อาศรมสยาม-จีนวิทยา จัดบรรยาย “การสอนวิชาการเขียนและการแปลในจีน” โดยอาจารย์ ม.ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง

0
208
รศ.ดร.จรัสศรี จีรภาส อาจารย์ประจำคณะภาษาเอเชียและแอฟริกา มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง

เมื่อบ่ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Convention Hall สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อาศรมสยาม-จีนวิทยา ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดบรรยายหัวข้อ “การสอนวิชาการเขียนและการแปลในประเทศจีน” โดยงานนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์ประจำคณะภาษาเอเชียและแอฟริกา มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง และน้องนักเรียนไทยที่ไปเรียนจีนแต่เด็กและมีความสามารถด้านการเขียนภาษาจีน มาร่วมแชร์เทคนิค งานนี้ได้รับความสนใจจากอาจารย์ผู้สอน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปจำนวนมาก

รศ.ดร.จรัสศรี จีรภาส อาจารย์ประจำคณะภาษาเอเชียและแอฟริกา มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง บรรยายถึงความสำคัญของภาษาไว้ว่า ภาษาเป็นวิธีการถ่ายทอดอารยธรรมการสื่อสารระหว่างมนุษยชาติ และเป็นเครื่องมือในการส่งอิทธิพลด้านการเมือง การปกครอง วัฒนธรรม ซึ่งในอดีตจีนเคยปฏิเสธการเรียนรู้ภาษาตะวันตก และปฏิเสธประเทศตะวันตกเรียนภาษาจีน โดยอาจารย์ได้หยิบยกหนังสือ “เมื่อบูรพาผงาด” ในตอน “คดีหงเหรินฮุย” ที่ว่า “ไม่ประสงค์ปลูกต้นหลิว ต้นหลิวกลับงอกงามเป็นทิวแถว” ซึ่งเปรียบเปรยถึงการเรียนภาษาจีนถึงแม้จะยาก แต่ชาวต่างชาติก็ยังอยากเรียน ต่อมาในปีค.ศ.1862 จุดแปรเปลี่ยนโลกทัศน์ที่จีนมีต่อภาษาต่างประเทศ ได้ถือกำเนิดสถาบันถงเหวินกว่านขึ้นมา แต่ช่วงนั้นถูกโจมตีจากคนชาติเดียวกันเป็นอย่างมาก จากนั้นเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นจนเมื่อในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.2004 สถาบันขงจื่อแห่งแรกของโลกได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาเหลี

ตัวอย่างในหนังสือ “เมื่อบูรพาผงาด” ในตอน “คดีหงเหรินฮุย”

อาจารย์ยังกล่าวอีกว่า จีนเป็นแบบอย่างทีดีในการ “ถีบตัว” เพื่อเรียนรู้ เราควรจะศึกษาเรียนรู้โลกของจีนให้ดี เพื่อจะได้เรียนรู้ทั้ง “จีน” และ “โลก” และเราไม่ได้เรียนภาษาจีนเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจีน แต่เรียนเพื่อเพิ่มความเข้าใจที่มีต่อจีน เพราะยิ่งเราเข้าใจภาษาจีนมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งสามารถเข้าถึงและเป็นอยู่ในโลกอนาคตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น เพราะสมัยนี้ จีนเป็นผู้นำในทุกๆ ด้าน
อาจารย์ได้ทิ้งท้ายเรื่องการแปลจีนไว้ว่า หลักวิชาการแปลของประเทศจีนนั้น ไม่เน้นทฤษฎีมาก แต่ให้ความสำคัญอย่างมากแก่การพัฒนาสัมพันธไมตรีฉันเพื่อนบ้านที่มั่นคง ถาวร กับประเทศต่างๆ เป็นสำคัญ

ด้านน้องนิจวิภา จิรภาส นักเรียนไทยที่ไปเรียนจีนตั้งแต่ประถมและมีความสามารถด้านการเขียนภาษาจีน สรุปความสำคัญของวิชาการเขียนไว้ดังนี้ 1. การเขียนช่วยให้มีอีคิวที่ดี ใช้ชีวิตแย่างมีสติและมองโลกในแง่ดี
2. สามารถใช้ทักษาะการเขียนสื่อสารได้ในระดับดีและถูกวิธี 3. สามารถฝึกให้คิดอย่างมีตรรกะ มีความคิดสร้างสรรค์ และ 4. ช่วยส่งเสริมศักยภาพของทักษะการอ่าน และยกระดับให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ที่สำคัญต้องเขียนให้มาก อ่านให้มาก ทำบ่อยๆ จะทำให้การเขียนมีประสิทธิภาพสูงสุด

อาศรมสยาม-จีนวิทยา มีการจัดบรรยายหัวข้อต่างๆ หลายรายการ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.อาศรมสยาม-จีนวิทยา.com หรือ Facebook : arsomsiam ทั้งนี้สามารถเข้ารับฟังข้อมูลดีๆ ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

น้องนิจวิภา จิรภาส นักเรียนไทยที่ไปเรียนจีนตั้งแต่ประถมและมีความสามารถด้านการเขียนภาษาจีน

เรียบเรียงและรายงาน: ยุพินวดี คุ้มกลัด