สัมมนา “เอเชียตะวันออกในปี 2018: จากที่ประชุมสมัชชาครั้งที่19 สู่ความเป็นมหาอำนาจโลกของจีน”

0
205
 (จากซ้าย) ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ รศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู และ ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “เอเชียตะวันออกในปี 2018: จากที่ประชุมสมัชชาครั้งที่19 สู่ความเป็นมหาอำนาจโลกของจีน” ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงค์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ให้ความสนใจทั้งจากภาครัฐ เอกชน รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังสัมมนา

งานสัมมนาแบ่งเป็นสองช่วงใหญ่ โดยเริ่มจากการให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสรุปสถานการณ์ปัจจุบันและวิเคราะห์แนวคิดของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และอาเซียน โดยเริ่มด้วยศาสตราจารย์ ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้บรรยายถึงประเทศจีนโดยเน้นในเรื่องข้อสรุปจากการประชุมสมัชชาครั้งที่ 19 และบทบาทของจีน โดยเปรียบเทียบสีจิ้นผิงเป็น “หงหลง” หรือ “มังกรสีแดง” หลังจากนั้นเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สหรัฐอเมริกาในฐานะเบอร์หนึ่งและผู้ที่เคยกำหนดทิศทางของโลก สหรัฐอเมริกาถูกนำมาเปรียบเทียบกับประเทศจีนมาโดยตลอด ซึ่งผู้นำคนปัจจุบันก็สร้างสีสันและทำให้โลกต้องจับตากับทุกย่างก้าว ทุกนโยบายที่ประกาศออกมา

ต่อด้วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ด้วยมุมมองจากประเทศแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ว่าญี่ปุ่นเคยมีแนวโน้มจะขึ้นมาเป็นผู้นำของเอเชีย ก่อนที่เริ่มถดถอยลง และน่าสนใจไม่น้อยที่ผู้นำคนปัจจุบันของญี่ปุ่นก็มีความรักชาติเข้มข้นไม่แพ้สีจิ้นผิง แต่ประวัติศาสตร์ที่มีต่อประเทศจีนก็เป็นที่น่าจดจำในเชิงลบอยู่ไม่น้อย ลำดับที่ 4 เป็นการวิเคราะห์ โดยศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศอินเดีย ระบุว่าอินเดียเป็นอีกประเทศในเอเชียที่มีประชากรจำนวนมาก และยังเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS หรือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายใหญ่ ซึ่งจีนเองก็อยู่ในกลุ่มประเทศนี้ด้วย

บรรยากาศภายในงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “เอเชียตะวันออกในปี 2018: จากที่ประชุมสมัชชาครั้งที่19 สู่ความเป็นมหาอำนาจโลกของจีน”

ลำดับถัดมาเป็นการวิเคราะห์มุมมองจากประเทศเกาหลีใต้ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นภดล ชาติประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแม้เกาหลีใต้จะไม่ใช่ประเทศที่มีอาณาเขตกว้างขวางแต่บทบาทของเกาหลีใต้ก็ยังคงมีอยู่ นอกจากจะเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญในเขตเอเชียตะวันออกร่วมกับจีนแล้ว เกาหลีใต้ยังเคยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน “สี่เสือแห่งเอเชีย” เพราะมีเศรษฐกิจเติบโตและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ลำดับสุดท้ายคือมุมมองจากกลุ่มอาเซียน โดยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากแยกอาเซียนออกเป็นส่วนเล็กๆ 10 ส่วนก็อาจจะไม่ค่อยน่าสนใจมากนัก แต่ประชาคมอาเซียนที่มีสมาชิกอยู่ด้วยกันถึง 10 ประเทศ แถมบางประเทศมีพรมแดนติดกับจีนเสียด้วย และยังตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 และเส้นทางสายไหมทางทะเลซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเสนอโดยประเทศจีน นอกจากนี้ ประชากรในกลุ่มอาเซียนก็ถือได้ว่ามีจำนวนมาก ทำให้เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญที่ต้องให้ความสนใจไม่น้อยไปกว่าประเทศมหาอำนาจอื่น

ความสัมพันธ์ของ 5 ประเทศที่กล่าวมา คือ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในเขตอาเซียนนั้นจัดได้อยู่ในความสัมพันธ์ประเภท “ทั้งรักทั้งเกลียด” คือมีส่วนที่คล้ายคลึงกันน่าจะไปด้วยกันได้ดี เช่น การมีพรมแดนติดกัน ความคล้ายกันทางด้านการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และในอีกแง่หนึ่งคือความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น เช่น ปัญหาด้านการเมือง ความขัดแย้งด้านดินแดน เป็นต้น

การผงาดขึ้นมาเป็นอันดับสองของโลกและมีแนวโน้มจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งในอนาคตข้างหน้าทำให้ทุกฝ่ายทั้งกังวล จับตามอง รวมถึงเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนกำลังเข้ามาปรับเปลี่ยนการกำหนดทิศทางของโลกในแบบใหม่ จากโครงสร้างเก่าที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างชาติหรือค่าเงินกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าจีนมีการตกลงกับบางประเทศโดยตรงให้ทำการค้าขายโดยใช้เงินหยวนหรือเงินสกุลท้องถิ่นทำให้เงินดอลล่าร์สหรัฐถูกลดบทบาทลง การก่อตั้งกลุ่มและโครงการน้อยใหญ่ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRICS)  หรือโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) การก่อตั้งสถาบันทางการเงินแห่งใหม่ เช่น ธนาคาร AIIB ไม่เพียงเท่านั้น การนำเสนอแนวคิด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “Belt & Road” เป็นอภิมหาโครงการที่จะเชื่อมจีนกับอาณาประเทศทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศสามารถติดต่อเชื่อมถึงกันได้ด้วยระบบคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำมา ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าแกนโลกกำลังหมุนเอียงมาทางเอเชียตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศมหาอำนาจรวมถึงอาเซียนเป็นแบบ “ทั้งรักทั้งเกลียด” ทำให้การจัดการกับความสัมพันธ์ค่อนข้างซับซ้อน อย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งกำลังถูกจีนสั่นสะเทือนบัลลังก์ ในการตอบโต้กับผู้ท้าทายนั้นก็มีความกอดคอประนีประนอมอยู่ด้วย ทางด้านจีนเองแม้จะแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่แถวหน้าแต่ก็ไม่ได้ต้องการให้สหรัฐอเมริกาล้มครืนไปต่อหน้าต่อตา เพราะต่างก็มีความสัมพันธ์และผลประโยชน์ต่างๆร่วมกันอยู่ แม้แต่ญี่ปุ่นเองที่มีประวัติศาสตร์ที่ไม่ลงรอยกับจีน แต่ในแง่เศรษฐกิจจีนก็ยังนำเข้าส่งออกค้าขายกับญี่ปุ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง หรือประเทศเล็กๆในอาเซียนอย่างเวียดนาม ที่มีพรมแดนติดกันแถมยังมีการปกครองแบบสังคมนิยมพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แต่เมื่อพูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ก็ยังเป็นปมที่แกะค้างอยู่ อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของจีนและเวียดนามมีความผ่อนคลายมากขึ้น การไปเยือนเวียดนามครั้งล่าสุดของสีจิ้นผิงนั่นเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าในความขัดแย้งก็ยังมีมิตรภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศยักษ์ใหญ่ยังคงซับซ้อนและพึ่งพิงกันทางเศรษฐกิจอยู่ คาดว่าประเทศเหล่านี้จะทำการรักษาความสัมพันธ์ต่อไปด้วยการประนีประนอม ในขณะที่ประเทศเล็กๆ ที่รวมถึงไทยด้วยนั้นคงไม่มีบทบาทอำนาจไปหยุดหรือยับยั้งการเดินหมากของมหาอำนาจเหล่านั้นได้ สิ่งที่พอทำได้คือการทำหน้าที่ของตนให้ดี รักษาเป้าหมายของประเทศและปรับสมดุลในความสัมพันธ์กับแต่ละมหาอำนาจอย่างเหมาะสม

เรียบเรียงและรายงาน:  อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