ความหวังใหม่ รถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย

0
480

รอคอยกันมานานสำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค หลังจากได้มีการปักหมุดเริ่มต้นโครงการไปแล้วเมื่อ 16 ธันวาคม 2558 และใช้เวลาในการคุยรายละเอียดสัญญา ปรับหลักเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ

ล่าสุดได้ฤกษ์ตรอกเสาเข็มสร้างแล้ว โดยมีพิธีเริ่มต้นโครงการสุดยิ่งใหญ่ ณ มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสร้างรถไฟช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ภายใต้แนวคิด “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น 同心协力, 事事顺利”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวบนเวที
นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ขึ้นกล่าวถึงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย

งานนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเปิดงานด้วยตัวเอง ร่วมกับนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน โดยมีการตักหน้าดินพร้อมกันเป็นการแสดงสัญลักษณ์เริ่มต้นสร้าง พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และนายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยก็ให้เกียรติมาร่วมงานด้วย

นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเข้าร่วมงาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ แสดงสัญลักษณ์เริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟด้วยการตักหน้าดิน

ใม่ใช่แค่ขายฝัน! รถไฟความเร็วสูงไทยจีน เริ่มก่อสร้างแล้ว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พูดถึง ความคืบหน้าของโครงการว่า ในระยะแรกจะเริ่มก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งเป็นแนวเขตเส้นทางเดียวกับทางรถไฟในปัจจุบัน ขนาดความกว้าง 1.435 เมตร โดยเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา ทั้งหมด 6 สถานี รวมระยะทาง 252.3 กิโลเมตร โดยเมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะใช้เวลาเดินทางจากบางซื่อถึงนครราชสีมาเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาที ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก เส้นทางกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ตลอดเส้นทางจะเป็นทางยกระดับ 181.9 กิโลเมตร ทางระดับพื้น 64 กิโลเมตร และอุโมงค์ 6.4 กิโลเมตร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

รมว.กระทรวงคมนาคม ยังกล่าวอีกว่า จากผลการประชุมความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะเร่งรัดการทำงานระยะที่ 2 ช่วงสถานีนครราชสีมา-หนองคาย และได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมระดับกลางและระดับสูง รวมทั้งแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถเป็นผู้ให้การฝึกอบรมและเผยแพร่องค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญทางด้านรถไฟของไทยให้มากขึ้น รวมทั้งได้หารือเรื่องความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถการทดสอบ สำหรับการตรวจสอบการก่อสร้าง และการบำรุงรักษาส่วนประกอบรถไฟของประเทศไทย

ด้านการก่อสร้างจะใช้ระบบเทคโนโลยีของจีน โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา และควบคุมการก่อสร้างงานโยธา ออกแบบและก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบควบคุมการเดินรถ เนื่องจากจีนมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีและประสบการณ์เรื่องรถไฟความสูงมากกว่า โดย รมว.กระทรวงคมนาคม คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 แต่จะเริ่มเปิดให้บริการบางสถานีตั้งแต่ปี 2564 ส่วนรูปแบบรถไฟที่ใช้ในโครงการจะเลือกใช้รุ่น FUXINGHAO ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุดของจีน

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพมหานคร-หนองคาย

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเส้นทางรถไฟระยะแรกช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 เดือน ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมทางหลวง เนื่องจากโครงการมีลักษณะเป็นคันทางรถไฟ ใกล้เคียงการก่อสร้างคันทางถนน ที่กรมทางหลวงมีความเชี่ยวชาญ ส่วนเส้นทางที่เหลือ การรถไฟฯ จะดำเนินการจัดจ้างด้วยการประกวดราคาตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างปี 2560

ขณะที่ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการออกแบบทางรถไฟ การควบคุมงานก่อสร้าง การจัดหาขบวนรถไฟ ระบบสัญญาณ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นตามแผนในอีก 5-6 ปีข้างหน้า

