เปิดทิศทางวิจัยยั่งยืนแนวใหม่ เน้นศึกษาถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก ในแง่การเงินและการค้า

0
333
UNITED NATIONS, April 4, 2019 (Xinhua) -- United Nations Deputy Secretary-General Amina Mohammed speaks during a press briefing on the 2019 Financing for Sustainable Development Report, at the UN headquarters in New York, April 4, 2019. Unless national and international financial systems are revamped, the world's governments will fail to keep their promises toward the sustainable development goals in the 2030 Agenda, a UN report said Thursday. (Xinhua/Li Muzi)

 

การวิจัยในหลายๆ ศาสตร์ของยุคนี้มีทิศทางการวิจัยที่เน้นสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้มีกลุ่มนักวิจัยจากหลายสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาร่วมกันจัดทำโครงการที่เกี่ยวกับงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move Thailand) ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมานั้นมีงานวิจัยและงานสัมมนาวิชาการที่เกี่ยวข้องกันเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยส่วนใหญ่จัดขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการศึกษาถึงสถานการณ์เรื่องนี้ในประเทศไทย และ เพื่อทำความความเข้าใจถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ และกลไกที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ทั้งนี้โครงการ SDG Move Thailand ได้ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดลำดับความสำคัญของเป้าประสงค์ที่อยู่ในกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายตามที่สหประชาชาติกำหนด

ดร. กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำสาขาการเงินและการลงทุนมหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงงานวิจัยชุดนี้ว่า “งานวิจัยชุดนี้เป็นการสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 17 ซึ่งเป้าหมายที่ 17 นั้นคือเรื่องของการเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for goals) และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก ในแง่การเงินและการค้า โดยการวิจัยนี้ได้อธิบายถึง ความแตกต่างของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 17 ว่าแตกต่างจากเป้าหมายอื่นๆ อย่างไร และสำคัญหรือเชื่อมโยงกับ เป้าหมายข้ออื่นๆ อย่างไร”

ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ จาก University of Birmingham สหราชอาณาจักร นักวิจัยในโครงการ ได้แสดงความเห็นว่า “ประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องศึกษาความเชื่อมโยงของเป้าหมายที่ 17 กับเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและนโยบาย ไปพร้อมกับการศึกษาสำรวจสถานะปัจจุบันของตัวชี้วัดและนโยบาย (เช่น มาตรการ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒน์ฯ) ที่เกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์ 17.1-17.5 (ความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ) และ 17.10-17.12 (ความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ) เพื่อประเมินความพร้อมของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายที่ 17 และทำความเข้าใจกับอุปสรรคหรือปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดลำดับความสำคัญของเป้าประสงค์ และการกำหนดนิยามของเป้าประสงค์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายที่เหมาะสมกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งด้านการเงินและการค้า และเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันของตัวชี้วัดและบริบทของประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถที่จะร่วมกันรวบรวบข้อมูล และนำไปใช้เป็นตัวติดตามประเมินความก้าวหน้าและสถานะของเป้าประสงค์ 17.1-17.5 และ 17.10-17.12”

รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ จาก Nottingham Trent University, สหราชอาณาจักร กล่าวต่อไปว่า “เป้าหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเงินและการค้า ตามเป้าหมายที่ 17 มีความสำคัญในการบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ของ SDG โดยนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเป้าหมาย SDG ทั้ง 17 เป้าหมายแล้ว ยังแสดงความสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศ เพื่อบรรลุตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยฉบับที่ 12 (2560-2564) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าประสงค์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความรุนแรง จนเริ่มส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในประเทศคู่กรณีและประเทศที่เป็นคู่ค้าของทั้ง 2 ประเทศ ความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศคู่ค้า (จีน ยุโรป แคนาดา เม็กซิโก) และความสั่นคลอนในกลุ่มอียูอันเนื่องมาจากการลาออกจากความเป็นสมาชิกของสหราชอาณาจักรที่กำลังจะถึงกำหนดเส้นตายในปี 2562 อาจส่งผลต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ทำให้งานวิจัยในประเด็นความร่วมมือทางการเงิน และการค้าระหว่างประเทศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ประเด็นในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด คำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ปรากฎอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒน์ฯ) ทุกฉบับ มาตั้งแต่ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) และยังปรากฎอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เพิ่งประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 แต่กระนั้น ความเป็นรูปธรรมของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒน์ฯ ยังปรากฎอยู่น้อยมาก ในทางกลับกัน เราเห็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยมาตลอด เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาขยะล้นประเทศ ปัญหาจราจรและมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงินและสังคม ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้นำเสนอวาระการพัฒนาหลังปี พ.ศ. 2558 ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย (Proposed goals) และ 169 เป้าประสงค์ (Proposed targets) รวมถึงตัวชี้วัด (Indicators) ของแต่ละเป้าประสงค์ ร่วม 232 ตัวชี้วัด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือติดตามสภาวะของการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งจะเป็นประหนึ่งแผนที่นำทางสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก โดยภายใต้กรอบเป้าหมายนี้ สมาชิกองค์การสหประชาชาติมีความเห็นร่วมกันว่า การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น ต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นใน 3 มิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ (Economic Dimension) มิติทางสังคม (Social Dimension) และมิติทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Dimension) โดยกำหนด 17 เป้าหมายไว้ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (No poverty)
เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ รวมถึงส่งเสริมเกษตรกรรมแบบยั่งยืน (Zero hunger)
เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันให้คนมีสุขภาพดี และส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนทุกวัย (Good health and well-being)
เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันให้ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Quality education)
เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจที่เท่าเทียมแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน (Gender equality)
เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันให้มีน้ำสะอาดใช้ และสุขอนามัยสำหรับทุกคน รวมถึงการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (Clean water and sanitation)
เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน (Affordable and clean energy)
เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน (Decent work and economic growth)
เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทีความทนทาน ส่งเสริมนวัตกรรมในทุกอุตสาหกรรม (Industry innovation and infrastructure)
เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายใน และระหว่างประเทศ (Reduced inequality)
เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและชุมชนมีความมั่นคง ปลอดภัย (Sustainable cities and communities)
เป้าหมายที่ 12 ส่งเสริมให้มีรูปแบบการบริโภคและการผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible consumption and production)
เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (Climate action)
เป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน (Life below water)
เป้าหมายที่ 15 ปกป้องฟื้นฟูและสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน (Life on hand)
เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ รับผิดรับชอบ ที่มีความครอบคลุมในทุกระดับ (Peace, justice and strong institution)
เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for goals)

UNITED NATIONS, July 20, 2018 (Xinhua) — China’s Permanent Representative to the United Nations Ma Zhaoxu (front) addresses the ministerial meeting of the High-level Political Forum on Sustainable Development, at the UN headquarters in New York, July 19, 2018. Ma said Thursday that the international community should remain committed to equitable, open, comprehensive and innovative development. (Xinhua/Li Muzi)