คลังสมองจีนบรรยาย “เส้นทางการพัฒนาของจีนและความหมายทางสากล”

0
325
(จากซ้ายไปขวา) ศ.จางซีเจิ้น จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.จาง เหวยเวย ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน และดำเนินรายการโดย พันเอก ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน

เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจระหว่างจีน-ไทยและเพิ่มพูนมิตรภาพอันดีระหว่างกัน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ได้จัดงานบรรยายและสัมมนาวิชาการเรื่อง “เรียนรู้ประเทศจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างจีนไทย เส้นทางการพัฒนาของประเทศจีนและความหมายทางสากล”เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์วัฒนธรรมจีน โดยจัดร่วมกับศูนย์การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตจีนและศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีน

งานบรรยายและสัมมนาครั้งนี้ ได้เรียนเชิญศาสตราจารย์จาง เหวยเวย ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น กรรมการสภาคลังสมองระดับสูงแห่งประเทศจีน ผู้เคยทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาอังกฤษสำหรับท่านประธานเติ้ง เสี่ยวผิงและผู้นำระดับประเทศของจีนอีกหลายท่านในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 มาบรรยายในหัวข้อเรื่อง“เส้นทางการพัฒนาของประเทศจีนและความหมายทางสากล” ส่วนตัวแทนผู้บรรยายฝ่ายไทยคือ พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน บรรยายในหัวข้อเรื่อง “มุมมองของไทยต่อการพัฒนาของจีน”

พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน

เนื้อหาในการบรรยายจะเริ่มจากประวัติศาสตร์โดยมีการเปรียบเทียบมุมมองจากนานาชาติ กล่าวถึงผู้นำที่มีบทบาทโดดเด่นของจีน ไล่มาจนถึงจีนในยุคปัจจุบัน มีเรื่อง 4 เรื่องที่จีนเป็นผู้นำของโลก คือ ชอปปิ้งออนไลน์ อาลีเพย์ จักรยานแชร์ใช้ และรถไฟความเร็วสูง การให้ความหมายหรือการตีความหมายในแบบจีนและตะวันตกที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่การใช้ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่เหมือนกับทางยุโรป ซึ่งจะมุ่งไปที่การมีฝ่ายหนึ่งได้ชัยชนะและอีกฝ่ายต้องพ่ายแพ้ แต่สำหรับจีน แนวคิด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” คือการได้ชัยชนะร่วมกัน หรือ “วิน-วิน” นั่นเอง

ศาสตราจารย์จาง เหวยเวย ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น

 

ในช่วงท้ายงานได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ร่วมซักถามและแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ โดยสังเกตได้ว่าหัวข้อที่ถามจะมีครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์ สังคม ศาสนา และเศรษฐกิจ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าจีนและไทยมีความผูกพันและเชื่อมโยงกันในหลากหลายมิติ

สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ ”จีนศึกษา” และความร่วมมือด้านคลังสมองและวิชาการไทย-จีน สามารถติดตามร่วมงานสัมมนาวิชาการประจำปีที่ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีนและมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในช่วงสิงหาคมปีนี้

แขกพิเศษที่เข้าร่วมงานถ่ายภาพร่วมกัน

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