เส้นทางสายไหมของจีนกับการเดินหน้ากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

0
239

คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จัดงานสัมมนาพิเศษก้าวเข้าสู่ 70 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ: “เส้นทางสายไหมของจีนกับการเดินหน้ากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT)”

ในวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561
เวลา 13.00-16.30 น.
ณ ห้อง LA107 ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กล่าวต้อนรับโดย รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาิวทยาลัยธรรมศาสตร์

กล่าวเปิดงานโดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

กล่าวปาฐกถาพิเศษ “เส้นทางสายไหมกับโอกาสของประเทศในกลุ่ม CLMVT” โดย นางหยางหยาง ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารนิเทศ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

ต่อด้วยการเสวนาเรื่อง “การเติบโตของ CLMVT โอกาสและความท้าทาย”

โดย

1.ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์
และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2.คุณเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี

3.คุณสวี เกินโหลว กรรมการผู้จัดการใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมระยองไทยจีน

4. อ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง (Dr.Li Renliang) ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ดำเนินการเสวนาโดย
อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

One Belt One Road กับการเดินหน้าของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT)

ในวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ได้จัดงานสัมมนา One Belt One Road กับการเดินหน้าของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT) ณ ห้อง LA107 ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และคุณชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เป็นผู้กล่าวรายงาน

ในการจัดงาน คุณ หยาง หยาง ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารสนเทศสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “One Belt One Road กับโอกาสของประเทศในกลุ่ม CLMVT” โดยได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของ One Belt One Road ว่าในปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วม 103 ประเทศ มูลค่าการค้าขายที่เกิดขึ้นมีกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยหัวใจหลักของยุทธศาสตร์นี้ คือ การเติบโตร่วมกันของทุกประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการที่ทุกประเทศเข้าใจแนวคิดของ One Belt One Road ว่าเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อผลประโชน์ร่วมกันทางด้านการค้า การลงทุน และการเชื่อประสานกันของระบบการเงิน สำหรับการเติบโตของ CLMVT นั้น ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นคู่ค้าหลักโดยมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐใจปี 2555 เป็น 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 70% ประเทศจีนมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประเทศใน CLMVT ให้เติบโตไปพร้อมกับการเติบโตของประเทศจีน ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการค้าและการลงทุน เช่น การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาธุรกิจ E-Commerce การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการใช้ Big Data และ Cloud การผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทางศุลกากร โดยประเทศจีนหวังว่า ประเทศในกลุ่ม CLMVT และประเทศบนเส้นทาง One Belt One Road มีความเข้าใจหลักการของ One Belt One Road แล้วจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายนี้ร่วมกันให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง

ในช่วงการเสวนา ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงนโยบาย One Belt One Road ว่า CLVM มีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะมีมูลค่าการค้าขายประมาณ 11% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 7%-8% ต่อปี ด้วยทิศทางเช่นนี้ ประกอบการนโยบาย One Belt One Road การค้าของไทยกับประเทศจีนและประเทศในกลุ่ม CLMV จะเปลี่ยนจากการค้าชายแดนไปเป็นการค้าข้ามพรมแดน ความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินจะเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงสองด้าน ด้านแรกเกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศ CLVMT จะทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศจีนได้ง่ายขึ้น ด้านที่สองเป็นการเชื่อมโยงผ่าน E-Commerce ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นจะต้องยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อให้สามารถค้าขายได้ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทย

คุณสวี เกินโหลว กรรมการผู้จัดการใหญ่นิคมอุตสาหกรรมระยองไทยจีน กล่าวถึงเหตุผลที่นักธุรกิจจีนให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดี เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของ CLMVT อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยต้องการจะได้รับประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ก็ควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมให้มีความพร้อม สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ได้ สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการที่คนจีนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมในการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมา ประเทศจีนเองได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์จากประเทศไทยหลายเรื่อง เช่น การนำแนวคิดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับประเทศจีนได้ ประเทศไทยเองก็สามารถเรียนรู้จากประเทศจีนได้ในหลายเรื่อง เช่น การแพทย์แผนจีน หรือการพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

คุณเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท SCG ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสในการทำธุรกิจใน CLMV ว่าประเทศเหล่านี้ยังมีศักยภาพสูงและอยู่ใกล้กับประเทศไทย เป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปทำธุรกิจได้ สำหรับ SCG นั้น ก่อนจะไปลงทุนในประเทศไหน ต้องความเข้าใจตลาดนั้นให้ดีทั้งในแง่ของกำลังซื้อ รสนิยม วัฒนธรรมในการทำธุรกิจ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการหาพันธมิตรในพื้นที่เพื่อช่วยในการดำเนินการ โดยจะเน้นการจ้างงานคนในประเทศนั้นเป็นหลัก และมีตัวแทนจากประเทศไทยไปร่วมบริหารและดำเนินการเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หลักการเหล่านี้ช่วยให้ SCG สามารถทำธุรกิจต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว สำหรับนโยบาย One Belt One Road นั้น เป็นสิ่งที่ประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนไทย จึงควรทำความเข้าใจกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ดี เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่

ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กรุงเทพฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า หลักการสำคัญที่จะช่วยให้ไทยได้ร้บประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ได้อย่างเต็มที่ คือ การแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพราะนโยบายนี้จะกลายเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ การที่นักธุรกิจชาวจีนที่มาลงทุนในประเทศไทยก็เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่ นักธุรกิจจีนต้องทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมไทย จะได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมไทยได้ เพราะนักธุรกิจจีนก็ถือเป็นทูตสันติภาพของจีนเช่นกัน สำหรับแนวทางในการพัฒนากำลังคนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถได้ประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ควรเริ่มจากการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของจีนให้เข้าใจ ควบคู่ไปกับการมีหลักสูตรร่วมกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนา เช่น สาขาวิศวกรรม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

โดยในการเสวนาครั้งนี้มี ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา