การประชุมสองสภาและระบบการปกครองที่น่าสนใจของจีน

0
364
ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยอธิบายเกี่ยวกับการประชุมสองสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น ความสำคัญของการประชุม รวมถึงการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับประเทศไทย รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ประชุมสองสภาคืออะไร

ประเทศจีนจะมีสภาที่สำคัญมากสองสภาที่ใช้ในการปกครอง ได้แก่ NPC – The National People’s Congress คือ สภาประชาชนแห่งชาติ ถ้าเอามาเทียบเคียงกับประเทศไทย ระบบที่เรารู้จักกันก็คือ สภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนของ NPC จะเลือกมาจากตัวแทนของพรรคทั่วประเทศตามท้องถิ่นต่างๆ เป็นการเลือกตั้งพรรคเดียว เป็นตัวแทนของพรรคจากท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ มีหน้าที่ผ่านร่างกฎหมาย คล้ายๆ กับสภานิติบัญญัติ

อีกสภาหนึ่ง คือ CPPCC – Chinese People’s Political Consultative Conference หรือสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนซึ่งคือ ตัวแทนจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายพื้นที่ เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ กับผลประโยชน์ต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอยู่รวมกัน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ว่าจะมีพันธมิตรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ สภาที่ปรึกษาก็มีหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐบาล มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเชิงนโยบายต่างๆ เหมือนเป็นสภาที่ตรวจสอบรับรองสภาประชาชนแห่งชาติอีกทีหนึ่ง และทั้งสองสภานี้ร่วมกันตรวจสอบรัฐบาลจีนด้วย

ประเทศจีนนั้นใหญ่มาก การที่จะมีตัวแทนประชาชนหรือตัวแทนภาคส่วนมารวมกัน สภาเขามี 2,000 กว่าคน เป็นการประชุมสภาที่ใหญ่มาก และเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาก็ประชุมกันแค่ปีละครั้งเดียวเท่านั้น เพราะว่าคนเยอะมากและเรื่องเยอะมาก การประชุมของสองสภาใหญ่นี้ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เลยถือเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ที่สุดในการเมืองการปกครองสาธารณรัฐประชาชนจีนในแต่ละปีเลยทีเดียว และทั้งสองสภาจะมีแผนการประชุมต่างๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการนำเสนอหรือการวางแนวทางว่า ประเทศจีนรัฐบาลจีนควรจะดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไร

การประชุมสองสภาจะบอกแนวโน้มของนโยบายของจีนและสถานการณ์ในอนาคต

โดยทั่วไปเวลาที่เราศึกษาติดตามการเมืองจีนหรือนโยบายของรัฐบาลจีนทั้งหลาย เราจะชอบโฟกัสไปที่ตัวบุคคล เพราะมันง่ายกว่าที่จะรู้ว่าสีจิ้นผิงออกประกาศอะไรมาบ้าง หรือหลี่เค่อเฉียงประกาศอะไรออกมาบ้าง และคนเหล่านี้ที่อยู่ในรัฐบาลเป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอะไรทั้งหลาย แต่ว่าสภาใหญ่เหล่านี้ อย่างสองสภานี้ ก็มีความสำคัญที่จะรับรองสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าสองสภานี้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ดังนั้นแนวโน้มในปัจจุบัน คิดว่าน่าจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่ว่าพูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าจะติดตามสิ่งที่ออกมาจากการประชุมสองสภา จะบอกแนวโน้มของนโยบายของรัฐบาลจีน แนวโน้มการพัฒนา และแนวโน้มสถานการณ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนสำหรับหนึ่งปีต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก กระทบกับเราทุกคนมาก จึงควรจะติดตาม แต่คิดว่ามีคนน้อยกว่า 1% ในประเทศนี้ที่รู้ว่าการประชุมสองสภาคืออะไร เราก็ต้องมาทำข่าวกันทุกปี เขาก็ประชุมกันทุกปี และเราก็ต้องอธิบายว่าคืออะไร

