ในการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ โดยมีบุคคลสำคัญทั้งจีนและไทยให้เกียรติมาร่วมแสดงความยินดี และได้กล่าวอวยพรให้กับทางศูนย์เป็นจำนวนมาก แต่ละท่านได้กล่าวถึงความสำคัญในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ที่ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าต่างที่นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนสำหรับประชาชนชาวไทย

คุณหลัน ซู่หง ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมสถานทูตจีนและผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ

คุณหลัน ซู่หง ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมสถานทูตจีนและผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กล่าวต้อนรับว่า “เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2012 บนเวทีแห่งนี้นายกรัฐมนตรีของจีนและไทยได้ร่วมเปิดป้ายของศูนย์ฯ นับเป็นแห่งแรกของจีนที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศอาเซียน ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาโดยการบริหารของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนและกระทรวงวัฒนธรรมจีน ภายใต้การเอาใจใส่และการสนับสนุนของสถาบันพระมหากษัตริย์ หน่วยงานภาครัฐของไทย สมาคมและเพื่อนมิตรจากวงการต่างๆ กลายเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยสามารถเรียนรู้ เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมจีน”

นายหลี่ว์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดี

ด้านนายหลี่ว์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีและกล่าวว่า
“นับตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีนประจำประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2012 เป็นต้นมา ทางศูนย์ได้จัดกิจกรรมหลายรูปแบบ รวมทั้งสิ้น 600 ครั้ง อาทิ การแสดง นิทรรศการ การอบรม การเรียนการสอนทางวัฒนธรรม เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมของประชาชาติจีนและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีน

หลายปีมานี้การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนเป็นไปในเชิงลึก ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกระชับอย่างแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ศูนย์วัฒนธรรมจีนเปรียบเสมือนหน้าต่างที่นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนสำหรับประชาชนชาวไทย ตอบสนองความต้องการของคนไทยที่มีต่อวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญในการผ่อนคลายอารมณ์ ความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของคนจีน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงความยินดี

ตลอดระยะเวลา 5 ปีนั้นศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้หากปราศจากการสนับสนุนจากวงการต่างๆ ของไทย อาทิ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ นายกรัฐมนตรีทั้งชุดเก่าและชุดปัจจุบัน รัฐมนตรีของกระทรวงต่างๆ รวมถึงสมาคม บริษัท และสื่อมวลชนต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นช่วงเวลา 5 ปีที่รัฐบาลและประชาชนของไทยและจีนพยายามเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีความปรารถนาดีร่วมกัน

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ได้นำเสนอว่าความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศ จะเสริมสร้างวัฒนธรรมของสังคมนิยมไปสู่โลกสากลในอนาคตของทุกชนชาติ ส่วนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเป็นวิถีสำคัญที่นำไปสู่ความเข้าใจตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนสาระสำคัญเข้าไปในชีวิตและกระชับมิตรภาพของประชาชนทั้งสองประเทศได้”

ในช่วงสุดท้ายได้อวยพรให้ศูนย์วัฒนธรรมจีนประสบความสำเร็จ และเล่าเรื่องจีนให้ดีกว่าเดิมเพื่อแสดงสภาพความเป็นจริงของจีนในทุกมิติ โดยให้ศูนย์วัฒนธรรมจีนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนและไทยต่อไป

ดร.พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ร่วมแสดงความยินดี

ดร.พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าศูนย์วัฒนธรรมจีนจะมีอายุครบ 5 ปี แต่คิดว่าผลงานที่ผ่านมานั้นเกิน 50 ปีแล้ว เนื่องจากมีผลงานมากมาย

“วัฒนธรรมของจีนเป็นวัฒนธรรมที่มีความลึกล้ำ มีคุณค่าและสูงส่งมาก เพราะเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาหลายพันปี
“การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นวัฒนธรรมการปกครองและการบริหารประเทศที่ล้ำค่า เพราะว่าการบริหารประเทศจีนโดยพรรคคอมมิวนิสต์สามารถทำให้ประเทศจีนพลิกจากความยากจนในอดีต กระทั่งปัจจุบันมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ประชาชนมีการกินอยู่ที่ดี เป็นประเทศมีเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก จนทั่วโลกตั้งความหวังกับประเทศจีนให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประชาคมโลกให้ดีขึ้น ถ้าไม่ใช่การบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งนั้น จะไม่มีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ บ่งบอกได้ว่าวัฒนธรรมของชนชาติจีนมีคุณธรรม ความเอื้อเฟื้อ ความเสียสละต่อประเทศชาติบ้านเมือง จึงทำให้ประเทศชาติเจริญจนถึงทุกวันนี้

วัฒนธรรมของเส้นทางสายไหมมีมาหลายพันปี มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งทางบกทางทะเล เป็นคาราวานของสินค้า ไม่ใช่กองทัพที่ไปปล้นสะดมเหมือนกับประเทศอื่น มีแต่ไปผูกมิตร ไปทำการค้าขาย สร้างมิตรภาพที่ดีเสมอ”

และในช่วงสุดท้าย ดร.พินิจ ได้กล่าวอวยพรว่า “ขอชื่นชมสนับสนุน และขอฝากศูนย์วัฒนธรรมจีนให้อยู่ในใจของประชาชนชาวไทย และขอให้คนไทยมีวัฒนธรรมที่ดีเฉกเช่นวัฒนธรรมของคนจีน”

