บิ๊กป้อมดันแผนแม่บทแร่เข้า ครม.

0
444

บิ๊กป้อม”รับลูกกระทรวงทรัพยากรฯ  ชงแผนแม่บท 5 ปีและยุทธศาสตร์แร่ 20 ปีเข้าครม.  ภาคเอกชนรอความหวังประกาศใช้เพื่อปลดล็อกพ.ร.บ.แร่หลังธุรกรรมหยุดชะงักมานานปี

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แจ้งผลการพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี(พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 กลับไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2561 แล้ว  แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า  ล่าสุดพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งคาดว่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในเร็วๆนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างทั้งระบบ

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสภาการเหมืองแร่  สมาคมอุตสาหกรรมย่อยหินไทย  สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน  และชมรมสินแร่อุตสาหกรรมและวัสดุก่อสร้าง  ได้มีการจัดสมนาหัวข้อ “สัญญาณเตือน…เมกะโปรเจ็กต์ไทยและอุตสาหกรรมก่อสร้าง” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 แล้วได้สรุปข้อมูลการสัมมนาพร้อมรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อรัฐบาลถึงผลกระทบหลังการประกาศใช้พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2560  โดยเฉพาะผลในการต่ออายุประทานบัตร และขอประทานบัตรใหม่ไม่ได้  ทั้งนี้เพราะความล่าช้าในการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ 5 ปีดังกล่าว  ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขอาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่ต้องใช้วัสดุก่อสร้างต่างๆจำนวนมาก

แหล่งข่าวกล่าวว่าปัญหานี้เป็นที่รับรู้ในระดับรัฐบาลโดยเฉพาะใน 3 กระทรวงหลักซึ่งประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  หรือแม้แต่กระทรวงคมนาคมที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องแต่เป็นฝ่ายได้รับผลกระทบเพราะเป็นเจ้าของเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคม อาทิ รถไฟทางคู่  รถไฟความเร็วสูง  มอเตอร์เวย์  ท่าเรือน้ำลึก  การขยายและปรับปรุงสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ฯลฯ

นอกจากนี้นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.)ให้พิจารณาทบทวนถึงการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวิธีปฏิบัติในการทำเหมืองแร่ในที่ดิน สปก.อีกด้วย

กรณีนี้แหล่งข่าวสภาการเหมืองแร่ให้ความเห็นว่า  ฝ่ายผู้ประกอบการเหมืองแร่และผ้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างรอคอยด้วยความหวังว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ 5 ปี มีผลบังคับใช้ทันทีเพื่อให้กระบวนการที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น  เช่น เรื่องโซนนิ่ง หรือการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของวัสดุก่อสร้างต่อโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและระบบโลจิสติกส์