พิธีเปิด “สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพ)” เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไทย-จีน ทุกมิติ

0
810

เช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2560 มีพิธีเปิดตัว “สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพ)” ถือได้ว่าเป็นสาขาแรกของจีนในต่างประเทศที่จะเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมลงนามความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายหลู่ว เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ ดร.เจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพ) พร้อมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย สื่อมวลชนจำนวนมากร่วมในพิธีเปิดที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต

สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน หรือ CAS : CAS Innovation Cooperation Center ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1949 มีบทบาทอย่างสูงต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ของจีนให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นหน่วยงานต่างประเทศแห่งแรกที่รวบรวมทรัพยากรวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยประเทศไทยคือจุดเริ่มต้นของภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นใจกลางนวัตกรรมในโซนอาเซียน และกระจายไปถึงโซนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพ) มีหน้าที่ในการนำพาบริษัทในสังกัด สถาบัน หน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย ประสานงานกับกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนอย่างใกล้ชิด และเป็นฐานสำคัญของการร่วมมือวิทยาศาสตร์นานาชาติระหว่างสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนกับประเทศโซนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง อีกทั้งพยายามสร้างยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางให้เป็นถนนแห่งนวัตกรรมด้วยความร่วมมือของนานาชาติด้วย

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่ Thailand 4.0 โดยหัวใจสำคัญคือเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นตัวขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรม ขณะที่ประเทศจีนมี One Belt One Road มีเมดอินไชน่า 2025 ที่มี 10 อุตสาหกรรมหลักเหมือนกัน ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ความร่วมมือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่นายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้ไปประเทศจีนและได้หารือถึงความสัมพันธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้ของทั้งสองประเทศ จนนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพ) ในวันนี้ ซึ่งเป็นรูปธรรมของการร่วมมือกันและสามารถตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการตั้งศูนย์การศึกษาจุลินทรีย์ เรื่องพาสมาและฟิวชั่นเพื่อนำไปพัฒนาพลังงานสะอาดในอนาคต เรื่องวิทยาศาสตร์ทางด้านอวกาศ โดยตั้งให้ไทยเป็นฐานอุตสาหกรรมการบิน ที่มีปัจจัยหลักในเรื่องของวิทยาศาสตร์ อวกาศ และภูมิสารสนเทศเป็นสำคัญ เรื่องระบบโลจิสติกส์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และเรื่องของการพัฒนาระบบราง เป็นต้น

หัวใจสำคัญอีกประการคือเรื่องของคน โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ที่จีนมีอยู่ใน CAS ถึง 60,000 กว่าคน และกำลังดึงนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกไปประชุมที่จีน ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างไทยและจีนในการแลกเปลี่ยนนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ของทั้งสองประเทศ

ทุกวันนี้จีนให้ความสำคัญกับประเทศไทยสูงมาก เพราะกรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นสาขาแรกของจีนในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Technology Transfer เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่ออาเซียนของจีนในอนาคต เพราะปี 2018 จีนกับอาเซียนจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่มากขึ้น การมาเปิดศูนย์ฯ ที่นี่ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของไทย เพราะไทยมีความชัดเจนในเรื่องของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 อย่างเช่น เรื่อง Digital Thailand การขับเคลื่อน Start Up หรือเรื่อง EEC เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ของไทยที่ทำให้จีนมีความมั่นใจนอกเหนือจากความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่แล้ว

พิธีลงนามความร่วมมือ MOU

ในช่วงท้ายของพิธิเปิดสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพ) มีพิธีลงนาม MOU ถึง 9 ความร่วมมือ อาทิ ความร่วมมืองานเทคโนโลยีชีวภาพ ความร่วมมือด้านเกษตรกรรมเชิงหน้าที่ ความร่วมมือวิจัยเครื่องตรวจวิเคราะห์โรคเบาหวาน ความร่วมมือด้านแหล่งทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีข้ามชาติ ความร่วมมือด้านแหล่งทุนและการลงทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีข้ามชาติ ความร่วมมือด้านแหล่งทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีแบบสองทาง ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในโครงการโพแทสเซียมคลอไรด์ที่ จ.นครราชสีมา ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่โพแทสเซียมเชิงยุทธศาสตร์ และความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเทคโนโลยีระหว่างศูนย์ความร่วมมือนวัตกรรมใหม่ CAS กรุงเทพฯ ร่วมกับสมาคม Think Tank of Thai-Chinese Commerce Association ความร่วมมือเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

บุคคลสำคัญร่วมในพิธีเปิด “สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพ)
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ยุพินวดี คุ้มกลัด เรียบเรียงและรายงาน
ณจักร วงษ์ยิ้ม ถ่ายภาพ