ประชุมสองสภา ส่วนหนึ่งคือการแสดงพลังเสียงของประชาชนจีน

คนที่อยู่ในการประชุมนั้นมีตัวแทนจากที่ต่างๆ คอยดูว่าตัวแทนเราจะพูดอะไรหรือเปล่า มีแผนอะไรที่เกี่ยวข้องกับบ้านเราไหม เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนเรียกว่าประชาธิปไตยประชาชน ประชาธิปไตยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแนวคิดว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตก ไม่ใช่ประชาธิปไตยจริงๆ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วเมื่อเลือกตั้ง คนรวยก็ชนะตลอด คนจน คนชายขอบ ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียง เพราะเหตุว่าไม่มีเงินไปสมัครเลือกตั้ง ไม่มีเงินไปมีอิทธิพลกับนักการเมือง

ดังนั้นจีนตั้งแต่สมัยยุคเหมาบอกว่า ประชาธิปไตยของประชาชน คือ ต้องเลือกเอาตัวแทนจากคนทุกภาคส่วนออกมา คือทุกคนต้องมีสิทธิ์เสียงในสภา ถึงแม้ว่าเสียงของทุกคนจะมาจากพรรคคอมมิวนิสต์เสียงเดียวเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในทุกจังหวัด ทุกหมู่บ้าน และเขาก็บอกว่า การที่เขาสามารถเอาตัวแทนของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่อยู่ในทุกจังหวัดทุกหมู่บ้านมาอยู่รวมกันได้ ทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิ์มีเสียง และนี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งก็เป็นเรื่องโต้เถียงกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่าใช่หรือไม่ แต่ว่าประเด็นก็คือ ในความเป็นประชาธิปไตยประชาชนของจีน และการประชุมสองสภานี้ คือการแสดงออกของประชาธิปไตยประชาชนอย่างชัดเจนมากที่สุดในรอบหนึ่งปี เพราะว่าคือเสียงจากตัวแทนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และทุกภาคส่วน เราจะได้ฟังเสียงที่คิดว่าน่าจะใกล้เคียงของประชาชนมากที่สุด

ขยายความประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีการใช้กันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นที่ สปป.ลาว หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรืออย่างเกาหลีเหนือ DPRK : Democratic People’s Republic of Korea เขาก็บอกว่าเขาเป็นประชาธิปไตยประชาชน ซึ่งก็อธิบายได้คือ มีตัวแทนของประชาชนของทุกภาคส่วนจริงๆ ไม่มีคนถูกทำให้เป็นคนชายขอบ (marginalized) คือไม่มีคนชายขอบ เพราะว่ายากจนหรือเป็นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเขาก็อธิบายว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่า เป็นเสียงประชาชนมากกว่าระบบเลือกตั้ง

เป้าหมายของจีนภายใน 2020 คือให้ประชาชนเป็น “เสี่ยวคัง” รายได้ปานกลาง (ที่มาภาพ: http://bit.ly/2oLSMSC)

ผลกระทบมีทั้งทางตรงและทางอ้อม

มีมากๆ (อ.วาสนาเน้นเสียง) เรื่องที่คาดว่าจะคุยกันในการประชุมสองสภานี้ โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ก็มีประเด็นหลากหลายที่กระทบเราทั้งทางตรงและทางอ้อม สิ่งหนึ่งที่โดนใจมากที่สุด จำได้และนึกถึงอันดับแรก เพราะพึ่งประสบมา คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาใหญ่มากเรื่องหนึ่งของจีน เกิดภาวะหมอกควันหรือหมอกพิษที่มันปกคลุมเมืองใหญ่ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะเคยได้ยินแต่ว่าปักกิ่งมีปัญหา แต่หลังๆ เมืองใหญ่อื่นๆ ก็เริ่มจะมีปัญหาหมอกพิษนี้ เหมือนเช่นกรุงเทพฯที่ประสบมา อันนี้ก็เลยเป็นเหตุให้รัฐบาลจีนจะต้องเร่งจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะกระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่ของคนจริงๆ