นายหยู่ เผิง ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมจีน ร่วมแสดงความยินดี

นายหยู่ เผิง ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมจีน กล่าวว่า “ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน มีจุดสำคัญ 5 ประเด็น คือ

1.การพัฒนาด้วยการสร้างนวัตกรรม การก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมเปรียบเสมือนป้ายบอกระยะทางในประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนซึ่งมีมาอย่างยาวนาน ไม่ลืมอดีตและรับสิ่งใหม่ๆ จากภายนอกเข้ามา สร้างสรรค์วัฒนธรรมสู่อนาคต

2.การพัฒนาที่สมบูรณ์ ทำให้การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีนมีความสมบูรณ์ครบทุกมิติ สังเกตได้จากก่อสร้างอาคาร และการวางผัง อาคารนี้เป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรม การเรียนการสอน การให้บริการข้อมูล เป็นต้น

3.การพัฒนาตามแนวคิดสีเขียว การก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมเป็นการเสริมสร้างพลังของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและไมตรีจิตอันดีระหว่างจีนและไทย อีกทั้งยังหลอมรวมระบบนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรมของไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ฯ โดยให้ความสำคัญในรายละเอียดของความยั่งยืน เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมให้มีความยั่งยืนตลอดไป

4.การพัฒนาแบบเปิดกว้าง จากโปสเตอร์ของกิจกรรมวันนี้ สังเกตได้ว่าศูนย์วัฒนธรรมจีนได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ของไทยด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง มีการเผยแพร่ความงดงามของวัฒนธรรมไทยสู่ประเทศจีนอย่างกระตือรือร้น เพื่อให้เพื่อนๆ คนจีนมีโอกาสที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

5.การพัฒนาแบบแบ่งปัน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนชาวไทยที่ต้องการเรียนรู้เข้าใจวัฒนธรรมจีนอย่างรอบด้าน สม่ำเสมอ ต่อเนื่องและลึกซึ้ง ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการของประชนชนชาวจีนที่ต้องการเรียนรู้ เข้าใจวัฒนธรรมไทย ทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศสามารถแบ่งปันวัฒนธรรมให้มีผลสำเร็จซึ่งกันและกัน

สำหรับงานคอนเสิร์ตที่นำมาแสดงนี้ มีความน่าสนใจ 2 ประการคือ
ประการที่ 1 เป็นการเปิดโฉมเครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนโบราณ แต่ความเป็นจริงเครื่องดนตรีหลายชนิดมาจากต่างประเทศผ่านเส้นทางสายไหมโบราณ

ประการที่ 2 เป็นการสืบสานจากแนวทางดั้งเดิมและเป็นการสร้างนวัตกรรมสู่อนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ลืมอดีต แต่ซึมซับจากต่างแดนและมุ่งสู่อนาคตที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว นี่เป็นหลักการของการสร้างสรรค์นวัตกรรมวัฒนธรรมจีน และเป็นหลักการในการดำเนินความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงและยั่งยืนคือ วัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมต้องถูกสะสมมาอย่างยาวนาน อยู่ในสายเลือดของคน วัฒนธรรมจีนเป็นสิ่งที่มีมายาวนานและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโลก บางเรื่องอาจจะศึกษาได้จากหนังสือ แต่หลายเรื่องต้องมีการเผยแพร่ การมีศูนย์วัฒนธรรมจีนเกิดขึ้นจึงมุ่งให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน

การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีนอาจไม่จำเป็น เพราะวัฒนธรรมจีนมีอยู่ในทุกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่พูด วิถีชีวิตประจำวัน แต่ที่จำเป็นต้องมีศูนย์วัฒนธรรมจีนเพื่อจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนอย่างมีระเบียบแบบแผนและถูกต้องจึงต้องมีศูนย์กลางที่เป็นของราชการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในด้านนี้

นับเป็น 5 ปี แห่งความสำเร็จที่ทำให้ได้เรียนรู้ภาษาจีน วัฒนธรรมจีน ภาพเขียน ภาพวาด ภาพถ่าย อาหาร ดนตรี ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่าศิลปวัฒนธรรม

และสุดท้ายนายวิษณุได้ขอให้ทุกคนช่วยกันติดตามผลงานของศูนย์วัฒนธรรมจีนในปีต่อๆ ไป เพื่อวันหนึ่งจะได้กลับมาฉลองครอบรอบในปีต่อๆ ไป

ในโอกาสครบรอบ 5 ปี การก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน มีการจัดแสดงคอนเสิร์ตดนตรีร่วมสมัยเป็นระยะเวลาถึง 4 วันโดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่าน รายละเอียดของการจัดแสดงกิจกรรมคอนเสิร์ตมีดังนี้

– วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560 จัดแสดงคอนเสิร์ตที่โรงละคร ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ เวลา 19.00 น.

– วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2560 จัดแสดงคอนเสิร์ตที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เวลา 13.30 น.

– วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 จัดแสดงคอนเสิร์ตที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เวลา 14.00 น.

ยุพินวดี คุ้มกลัด เรียบเรียงและถ่ายภาพ