พูดแล้วลงมือทำ

0
13

รายงานพิเศษ|พูดแล้วลงมือทำ : บทบาทสำคัญของจีนในการสนับสนุนกิจการของสหประชาชาติ

ปักกิ่ง, 22 ก.ย. (ซินหัว) — ฤดูใบไม้ร่วงปี 2015 สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในวาระครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติ พร้อมประกาศแผนริเริ่มและโครงการสำคัญหลายชุดที่สนับสนุนกิจการขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการดำเนินการตามแผนและบรรลุผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

วาจามีค่าดั่งทองคำ กล่าวแล้วต้องลงมือทำ เมื่อลงมือทำย่อมบังเกิดผล ที่ผ่านมาในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดและสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคง จีนมีบทบาทเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลก ผู้อุทิศให้แก่การพัฒนาระดับโลก ผู้พิทักษ์ระเบียบระหว่างประเทศ และผู้จัดหาสินค้าสาธารณะ ผลักดันการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติด้วยการปฏิบัติจริง

ผู้สนับสนุนกิจการขององค์การสหประชาชาติอย่างแข็งขัน

วัคซีนถือเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 73 ในกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีน สีจิ้นผิงกล่าวว่าหลังจากวัคซีนต้านโรคโควิด-19 พัฒนาเสร็จสิ้นและพร้อมใช้ จะทำให้วัคซีนกลายเป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก จีนจะเข้ามามีบทบาทในการรับรองว่าวัคซีนจะเข้าถึงประชาชนและสามารถซื้อหาได้ในประเทศกำลังพัฒนา

สิ่งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจีนที่จะร่วมมือต่อสู้กับโรคระบาดไปพร้อมกับโลก ปัจจุบันจีนกำลังปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้วยการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานร่วมกับภาคีอื่นๆ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน

ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด จีนให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างยิ่งยวด ตอบสนองแผนงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างแข็งขัน มอบเงินช่วยเหลือ 50 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,560 ล้านบาท) ให้แก่องค์การอนามัยโลก ส่งมอบสิ่งของช่วยเหลือไปยังประเทศและองค์กรระหว่างประเทศรวม 150 กว่าแห่ง ตลอดจนส่งออกอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดไปยังประเทศและภูมิภาคต่างๆ กว่า 200 แห่ง

การทำงานต่อสู้กับการแพร่ระบาดร่วมกับประเทศอื่นๆ ถือเป็นการดำเนินการล่าสุดของจีนในการสนับสนุนกิจการของสหประชาชาติ ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุด จีนมีส่วนร่วมในงานของสหประชาชาติหลายด้าน ส่งเสริมสหประชาชาติในการกำหนดให้การพัฒนาเป็นหัวใจหลักของความร่วมมือระหว่างประเทศ และให้ความสำคัญต่อข้อกังวลและข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนา

อันโตนิอู กูแตร์เรช เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า “จีนเป็นผู้สนับสนุนที่มั่นคงและผู้มีส่วนร่วมสำคัญในกิจการของสหประชาชาติ และมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสาหลักของความร่วมมือระหว่างประเทศและลัทธิพหุภาคี”

ผู้ช่วยเหลือที่ไม่เห็นแก่ตัวเพื่อการพัฒนาร่วมกัน

ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2018 บุนยัง วอละจิด เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวและประธานประเทศลาว เดินทางมาที่หมู่บ้านสือปาต้ง อำเภอฮวาหยวน มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน เพื่อศึกษาแนวทางของจีนที่บรรเทาความยากจนได้อย่างตรงจุด

ประเทศลาว ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในโลก ก็ได้วางเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนในปี 2020 เช่นกัน
ในปีนี้จีนจัดการแก้ปัญหาด้านชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชากร 1.4 พันล้านคน สร้างสังคมมั่งคั่งระดับปานกลางในทุกด้าน นับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนามนุษย์ โดย “กิโลเมตรสุดท้าย” ของเส้นทางบรรเทาความยากจนนั้นเป็นปัญหาหนักหน่วงสำหรับมนุษยชาติในการเอาชนะความยากจนร่วมกัน ซึ่งประสบการณ์ของจีนนั้นจะเป็นตัวอย่างที่มีค่าให้กับโลกในเรื่องนี้

ระหว่างที่จีนดำเนินนโยบายขจัดความยากจนภายในประเทศ ก็ยังไม่ละเลยการพัฒนาร่วมกัน ในระหว่างการประชุมสุดยอดวาระครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติในปี 2015 จีนได้ประกาศจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) และกองทุนเพื่อการพัฒนาและสันติภาพจีน-สหประชาชาติ ตลอดจนบุกเบิกการก่อตั้งสถาบันสำหรับความร่วมมือและการพัฒนาความร่วมมือใต้-ใต้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนา

“ความช่วยเหลือของจีนต่อแอฟริกาไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความช่วยเหลือทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือวิสาหกิจของจีนดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ เพื่อช่วยให้ประเทศในแอฟริกาบรรลุการพัฒนาในวงกว้างและในระยะยาว” ไซดี มรีโซ ผู้เข้ารับการอบรมจากสถาบันสำหรับความร่วมมือและการพัฒนาความร่วมมือใต้-ใต้ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจของแทนซาเนีย กล่าว

ระหว่างการสัมมนาออนไลน์เรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ของสหประชาชาติ กับประสบการณ์การขจัดความยากจนของจีน” เนื่องในวาระครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บันคีมูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่ากระบวนการพัฒนาที่ไม่ธรรมดาของจีนมีส่วนช่วยอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติในระดับโลก เมื่อโรคโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน โลกจำเป็นต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ซึ่งในกระบวนการนี้ย่อมขาดบทบาทของจีนไปไม่ได้

ผู้มีส่วนสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ

นับตั้งแต่กองกำลังรักษาสันติภาพชุดที่ 18 ของจีนไปประจำการยังพื้นที่ปฏิบัติการของเลบานอนในเดือนพฤษภาคม 2019 กองกำลังได้กวาดล้างทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนระหว่างเลบานอน-อิสราเอลมากกว่า 10,000 ตารางเมตรอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยตรวจพบและทำลายทุ่นระเบิดจำนวน 1,577 แห่ง สเตฟาโน เดล โคล (Stefano Del Col) ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกาลของสหประชาชาติในเลบานอน ยกให้กองกำลังของจีนเป็น “ผู้อุทิศตนที่โลกต้องการเพื่อพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพ”

นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดว่าด้วยการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ปี 2015 จีนได้ส่งทหารและทีมแพทย์จำนวน 22 ชุดรวมกว่า 6,000 คน เข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซูดานใต้ ภูมิภาคดาร์ฟูของประเทศซูดาน มาลี และเลบานอน นอกจากนี้ยังเปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในจีน จัดการหลักสูตรฝึกอบรมตำรวจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติหลายหลักสูตร และส่งครูฝึกไปสอนและฝึกอบรมในต่างประเทศ

จีนเข้าร่วมระบบกำลังเตรียมพร้อมของสหประชาชาติ (Peacekeeping Capability Readiness System) และจัดตั้งกองกำลังเตรียมพร้อมรักษาสันติภาพ 8,000 คน ในปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่มีกองกำลังเตรียมพร้อมของสหประชาชาติจำนวนมากที่สุดและมีประเภทของหน่วยกองกำลังที่สมบูรณ์ที่สุด องค์การสหประชาชาติประเมินว่าประเทศจีนเป็น “ปัจจัยหลักและกำลังสำคัญในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ”

จีนยึดมั่นในเส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างสันติ ปกป้องความเป็นธรรมและความยุติธรรมระหว่างประเทศอย่างแน่นหนัก มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญในภูมิภาคสำคัญ อาทิ ปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ปัญหาความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน เมียนมา ตะวันออกกลาง ซีเรีย พร้อมทั้งหมั่นแสวงหาและดำเนินงานตามเส้นทางการรักษาสันติภาพอันมีเอกลักษณ์จีน

 

ผู้พิทักษ์แห่งโลกสีเขียว

ในระหว่างการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการยับยั้งการกลายเป็นทะเลทรายครั้งที่ 14 เมื่อเดือนกันยายน 2019 หวังเหวินเปียว หัวหน้าโครงการควบคุมการกลายเป็นทะเลทรายในทะเลทรายคู่ปู้ฉี ซึ่งเคยได้รับรางวัล “ผู้นำการควบคุมทรายระดับโลก” ของสหประชาชาติ ได้รับเชิญให้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ หลังจากการจัดการในช่วงเวลา 30 ปี ทะเลทรายที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของจีนแห่งนี้มีสีเขียวปกคลุมพื้นที่แล้ว นับว่าเป็นการสร้างคุณูปการด้านประสบการณ์และภูมิปัญญาของจีนต่อการจัดการพื้นที่ทะเลทรายทั่วโลก

ไม่เพียงแต่การควบคุมทะเลทรายคู่ปู้ฉีเท่านั้น แนวคิด “น้ำใสและภูเขาเขียวคือทรัพย์สมบัติอันล้ำค่า” ที่จีนยึดมั่นทำให้ปฏิบัติการทางอารยธรรมระบบนิเวศของจีนได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นเรื่อยๆ โครงการผืนป่าแนวกันลม 3 เหนือ (Three-North Shelterbelt Forest Program) ได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พื้นที่สาธิตเศรษฐกิจนิเวศวิทยา” สำหรับทะเลทรายทั่วโลก โครงการป่าไม้ไซหั่นป้า โครงการสาธิตการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ชนบทของมณฑลเจ้อเจียง และโครงการป่าไม้มด หรือ แอนต์ ฟอเรสต์ (Ant Forest) ได้รับรางวัลแชมป์เปี้ยนรักษ์โลก (Champions of the Earth Award) ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ

ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลที่เผยแพร่โดยนาซาในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เผยให้เห็นว่าระหว่างปี 2000-2017 ประมาณหนึ่งในสี่ของพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ในโลกอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นการเพิ่มเยอะที่สุดในโลก

ขณะที่จีนกำลังปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาในประเทศ ก็ยังมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลระบบนิเวศทั่วโลกไปพร้อมกัน แบ่งปันเทคโนโลยีและประสบการณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีจวินเฉ่า หรือการเพาะเห็ดโดยใช้หญ้าของจีนแพร่กระจายไปยังกว่า 100 ประเทศและภูมิภาค เช่น ฟิจิ ลาว และราชอาณาจักรเลโซโท หรือการช่วยเหลือประเทศในแอฟริกาและเอเชียกลางเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้เขียวชอุ่มด้วยเทคโนโลยีของจีน แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญจากตะวันออกกลางก็ยังเดินทางมาศึกษาวิธีการตรึงแนวทรายที่ประเทศจีน

นอกจากนี้ จีนยังส่งเสริมการปรับปรุงระบบกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอย่างเหมาะสมด้วยความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศในระดับสูง แฟรงค์ เลอค็อก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในฝรั่งเศส มองว่าจีนอยู่ในแนวหน้าของโลกด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า “น้ำใสและภูเขาเขียวคือทรัพย์สมบัติอันล้ำค่า” สะท้อนถึงแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ โลกควรยึดถือประเทศจีนเป็นแบบอย่าง ยึดมั่นในเส้นทางแห่งการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น