“การทำลายล้างที่สร้างสรรค์” มองสื่อไทยในยุคดิจิทัลเข้ามาแทนกระดาษ – กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช

0
728

นอกจากภาระหน้าที่อันมหาศาลที่มีอยู่ของอาจารย์ก้อง กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และบรรณาธิการของนิตยสาร New Silk Road

อ.ก้องยังมีบทบาทใหม่ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งคือ “ที่ปรึกษาพิเศษของหนังสือพิมพ์ People’s daily” โดยภาระหน้าที่ใหม่นี้สามารถนำมาต่อยอดให้กับสื่อในประเทศไทยที่ดูเหมือนว่าผู้ชมผู้ฟังกำลังหายเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์กันหมด

วันนี้ อ.ก้องมีนัดคุยกับรายการ On View ของช่อง China Face ทาง Youtube Channel มาดูกันว่าอาจารย์ผู้มากความสามารถท่านนี้ จะอธิบายเรื่องสื่อไทยที่เปลี่ยนไปไว้อย่างไร?

บทบาทของอาจารย์ในด้านการสื่อสารมวลชน

งานหลักเป็นคณบดีนิเทศศาสตร์ มหาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นอกจากนี้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพหนึ่งที่มีผู้สื่อข่าวไทยและผู้สื่อข่าวจีนมาร่วมงานกัน ทำให้ได้รู้จักกับองค์กรสื่อทั้งหมด ทำให้พบหลายอย่างที่สามารถต่อยอดได้ สามารถช่วยกันทำงานต่างๆ ในวิถีของสื่อสารมวลชนขึ้นมาได้ อีกหนึ่งบทบาทเป็นบรรณาธิการนิตยสาร New Silk Road เป็นนิตยสารแจกฟรีเกี่ยวกับจีน-ไทย โดยพูดถึงจีนโพ้นทะเลครึ่งเล่ม คือคนจีนที่อยู่ในไทย อีกครึ่งเล่มพูดถึงเมืองจีนในปัจจุบัน เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจเมืองจีนได้มากขึ้น ไม่เกิดความเข้าใจผิดว่าเมืองจีนยังเป็นประเทศที่ไม่เจริญ หนังสือเล่มนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับจีนยุคใหม่เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆ

ล่าสุดเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษของหนังสือพิมพ์ People’s daily

ผมไปประชุม Media Cooperation Forum ที่เมืองตุนหวง ประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นทางเส้นทางสายไหมโบราณ อยู่สุดชายแดนทะเลทรายโกบีที่จะไปทางอาหรับและยุโรป เชื่อว่าเป็นต้นทางของ Asia Silk Road คือ เส้นทางสายไหมโบราณ เมืองตุนหวงจัดการประชุมครั้งนี้เป็นสัญญาณว่าองค์กรสื่อสารมวลชนจะได้รู้จักกันอีกครั้งและได้มีความร่วมมือตามเส้นทางสายไหมนี้

การประชุมนี้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสื่อนานาชาติหลายประเทศ และมีการแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ศึกษาสื่อนานาชาติของหนังสือพิมพ์ People’s daily ซึ่งเป็นสื่อมวลชนอันดับ 1 ของจีน องค์กรนี้เป็นทัพหน้าที่ต้องการทำความเข้าใจสื่อต่างๆ ภายใต้เส้นทางสายไหม จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ 14 ประเทศที่อยู่บนเส้นทางสายไหมมาเป็นนักวิชาการประจำของศูนย์ศึกษาสื่อแห่งนี้ ซึ่งปีนี้ถือเป็นรุ่นแรก กำหนดการทำงานประมาณ 3 ปี

คิดว่าตำแหน่งใหม่นี้จะสามารถพัฒนาต่อยอดด้านสื่อมวลชนในไทยได้อย่างไรบ้าง

บางท่านไม่เคยทราบเลยว่าองศ์กรต่างๆ ในประเทศจีนนั้นมีลักษณะเป็นของรัฐทั้งหมด แต่เป็นรัฐที่ไม่เผด็จการ เขาจะมีวิธีการควบคุมของเขาและมีอิสระพอควร เรามีหน้าที่เอาโมเดลของจีนมาแจ้งให้เพื่อนสื่อมวลชนได้ทราบ เพื่อทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่านโยบายแบบนั้นใช้ได้หรือไม่ อันไหนควรเอาหรือไม่ควร นโยบายตรงนั้นของเขาใช้ไม่ได้ไม่เหมาะกับประเทศไทยก็อย่าเอามา เป็นต้น กรณีศึกษาต่างๆ เมื่อนำมาเทียบเคียงแล้วอาจสามารถหาทางออกบางอย่างได้ เช่น ประเทศจีนนั้นเมื่อมีปัญหาเขาจะปรึกษากันตรงๆ เลยว่าตอนนี้คนหันไปสนใจพวกโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก คนดูทีวีกันน้อยลง เขาจะทำยังไง? จะแก้ไขปัญหากันยังไง?

ส่วนของประเทศไทยผู้ชมผู้ฟังก็หายเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์กันแทบจะหมดแล้วเช่นกัน จะแก้ปัญหานี้ยังไง? แค่กรณีนี้กรณีเดียวก็สามารถแลกเปลี่ยนกันเป็นวันแล้ว

คลิกชมรายการ On View คน คุย ความ คิด ep.9

บทบาทนิเทศศาสตร์ยุคใหม่ ยุคปัจจุบันที่หนังสือเริ่มหายไปและดิจิทัลเข้ามาแทน

ปัญหาเรื่องดิจิทัลมาทำลายสื่อต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมขอใช้คำว่า “การทำลายล้างที่สร้างสรรค์” หมายถึง มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีความสร้างสรรค์อยู่ อยู่ที่ว่าถ้าเราสามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนแปลงตัวเองเร็ว เราก็สามารถแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ได้

บางคนสามารถสร้างแฟนเพจที่มีผู้ติดตามมากมายได้ สมัยก่อนต้องมีเงินทุนถึงจะทำได้ แฟนเพจข่าวคุณภาพดี สารคดีคุณภาพดี คลิปคุณภาพดี เกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด นี่แหละที่บอกว่าเป็นการทำลายล้างที่สร้างสรรค์ เพราะสื่อดิจิทัลสามารถเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทำให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์หรือคนที่ปรับตัวตามทันเกิดขึ้นมาได้ ไม่ว่าประเทศจีนหรือประเทศในอาเซียนต่างประสบปัญหานี้หมด แต่ประเทศจีนนั้นรับมือได้ดี การเกิดขึ้นของผู้ผลิตรายย่อยไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมโดยรวมเกิดปัญหา แต่ของไทยพวกกลุ่มโทรทัศน์เกิดปัญหามาก เพราะจำนวนช่องมากไป ทำให้คุณภาพลดต่ำลง เกิดการแย่งชิงกันมากขึ้น ทำให้วงการสื่อไทยซบเซา

อีกปัญหาหนึ่งที่ประเทศเราใช้ social media เยอะมากจนติดอันดับโลก ทำให้คนของประเทศถูกโน้มนำไปในทิศทางเดียวกันหมด ในประเทศจีนมี social media ของตนเองสามารถควบคลุมกึ่งบริหารได้บ้าง ของไทยทุกอย่างเทไปที่ Facebook YouTube Google หมด และยังมีเรื่องการไม่เสียภาษีอีก ทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศไทยมีปัญหาในวงการนิเทศศาสตร์

วางแผนจัดการ “งานหลัก” และ “งานตำแหน่งพิเศษ” ในอนาคตไว้อย่างไร?

การที่ท่านสี จิ้งผิง ถูกเลือกให้ทำงานต่อในอีกวาระนั้น ทิศทางของเรื่อง One Belt, One Road ย่อมมีอยู่เรื่อยๆ แน่นอน ประเทศไทยต้องริเริ่มเตรียมพร้อมแล้วว่าเราจะต้องคิดอะไร เพื่อที่จะไปเชื่อมต่อกับ One Belt, One Road นี้ ซึ่งถ้าเราจะเชื่อมต่อ ก็จะเหมือนตะเกียงนำทางให้ความรู้กับคนในประเทศเราด้วย ตอนนี้ทุกคนจะต้องเข้าใจคำว่า One Belt, One Road ว่าคืออะไร การที่องค์กรสื่อสารมวลชนจะเข้าใจกันได้ก็ต้องเกิดจากการคุยกันมากขึ้น เกิดการยกระดับขอบเขตของตัวเอง สื่อมวลชนไทยต้องสนใจในข่าวต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งตรงนี้สื่อไทยยังทำได้ไม่ดี

“ผมมีความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งที่อยากจะทำศูนย์ศึกษานานาชาติของไทย แลกเปลี่ยนนักวิชาการ แลกเปลี่ยนนักวิชาชีพกัน เพื่อที่สามารถเป็นตะเกียงที่มีคุณภาพสูงทัดเทียมกับอารยประเทศให้ได้”

เรียบเรียงและถ่ายภาพ: ยุพินวดี คุ้มกลัด