โมเดล รถไฟรุ่น FUXINGHAO ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุดของจีน

เทคโนโลยีรถไฟ EMU ฟู่ซิง (Fuxing) ของประเทศจีน

“ฟู่ซิง” นับเป็นสุดยอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนที่ควบคุมการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (Electric Multiple Units: EMU) ที่พัฒนาโดย China Railway มีความเร็วสูงถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยความร่วมมือของทั้งภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ โดยได้รับการออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานได้นานถึง 30 ปี ผลิตจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบาเป็นหลัก เช่น โลหะผสมแมกนีเซียมและคาร์บอนไฟเบอร์

ถ้าหากเทียบกับรถไฟรุ่น CRH380 รถไฟฟู่ซิงใช้พลังงานต่อหัวต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร น้อยกว่าถึงร้อยละ 17 เมื่อวิ่งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีระดับเสียงภายในตู้โดยสารต่ำกว่าประมาณ 1-3 เดซิเบล รถไฟฟู่ซิงจึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของโลก และยังสร้างสิถิติใหม่ในการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าที่ความเร็วสูงสุด 420 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเส้นทางเจิ้งโจว-ซูโจว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ภาพสภาพของพื้นที่นั้นๆ ด้วย ดังจะเห็นได้ว่ารถไฟความเร็วสูงที่จะใช้งานในประเทศ คาดว่าจะวิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

รถไฟไทยจีน เชื่อมโยงภูมิภาค

โครงการรถไฟไทย-จีนที่เกิดขึ้นนี้เรียกได้ว่า Win-Win กันทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) และโครงข่ายรถไฟของจีน (โมฮัน-คุนหมิง) ได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ One Belt, One Road ที่จะสร้าง “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” ของจีน ให้รุดหน้าไปได้อย่างราบรื่น โดยนายกรัฐมนตรีจีน “หลี่เค่อเฉียง” ได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีต่อการเปิดตัวการก่อสร้างทางรถไฟเฟสแรกของโครงการรถไฟไทย- จีนที่ผ่านมา และกล่าวว่า รถไฟไทย-จีน เป็นโครงการเรือธงในความร่วมมือแบบทวิภาคีทั้งในด้านความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และด้านศักยภาพในการผลิต สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของการปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวาง การก่อสร้างร่วมกัน ตลอดจนการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน

โดยหากเส้นทางรถไฟของไทยเมื่อเชื่อมต่อกับโครงการ One Belt, One Road ของจีนได้สำเร็จ จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางรางของไทยสู่การค้ากับ 64 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน มากกว่าประชากรครึ่งหนึ่งของโลก และมีสัดส่วนจีดีพีประมาณร้อยละ 40 ของโลก จึงถือเป็นการเสริมสร้างโอกาสด้านการลงทุน การสร้างงาน สร้างรายได้ อันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ต่อทุกพื้นที่ตลอดเส้นทางรถไฟ ที่สำคัญเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย

ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ของจีน

โครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย นอกจากจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่แล้ว ยังถือว่าเป็นการพัฒนาการขนส่งระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชน 3 ประเทศ คือ จีน ลาว และไทย โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ทั้งนี้ เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟมีต้นทุนต่ำ ดังนั้น การเชื่อมโยง 3 ประเทศก็จะลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เกิดการเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ซึ่งถือเป็นแนวทางของทุกประเทศในโลกที่ต้องการเชื่อมโยงกัน โดยมุ่งให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟ และบริเวณสถานีรถไฟ ทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ เมืองใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรายได้ประชากรต่ำกว่าภาคอื่นของประเทศ ประชาชนได้ระบบการเดินทางที่รวดเร็ว มีความปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนจะสร้างคุณูปการมากมาย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประเมินกันแล้วว่าได้มากกว่าเสีย แต่ทว่าการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ น่าติดตามไม่แพ้กัน

โดย ณจักร วงษ์ยิ้ม