สืบ สรร สร้าง อย่างสร้างสรรค์

0
103

สถาบันไทยศึกษา ร่วมกับศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง สืบ สรร สร้าง อย่างสร้างสรรค์ : คุณูปการของ ‘ศิลปาชีพ’ ในการพัฒนาหัตถศิลป์ไทย ณ ห้อง Riverside โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งนำเสนอข้อมูลความรู้และเสวนาถ่ายทอดเรื่องความประทับใจเกี่ยวกับ ‘ศิลปาชีพ’ ผ่านมุมมองของนักวิชาการ และสมาชิกศิลปาชีพชั้นครูในด้านการทอผ้าไหม การแกะสลักไม้ และการจักสานย่านลิเภา

ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ยิ่งใหญ่ไพศาลและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ได้พระราชทานกำเนิด ‘ศิลปาชีพ’ และภายหลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ‘ศิลปาชีพ’ ได้สร้างคุณูปการมากล้นต่องานด้านหัตถศิลป์ไทย นับเริ่มจากการทำให้เกษตรกรที่มีฐานะยากจนในพื้นที่ชนบทห่างไกลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศตระหนักในความสำคัญของภูมิปัญญาและศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการนำเกษตรกรมาฝึกฝนในงานศิลปหัตถกรรมเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้แก่ครัวเรือน ไปจนกระทั่งยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นผู้มีฝีมือชั้นครู ซึ่งสามารถสร้างผลงานชั้นเลิศและถ่ายทอดวิชาความรู้ในศิลปหัตถกรรมแขนงที่ตนถนัดให้แก่ผู้อื่นได้ต่อไป และในขณะเดียวกัน ‘ศิลปาชีพ’ ก็ได้รังสรรค์ศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความงดงาม ละเอียดประณีต และก้าวไกล จนได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ศิลปาชีพ’ ได้สืบสานรักษางานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดินอีกด้วย

‘ศิลปาชีพ’ ได้ “ให้คุณค่าแก่ผู้ทำ และสร้างมูลค่าแก่ผลงาน” ซึ่งเป็นวิถีแห่งการสร้างสุข ผ่านงานหัตถศิลป์อย่างมีดุลยภาพ โดยไม่เพียงนำมาซึ่งความงดงามจากคุณลักษณะภายนอกในสายตาผู้ที่ชื่นชอบและผู้ที่ชื่นชมเท่านั้น หากแต่คุณลักษณะภายในที่สะท้อนออกมานั้น ได้แสดงให้เห็นถึงสายใยความผูกพันและการส่งทอดความสุขจากผู้ให้มายังผู้รับโดยปราศจากช่องว่าง ความสุขของผู้รับไม่เพียงจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น หากทว่าจากการได้รับโอกาส การยอมรับ และความภาคภูมิใจ สิ่งเหล่านี้ คือ ความสุขที่ครอบคลุมสมบูรณ์บนพื้นฐานความมั่นคงทางกายและทางใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์โดยแท้จริง