‘พหุภาคี’ ช่วยโลกฝ่าฟันวิกฤต ‘พหุภาคี’ ช่วยโลกฝ่าฟันวิกฤต

0
23

บทความคิดเห็น : ‘พหุภาคี’ ช่วยโลกฝ่าฟันวิกฤต ‘พหุภาคี’ ช่วยโลกฝ่าฟันวิกฤต 

ปักกิ่ง, 22 ก.ย. (ซินหัว) — เมื่อ 75 ปีก่อน หลังเผชิญความเจ็บปวดทรมานจากมหาสงครามที่นำพาความทุกข์ยากเหลือคณามาสู่มวลมนุษยชาติถึงสองครา นานาประเทศทั่วโลกได้หันมาจับมือกันสร้างสรรค์ระบบระเบียบระหว่างประเทศ โดยมีองค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นแกนกลาง

ปัจจุบันสหประชาชาติในฐานะองค์กรที่มีความเป็นสากล ความเป็นตัวแทน และความน่าเชื่อถือไว้วางใจสูงสุด ได้กลายเป็นเวทีพหุภาคีอันสลักสำคัญที่สุดในการส่งเสริมสันติภาพและแก้ไขประเด็นปัญหาตั้งแต่ระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลก

ยามนี้ที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังยินดีกับวาระสหประชาชาติก่อตั้งครบ 75 ปี แต่โลกก็ยังคงผจญกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด –19) ที่ทำให้เหล่าผู้นำโลกเลือกจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระสำคัญผ่านระบบวิดีโอลิงก์แทน โดยการโจมตีของโรคโควิด-19 อย่างกะทันหันยังส่งผลให้โลกทั้งใบผันแปรไปในหลายแง่มุม เร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในรอบศตวรรษ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้เป็นยุคแห่งความไม่แน่นอนอย่างมาก เมื่อพิจารณาจากการผุดโผล่ของลัทธิกีดกัน (Protectionism) และลัทธิเอกภาคีนิยม (Unilateralism) อันมิชวนพิสมัย การขยับขยายตัวของแนวคิดต่อต้านโลกาภิวัตน์ รวมถึงพฤติกรรมอันธพาลของบางประเทศมหาอำนาจ ซึ่งสร้างความท้าทายต่อระบบพหุภาคีของโลกที่สหประชาชาติได้เป็นแบบอย่างอันดีไว้

ขณะเดียวกันจิตวิญญาณแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและความร่วมมือ ที่ถือเป็นพลังสำคัญของมวลมนุษยชาติในการเอาชนะศัตรูร่วมอย่างโรคโควิด-19 กลับประสบภยันตรายจากการถูกทอดทิ้ง เปิดทางให้อสุรกายแห่งการปะทะคะคานทางอุดมการณ์เติบใหญ่อย่างน่าหวั่นเกรง

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ แนวคิดของการเฉลิมฉลองวาระครบรอบของสหประชาชาติในปี 2020 ที่ว่า “อนาคตที่เราต้องการ สหประชาชาติที่เราต้องมี : ยืนยันพันธกิจร่วมต่อระบบพหุภาคี” (The future we want, the UN we need: reaffirming our collective commitment to multilateralism) จึงมีนัยสำคัญครอบคลุมอย่างยิ่งยวด

การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคโควิด-19 ที่ยังคงไม่มีแนวโน้มคลี่คลายจางหายในเร็ววัน จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ยังคงเพิ่มขึ้นเป็นภูเขาเลากาจนกลายเป็นวิกฤตสาธารณสุขโลกในรอบศตวรรษ ได้ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าชะตาของเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับ ‘ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน’ และมีเพียงการร่วมมือกันเท่านั้นที่จะนำพาทุกประเทศผ่านพ้นอุปสรรคครั้งนี้

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวย้ำหลายครั้งว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและความร่วมมือคืออาวุธทรงพลังที่สุดในการต่อกรกับโรคโควิด-19 และการยึดมั่นพันธกิจที่มีต่อระบบพหุภาคีถือเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งในโมงยามแห่งความมืดมนอนธการของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

โลกควรพิทักษ์สิทธิอำนาจของสหประชาชาติเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบบพหุภาคี เพราะบทบาทเชิงบวกของสหประชาชาติตลอด 75 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นประจักษ์ชัดเกินกว่าใครจะปฏิเสธได้ ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจอันลึกซึ้งมากมายต่อสังคมมนุษย์

หลายทศวรรษที่ผ่านมา สหประชาชาติได้จัดตั้งและเดินหน้ากลไกการรักษาความมั่นคงร่วม ดำเนินปฏิบัติการรักษาสันติภาพมากกว่า 70 ครั้งในเกือบ 130 ประเทศ มีส่วนร่วมสำคัญในการยุติความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันสงครามโลกครั้งใหม่ ผดุงสันติภาพและเสถียรภาพของโลกโดยรวม ซึ่งช่วยวางรากฐานอันแข็งแกร่งแก่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก

การมีอยู่ของระบบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง ช่วยให้นานาประเทศทั่วโลกได้บ่มเพาะสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดและความร่วมมืออันลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมกับผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโลกให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

สถิติจากธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกตั้งแต่ปี 1960-2019 เพิ่มขึ้นจาก 1.37 ล้านล้านเป็น 87.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ส่วนจีดีพีต่อหัวในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นจาก 452 เป็น 11,428 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สัดส่วนการค้าทั่วโลกต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.72 เป็นร้อยละ 60.4

 

นอกจากนั้นบรรดาหน่วยงานเฉพาะด้านของสหประชาชาติ อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ต่างมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของโลกและส่งเสริมความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์

ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลกครองบทบาทอันมิอาจมีผู้ใดแทนที่ในการช่วยให้โลกได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลา กระตุ้นการประสานงานทั่วโลกในการรับมือโรคระบาด และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน

ด้วยเหตุนี้ โลกควรป้องปรามการกระทำเชิงเอกภาคีนิยมที่อาจบั่นทอนการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากการกระทำเหล่านั้นมีแต่จะทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและความร่วมมือระดับโลก กลายเป็นโคลนติดล้อถ่วงชัยชนะของมนุษยชาติที่จะมีเหนือไวรัสร้าย

สารพันปัญหาที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกก็ต้องการวิธีแก้ไขที่ใหญ่ยิ่งระดับโลกเช่นกัน จึงไม่มีเวทีใดจะเหมาะสมไปกว่าสหประชาชาติในการแสวงหาหนทางเหล่านั้นแก่ประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่และการวางแผนฟื้นฟูหลังหมดโรคระบาด ทุกประเทศจำเป็นต้องพิทักษ์สิทธิอำนาจของสหประชาชาติ พร้อมทั้งผดุงระบบระเบียบระหว่างประเทศอย่างเหนียวแน่น โดยมีสหประชาชาติเป็นแกนกลาง

โลกควรยอมรับและปฏิบัติตามแนวคิดการบริหารปกครองระดับโลกที่อิงตามตามหลักการการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวาง การมีส่วนร่วม และผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบบพหุภาคี

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเคยกล่าว ณ การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ปี 2019 ณ กรุงบราซิเลีย เมืองหลวงของบราซิล ว่าแก่นแท้ของระบบพหุภาคีคือการที่กิจการระดับนานาชาติควรได้รับการจัดการผ่านการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวาง มากกว่าการตัดสินใจโดยหนึ่งหรือสองสามประเทศ ซึ่งวาทะดังกล่าวกลายเป็นสิ่งจริงแท้ในวันนี้

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชาคมระหว่างประเทศพยายามต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิอันธพาลทางการค้า การคว่ำบาตรเพียงฝ่ายเดียว และแนวคิดสุดโต่งด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งบ่อนทำลายรากฐานระบบพหุภาคีของการบริหารปกครองระดับโลกอย่างมิหยุดหย่อน

การธำรงไว้ซึ่งระบบพหุภาคีหมายความว่าทุกคนควรร่วมกอบกุมชะตาของโลกทั้งใบ ร่วมบัญญัติกฎเกณฑ์อันเป็นสากล ร่วมเจรจากิจการระดับโลก และร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนา มิใช่ปล่อยให้กลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่งครอบครองอำนาจสูงสุด นอกจากนั้นประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยังชี้ว่า “ยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ลักษณะที่ว่าคนกลุ่มหนึ่งต่อสู้เพื่อเอาชนะคนอื่นไม่ควรเกิดขึ้น แต่ควรเป็นการที่ทุกคนร่วมกันสร้างผลประโยชน์เพื่อทุกคน”

การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 สอนเราว่าเมื่อเผชิญกับสารพัดความท้าทายระดับโลก ทุกประเทศควรจับมือเดินหน้าพร้อมจิตวิญญาณแห่งการปรึกษาหารือ สร้างความเป็นประชาธิปไตยแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้เหล่าประเทศกำลังพัฒนาได้เปล่งเสียงที่ดังยิ่งขึ้นในสถาบันหลักระดับโลก เพื่อสร้างระบบบริหารปกครองระดับโลกที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

โลกควรถือเอาการพัฒนาเป็นกุญแจดอกสำคัญของการแก้ไขสารพัดปัญหาเร่งด่วนระดับโลก และร่วมกันสรรค์สร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบบพหุภาคี

นานาประเทศทั่วโลกต่างกำลังเชื่อมโยง พึ่งพาซึ่งกันและกัน และมีอนาคตผูกพันใกล้ชิดเพิ่มขึ้น ทว่าช่องโหว่ของการพัฒนาที่แบ่งเหนือและใต้ยังคงขยายกว้าง ส่วนโลกาภิวัตน์ก็ล้มเหลวจะกระจายผลประโยชน์แก่กลุ่มสังคมต่างๆ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วบางแห่งยังพานพบรอยแยกทางสังคมที่เกิดจากความยากจน ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ สิ่งเหล่านี้เสมือนจานเพาะเชื้อบ่มแนวคิดต่อต้านโลกาภิวัฒน์ให้ร้ายแรงยิ่งขึ้น

เราต้องยึดมั่นการพัฒนาเป็นกุญแจดอกสำคัญที่สุด มีเพียงการพัฒนาเท่านั้นที่ช่วยให้เราแก้ไขความขัดแย้งได้ถึงต้นตอ ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และตอบสนองความหวังอันแรงกล้าของมวลชนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Summit) ปี 2015 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก

การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในเวลานี้ สร้างความท้าทายต่อการพัฒนาระดับโลก โดยปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030 ทุกประเทศจึงควรใช้สถานการณ์นี้เป็นตัวกระตุ้นและแรงจูงใจในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโลกที่สมดุล ลดระดับความยากจนและความไม่เท่าเทียมเพื่อขจัดปัจจัยต่างๆ ที่คอยหล่อเลี้ยงลัทธิกีดกันทางการค้า ลัทธิโดดเดี่ยว และลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปรับให้โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมีความเปิดกว้าง ครอบคลุม และสมดุลมากขึ้น

โลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ ยามเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่างมีอนาคตร่วมกันนั้น การผดุงไว้ซึ่งระบบพหุภาคีและการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน จึงควรเป็นเป้าหมายร่วมของสมาชิกทุกคนในประชาคมระหว่างประเทศ นั่นมิใช่เพียงการเผยให้เห็นประวัติศาสตร์ยาวนาน 75 ปีของสหประชาชาติอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังเป็นหนทางเดียวของการพัฒนาในยุคหลังโรคระบาด

จีนเป็นประเทศแรกที่ลงนามกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) ไม่ว่าจะอยู่ในกระบวนการพัฒนาของสหประชาชาติหรือในการต่อสู้กับไวรัสร้าย จีนเป็นผู้สร้าง ผู้พิทักษ์ และผู้ปฏิบัติแห่งระบบพหุภาคีเสมอมา จีนในอนาคตจะยังคงเป็นผู้สร้างสันติภาพโลก ผู้สนับสนุนการพัฒนาของโลก และผู้พิทักษ์ระเบียบระหว่างประเทศดังที่เป็นมา

หนึ่งในของขวัญอันเหมาะสมที่โลกสามารถมอบให้ได้เนื่องในวาระครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งสหประชาชาติ นั่นคือการยืนหยัดยึดมั่นระบบพหุภาคีและความร่วมมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้นานาประเทศทั่วโลกสามารถฟันฝ่ากระแสคลื่นแห่งอุปสรรค แสวงหาการพัฒนาร่วมกัน และสร้างสรรค์ “อนาคตที่เราต้องการ”