ที่น่าสนใจมากคือช่วงตลอด 10 – 20 ปีที่ผ่านมา เรามักจะรู้สึกว่าจีนเป็นประเทศที่มีรถยนต์เยอะมาก สร้างมลพิษต่างๆ เยอะมาก และสินค้าที่ผลิตมาจากจีนก็ไม่ค่อยใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเท่าไร แต่ว่า ณ จุดนี้มันกำลังกระทบกระเทือนประชาชนเขาโดยตรง และประชาชนก็กำลังโวยวาย ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องพยายามจัดการอะไรบางอย่าง ดังนั้นในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา จีนมีนโยบายทางสิ่งแวดล้อมที่แข็งกร้าว (aggressive) มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก คือเราจะคิดว่า พลังงานสะอาดทั้งหลายเป็นเรื่องของเยอรมนี เป็นเรื่องของประเทศในยุโรป แต่ว่าจริงๆ แล้วในช่วง 2 – 3 ปีที่ ผ่านมารัฐบาลจีนให้ความสำคัญในด้านนี้จริงๆ

การจัดการหมอกพิษในเมืองจีนอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเมืองเราโดยตรง แต่ว่าน่าสนใจที่จะดูว่าเขามีนโยบายจะจัดการและแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะว่าประเทศเราเมื่อก่อนมีแต่เชียงใหม่ มีแต่ทางเหนือ เราอยู่ในกรุงเทพก็ไม่ค่อยจะรู้อะไรเท่าไร แต่ตอนนี้เราเจอกับตัวเองแล้ว และรัฐบาลจะทำอย่างไร เคราะห์ดีฝนตกน้ำท่วมอะไรก็อาจจะดีขึ้นนิดหน่อย นี้เป็นแค่อันแรก ที่สำคัญอันอื่นๆ จะเป็นความสำคัญในทางอ้อม แต่ก็อ้อมไม่ไกลเท่าไร เช่น ปัญหาสองเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ ปัญหาการผลิตในด้านการเกษตรและปัญหาความยากจน รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่าจะภายในปี 2020 จะทำให้จีนเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลาง ก็คือกำจัดความยากจนออกไป แต่ประเทศเราเร็วกว่า ท่านสมคิดบอกว่าปีนี้ ประเทศไทยจะไม่มีคนจน แต่จีนบอกว่าปี 2020 เขาไม่อยากมีคนจนแล้ว ซึ่งความยากจนส่วนใหญ่เป็นความยากจนในภาคเกษตร ในชนบทต่างๆ

คลิกชมรายการ On View คน คุย ความคิด ep.12 “จับตาการประชุมสองสภาของจีน”

แก้ปัญหาความยากจนด้วยการจัดการกับพื้นที่ในชนบท

มีประเด็นอีกอย่างหนึ่งในการพยายามแก้ไขความยากจน คือ การจัดการกับพื้นที่ในชนบท เพราะว่าในชนบทของจีนมีปัญหา ภาคเกษตรของจีนมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือ ในหลายๆ พื้นที่ผลิตได้มากเกินไป ได้มากเกินความต้องการ ผลผลิตออกมาล้นตลาด คือฟังปัญหาของจีนแล้วรู้สึกว่าคุ้นมากเลย คือคุณเป็นภาคเกษตร และคุณก็ผลิตออกมาได้เยอะมาก เสร็จแล้วไม่รู้จะส่งไปขายที่ไหนหรือส่งไปขายเต็มที่แล้วก็ยังล้นตลาดอยู่ และราคาก็ปรับต่ำ พอราคาต่ำเกษตรกรก็ยากจน คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี

รัฐบาลมีความพยายามที่อยากจะปรับปรุงพื้นที่ในชนบทให้กลายเป็นภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พยายามที่จะชักนำประชาชนออกมาจากภาคเกษตร ออกมาทำอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้มูลค่าของสินค้าการเกษตรที่ผลิตได้เพิ่มมูลค่าขึ้นไป เพื่อให้รายได้สูงขึ้น แล้วก็ให้สินค้าที่ผลิตออกมาเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าการเกษตรล้นตลาด ดังนั้นก็มีการวางมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะขยายภาคอุตสาหกรรมไปในชนบทให้มากขึ้น

จีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เราเคยได้ยินนโยบายลูกคนเดียวของจีนซึ่งพึ่งได้ยกเลิกไป จีนอยู่ภายใต้นโยบายลูกคนเดียวเป็นเวลา 10 กว่าปี ดังนั้นจีนก็กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างร้ายแรงมาก เพราะว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ทุกคนเป็นลูกคนเดียวหมด จะต้องแบกรับภาระดูแลปู่ย่าตายายรวมทั้งลูกหลานของตัวเองด้วย ซึ่งในภาคเกษตรในชนบทที่ต้องการแรงงานมากกว่า ก็จะมีปัญหาที่หนักกว่าในเมือง

จริงๆ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีประเด็นคล้ายๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป คือแรงงานจากชนบทหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น ดังนั้นแรงงานที่จะทำงานในภาคเกษตรในชนบทเลยน้อยลงหรือขาดแคลน แล้วก็มาสร้างปัญหาอื่นๆ ในเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการว่างงาน ปัญหาสังคมต่างๆ ซึ่งเขาก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการให้คนในชนบทอยู่ในชนบท แต่ย้ายจากภาคเกษตรเป็นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

ตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจตอกย้ำความสำเร็จของรัฐบาลจีนอีกอันหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือรัฐบาลจีนได้ประกาศว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโต 6.5% สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องจีนเท่าไร จะรู้สึกว่าเศรษฐกิจเติบโต 6.5% นี้สูงมาก เพราะว่าทั่วไป ก็มีที่เศรษฐกิจไม่โต ไม่ก็ติดลบ หรือโต 1-3% ก็เยอะแล้ว แต่ถ้าท่านติดตามเรื่องของจีนจะเห็นว่าในทศวรรษที่ผ่านมา จีนประกาศตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสองหลักเสมอ ซึ่งแทบจะไม่น่าเชื่อเลยแต่ว่ามันก็เป็นเช่นนั้นมาเรื่อยๆ และก็พูดจริงๆ ว่าอันนี้ก็เป็นความชอบธรรมหลักของรัฐบาลจีนว่า ฉันจะอยู่แนวหน้าจะเป็นผู้นำได้ เพราะว่าฉันทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ไม่มีใครทำได้เติบโตมากที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่องและก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีแนวโน้มที่จะนำหน้าสหรัฐอเมริกาได้ด้วย และเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา อันนี้คือความชอบธรรมของรัฐบาลจีนในยุคหลังจากปฏิรูปและเปิดประเทศ ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลจีนเป็นรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ก็จริง แต่ว่าในวิธีการบริหารประเทศต่างๆกลายเป็นทุนนิยมเยอะมากแล้ว

หลายๆ คนก็ว่ายากมาก คาดหวังสูงมาก มั่นใจในตัวเองสูงเหลือเกิน หากมันไม่ถึง 6.5% คุณจะอธิบายความชอบธรรมของคุณอย่างไร และก็ตอนนี้ประชาชนชาวจีนก็คุ้นเคยกับคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้น คุ้นเคยกับอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นของตัวเอง เขาคาดหวังว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ และในขณะเดียวกันประชาชนที่อยู่ในชนบท อยู่ในภาคเกษตรก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการคุยกันในเรื่องนี้ว่าจะจัดการอย่างไร

นักท่องเที่ยวจีนช่วยสร้างรายได้หลักส่วนหนึ่งของไทย

ไทย-จีน: ผลกระทบที่เชื่อมโยงกันอยู่หลายด้าน

ทีนี้เรื่องก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนไทยเหมือนกัน เพราะว่าเราเริ่มจะได้รับผลกระทบจากนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของทุนจีนเข้ามาในภูมิภาคอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือประเด็นเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน

ประธานเหมาบอกว่า ผู้หญิงแบกโลกไว้ครึ่งหนึ่ง แบกท้องฟ้าไว้ครึ่งหนึ่ง แต่ในประเทศไทยของเรานักท่องเที่ยวจีนแบกเศรษฐกิจไทยไว้มากกว่าครึ่งหนึ่งของท้องฟ้า และคำถามก็คือว่าถ้าเศรษฐกิจจีนถดถอย ถ้านักท่องเที่ยวไม่มาไทยแล้ว และใครจะมาแบกเศรษฐกิจของประเทศเรา ดังนั้นในแง่ของความอยู่รอดของหลายๆ ภาคส่วนที่สำคัญมากของประเทศนี้ มันอ้างอิงอยู่กับความเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นเราต้องดูดีๆ ว่าเขายังคงรวยขึ้นต่อไปไหม

โดย: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