สังคมนิยมสมัยใหม่แบบจีน กับบทบาทในฐานะมหาอำนาจโลก

0
3401

“อย่าปลุกให้จีนตื่นจากนิทรา พสุธาจะสะเทือน” จักรพรรดินโปเลียน แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสกล่าวไว้

เมื่อไม่นานมานี้มีงานสัมมนาเกี่ยวกับทิศทางของมหาอำนาจฟากฝั่งตะวันออกอย่างจีน ในหัวข้อ “เอเชียตะวันออกในปี 2018: จากที่ประชุมสมัชชาครั้งที่19 สู่ความเป็นมหาอำนาจโลกของจีน” จัดโดยศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอได้ยินประโยคข้างต้นจาก ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีน จึงสงสัยว่ามันจะขนาดนั้นเชียวหรือ

ดร.จุลชีพ อธิบายการปกครองของจีนว่า จีนเป็น 1 ใน 5 ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เหลืออยู่ในโลกนี้ ฉะนั้น ระบอบการเมืองจะไม่เหมือนประชาธิปไตยที่เรารู้จัก คือเป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบบเศรษฐกิจต่างๆ มีการวางแผนและควบคุมจากส่วนกลาง (Centrally Control Economy ทั้งนี้ นับตั้งแต่ เติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมามีบทบาทก็ได้มีการปฏิรูป ทำให้จีนมีระบบเศรษฐกิจแบบไฮบริด หรือแบบกึ่งคอมมิวนิสต์ เพราะได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยการนำเข้ากลไกตลาดเข้ามาผสมผสานเป็น Market Socialism หรือที่จีนใช้คำว่า Socialism with Chinese Characteristics คือสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีนนั่นเอง

ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีน

ภายใต้ระบบนี้ ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนไม่เพียงแต่ได้รับการอนุญาติ ยังได้รับการส่งเสริมด้วย แต่รัฐบาลยังคงควบคุมแขนงอาชีพสำคัญที่เกี่ยวพันถึงชีพจรทางเศรษฐกิจแห่งชาติ เช่น การคลัง การธนาคาร การโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังถือการแข่งขันภายในวิสาหกิจและระหว่างวิสาหกิจเป็นส่วนประกอบสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยกลไกนี้ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความแข็งแกร่งพอที่จะสามารถผลักดันให้จีนเข้าไปมีบทบาทบนเวทีโลกได้ในที่สุด

ที่ผ่านมาตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนขยายตัวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่อเมริกา ถึงแม้ปีล่าสุดคาดว่า GDP จีนจะชะลอตัวเติบโตที่ 6.5% แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก

ดร.จุลชีพ บอกว่า บทบาทของจีนในอนาคตที่ชัดเจนคือ ต่อไปจีนจะมีความแข็งขันมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ เพราะจีนมีความมั่นใจในตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องแล้ว ซึ่งก็มาจากการที่จีนสามารถฟันฝ่าวิกฤติหลายอย่างมาได้ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียที่เกิดขึ้นปี 2540 หรือที่เราเรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” รวมทั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกาที่ประเทศต่างๆ มีปัญหากันหมด แต่จีนก็สามารถฟันฝ่ามาได้

มากกว่านั้นจีนได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาจีนได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” โครงสร้างเศรษฐกิจได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล และผลงานด้านเทคโนโลยีมากมาย เช่น รถไฟความเร็วสูง โดรนส่งสินค้า รถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาพลังงาน

ที่สำคัญคือภายใต้การนำของสีจิ้นผิง จีนได้นำเสนอข้อริเริ่มนโยบายมากมาย เริ่มตั้งแต่ “ความฝันของจีน”  ตามมาด้วย “One Belt One Road” นำเสนอเรื่องเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม เชื่อมโยงจีนกับด้านตะวันตก รวมทั้ง Maritime Silk Road หรือเส้นทางสายไหมทางทะเล ก็คือความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง ทั้งนี้ จีนไม่ได้เสนอเพียงแต่โครงสร้างการเชื่อมต่อทางสัญจร (Transpiration Connectivity Structure) ยังเสนอ Financial Structure หรือโครงสร้างทางด้านการเงิน ซึ่งก็คือธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB : Asian Infrastructure Investment Bank) ซึ่งน่าคิดว่าในเมื่อก็มี IMF อยู่แล้ว มี World Bank อยู่แล้ว จะตั้ง AIIB ขึ้นมาทำไม นั่นแสดงว่าจีนไม่ค่อยพอใจกับโครงสร้างด้านการเงินโลกที่เป็นอยู่ ที่สำคัญจีนสามารถดันสกุลเงินหยวนให้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตะกร้าสกุลเงินเอสดีอาร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้

“จีนคิดว่าระเบียบโลกที่เป็นอยู่เป็นระบบที่อเมริกาสร้างขึ้นมา (Anglo-American World Order) ไม่เป็นธรรมกับหลายๆ ประเทศ รวมทั้งจีนด้วย แม้ว่าจีนเคยได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ก็ตาม เพราะฉะนั้นจีนจะเป็นผู้สร้างกติกาหรือผู้ที่ปรับกติกา และเราเริ่มเห็นแล้วว่าจีนเริ่มทำแบบนี้มากว่า 10 ปีที่แล้ว เมื่อจีนไปเจรจากับประเทศต่างๆ ว่าการค้าไม่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ก็ได้ ใช้เงินท้องถิ่นก็ได้ ใช้เงินหยวน เงินบาท เงินริงกิต หรือเงินปอนด์ก็ได้”

บรรยากาศงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “เอเชียตะวันออกในปี 2018: จากที่ประชุมสมัชชาครั้งที่19 สู่ความเป็นมหาอำนาจโลกของจีน”

 สำหรับบทบาททางด้านการเมืองที่จีนกำลังสร้างบนเวทีโลก เช่น การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศกลุ่ม BRICS ประกอบด้วย 5 ประเทศกำลังพัฒนาหรือเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งจีนกำลังสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้มองแค่ 5-10 ปีข้างหน้า แต่จีนมองระยะยาว จริงๆ ก็คือโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมือง เป็นระเบียบโลกแบบจีน หรือ China-Centric World Order ซึ่งรวมทั้งข้อตกลงอื่นๆ อาทิ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO-Shanghai Cooperation Organization) และกลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง(LMC) ด้วย

จะเห็นได้ว่าบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศ จีนจะเน้นการพัฒนาด้านต่างๆ ไปด้วยกัน เป็นเสมือนพันธมิตรโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้จะมีข้อครหาว่าจีนกำลังขยายอำนาจ เอารัดเอาเปรียบประเทศคู่ค้า แต่หากมองให้ลึกลงไป นโยบายที่จีนกำลังเดินอยู่สุดท้ายแล้วก็จะ Win-Win กันทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ดร.จุลชีพ ให้ความเห็นว่า “ตอนนี้เราเห็นระเบียบโลก 2 ระเบียบกำลังคู่ขนานซึ่งกันและกัน ก็คือ Anglo-American World Order คู่ขนานไปกับ China-Centric World Order ถามว่าแล้วอะไรจะเกิดขึ้น นักวิชาการตะวันตกก็บอกว่ามันจะมีลักษณะการรบกัน คือขัดแย้งกันเรื่อยๆ แต่ผมไม่มองแบบนั้น ขอมองเหมือนเต๋า โดยคิดว่าจีนกับอเมริกา มีความสัมพันธ์เหมือนกับหยิน-หยาง มันจะอยู่กันแบบนี้ไปหลายสิบปี เพราะว่าถึงจีนจะเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ และอเมริกาอาจจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านทหาร ด้านเทคโนโลยี ด้านความคิด แต่เขาก็ยังเป็นที่หนึ่งอยู่ เพราะฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้นเราต้องดูว่า 5 ปีข้างหน้าสีจิ้นผิงจะพาจีนไปในทิศทางไหน มันมี 2 ทิศทางก็คือ ทางสว่างกับทางมืด”

ทั้งนี้ ล่าสุด (11 มี.ค. 2561) ในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ NPC (National People’s Congress) ครั้งที่ 13 หรือการประชุมสองสภา มีมติให้สีจิ้นผิงสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีพ หรือจนกว่าเจ้าตัวจะสละตำแหน่ง นั่นหมายความว่าขณะนี้การเมืองจีนกำลังเข้ารูปเข้ารอย เป็นช่วงที่มีเสถียรภาพสูงสุด จึงต้องการความต่อเนื่องในการรับมือกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม รวมทั้งการต่างประเทศเพื่อให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในศตวรรษที่ 21

“สิ่งที่คาดหวังคืออยากให้จีนเป็นรัฐที่ประเสริฐ คือ รัฐที่ช่วยเหลือตนเองเข้มแข็งแล้ว ยิ่งใหญ่แล้ว ดูแลคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่นด้วย” ดร.จุลชีพ ทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก:
https://thaipublica.org/2017/11/eic-note-1-11-2560/
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643570

โดย ณจักร วงษ์ยิ้ม