สถานีวิทยุโทรทัศน์มณฑลส่านซี กรณีศึกษาแปลงสื่อเก่าสู่ New Media

0
155

 

         China Report ASEAN หนึ่งในสื่อจีนที่เป็นกรรมการของสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน แจ้งมาว่าทาง China International Publishing Group : CIPG มีทริปเชิญสื่อไทยที่เน้นNew Media ไปศึกษาดูงานที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี และเมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน  ระหว่างวันที่ 15-20 กรกฎาคม 2562 โดยส่วนตัวแม้จะเคยไปซีอานหลายครั้งแต่ก็ยังไม่ทั่ว  ที่น่าสนใจคือซีหนิงนี่ยังไม่เคยไปสัมผัส  ได้ยินว่าธรรมชาติสวยงามมากจึงอาสาร่วมเดินทางอย่างไม่ลังเล

         เช้าวันแรกที่เมืองซีอานมีโปรแกรมไปดูงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์มณฑลส่านซี โดยนายเชียน จวิน รองผู้อำนวยการสถานี และฝ่ายบริหารของสถานีอีกหลายท่านร่วมต้อนรับและให้ข้อมูล   นายเชียนกล่าวว่าว่าสถานีวิทยุมณฑลส่านซีก่อนตั้งในปี 1949 ซึ่งเป็นปีที่ประธานเหมา เจ๋อ ตุง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน  

         ปี 1960 ตั้งสถานีโทรทัศน์  ปี 2011 ควบรวมวิทยุและโทรทัศน์  ปัจจุบันมีวิทยุ 10 ช่อง  โทรทัศน์ 10 ช่อง โทรทัศน์ดาวเทียม 2 ช่อง(ดาวเทียมส่านซี และดาวเทียมเกษตรกรรมและป่าไม้) มี IPTVหนึ่งช่อง  มีเว็บไซต์ CNWEST.COM ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลมณฑลส่านซีเปิดมาเกือบ 13 ปี มีเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ Discovery Shaanxi เน้นบริการชาวต่างชาติในส่านซีประมาณ 20,000 คน  มีช่องทาง New Media มากกว่า 200 ช่องทาง  โดยมีสมาชิก New Media มากกว่า 30 ล้านคน เฉพาะวีแชตมีคนรับข่าวสารอย่างน้อยนวันละ 15 ล้านคน     ขณะที่มีผู้ชมโทรทัศน์มากกว่า 5 ล้านครัวเรือน  

         รองผู้อำนวยการเชียน จวิน กล่าวว่า  การปรับตัวจากสื่อดั้งเดิมสู่ New Media นั้นดำเนินการตามนโยบายประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตั้งแต่ปี 2012 เป็นการเอารูปแบบสื่อใหม่มาเพิ่มบนสื่อเก่า ตอนนี้อยู่ในระยะผสมผสาน  สร้างแพลตฟอร์มที่เป็นอิสระให้ลงตัว คล่องตัว  ข่าวให้ลงถึงระดับอำเภอ มณฑลส่านซีมี 11 เมือง 107 อำเภอ  ปัจจุบันเข้าถึงเพียง 40 อำเภอ  แต่เป้าหมายภายใน 2 ปีจะดำเนินการให้ครบทุกอำเภอ

         เมื่อถามถึงพฤติกรรมผู้บริโภคข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงจนมีผลกระทบกลายเป็นวิกฤติสื่อเก่าดังเช่นที่สื่อไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน  นายเชียนตอบว่าจีนก็เหมือนสื่อไทย  อินเตอร์เน็ตทำให้การบริโภคสื่อเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ  ปี 2018 คนจีนใช้อินเตอร์เน็ต 800 ล้านคน โดย90% ใช้กับมือถือ  ผลกระทบสื่อสิ่งพิมพ์วิกฤติที่สุด  บทบาทลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ  เหลือน้อยมากที่อ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้า  สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวมาทำสื่อออนไลน์

         สื่อวิทยุช่วงหนึ่งซบเซาลงไปมาก  เมื่อคนจีนใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นการฟังวิทยุก็พลิกกลับมาฟื้นตัว  ในช่วง10ปีคนฟังข่าววิทยุเพิ่มขึ้นตามยอดขายรถยนต์ในจีน  ในยุคต่อไป 5 G อาจจะเป็นจุดจบของวิทยุ  อาจพลิกโฉมไปอีก  คาดว่าในปี2020จะเริ่มใช้5Gในจีนอย่างแพร่หลาย

         ส่วนโทรทัศน์แย่กว่าเพราะคนจีนดูจากเครื่องรับโทรทัศน์โดยตรงลดลง  จีนช่วงปี 2012-2013 เป็นช่วงพีคที่สุดเมื่อเข้าสู่ง4G ทีวีเริ่มรับผลกระทบ  แต่ละปีผู้ชมลดน้อยลง 20%

         แต่สื่อจีนต่างกับสื่อไทยเพราะส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณลงทุนแปรสภาพสื่อจากสื่อเก่าเป็นNew Media  โดยใช้งบอุดหนุนและรายได้จากการบริหารมาปรับสภาพ  แบ่งงบเป็นรายปีของมณฑลส่านซี  เฟสแรกลงทุน 50 ล้านหยวน(ประมาณ 224ล้านบาท)  ขณะเดียวกันสื่อระดับมณฑลเสมือนการผูกขาดจึงมีรายได้จากสปอนเซอร์เข้ามาหล่อเลี้ยงซึ่งตรงนี้ไม่ได้เปิดเผยว่ามากน้อยเพียงไร  จึงเป็นเรื่องที่น่าอิจฉาสำหรับสื่อไทยที่รับฟังข้อมูล  

         กิจกรรมหนึ่งของสถานีวิทยุโทรทัศน์มณฑลส่านซี ที่เชื่อมโยงมาถึงไทยคือการสร้างสรรค์สารคดี “เส้นทางสายไหม เดินไปในหมื่นลี้” เริ่มปี 2014 หรือทำมาแล้ว5ปี  เดินทางกว่า 38 ประเทศในระยะทางรวม 80,000 กิโลเมตร  แต่ละปีจะจัดขบวนคาราวานรถยนต์เดินทาง  มีทั้งสื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม สปอนเซอร์  เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆด้านวัฒนธรรม การค้า การลงทุน  ไปเอเชียกลาง ยุโรปมาแล้ว  ปีนี้จะมาอาเซียนโดยตั้งหัวข้อย่อย “เสน่ห์แห่งอาเซียน”  เพราะปีนี้รัฐบาลจีนประกาศให้เป็นปีแห่งความสัมพันธ์อาเซียน  ตามแผนจะเดินทางผ่านทางทะเลเป็นครั้งแรก  ต้นเดือนตุลาคม 2562 จากซีอานสู่อาเซียน ระยะทาง 20,000 กิโลเมตรใช้เวลา 60 วัน  คาราวานจะถึงไทยประมาณปลายเดือนตุลาคม 2562 ถึงเวลานั้นคงได้ร่วมต้อนรับและเผยแพร่กิจกรรมที่จะจัดในไทย

ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน