ภาพยนตร์และละคร/ซีรีส์จีนในสายตาผู้ชมชาวไทย

0
157

โดย

ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ความนิยมสื่อบันเทิงจีนในประเทศไทยเริ่มเด่นชัดมากขึ้นจนมีคำกล่าวว่าถ้าได้เสพงานของจีน จะถอนตัวยากและอาจลืมงานของชาติอื่นไปในทันที กระแสความนิยมทำให้เกิดแฟนคลับงานสัญชาติจีนซึ่งแสดงตัวในรูปแฟนเพจ หรือ การแบ่งปันข่าวสารทางออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นความนิยมงานละคร/ซีรีส์เช่น A Love So Beautiful หรือ Put Your Head on My Shoulder ซึ่งออกฉายในประทศไทยช่วงปี 2562 น่าสนใจที่ความนิยมดังกล่าวไม่ใช่อุบัติการณ์ชั่คราว แต่มีความต่อเนื่องข้ามกาลเวลา

ปรมาจารย์ลัทธิมารคืองานที่โดดเด่นที่สุดในแง่ความนิยม ข้อมูลบางแหล่งเผยว่าการฉายในประเทศไทยสามารถผลักให้ยอดผู้ใช้งาน WeTV Thailand ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งจากจีนโตมากถึง 250% พร้อมกับกระตุ้นยอดดาวน์โหลดเฉลี่ยเดือนละล้านครั้ง การฉายเพียงแค่ตอนแรกทำให้ #ปรมารจารย์ลัทธิมาร ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 นานติดต่อกัน 3 วัน เมื่อจัดกิจกรรมพบปะแฟนๆ ในกรุงเทพ ยอดจองบัตรเข้าร่วมงานสูงถึง 1 แสนคิว หลายคนไปรวมตัวรอรับกลุ่มนักแสดง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งหมดนี้ก่อแรงกระเพื่อมขนาดทำให้คนไทยยอมรับซีรีส์จีนในฐานะความบันเทิงแขนงใหม่คู่กับเกาหลีใต้

นอกจากปรมาจารย์ลัทธิมาร ซีรีส์อีกหลายเรื่องปรากฏในรายการแนะนำของแฟนคลับโดยอิงกระแสความชอบจากต่างประเทศ Eternal Love of Dream, I Will Find You a Better Home, Held in the Lonely Castle หรือ Find Yourself คือตัวอย่างงานที่ว่า ส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมตรงการเสนอความสัมพันธ์ในฝันให้แก่ผู้ชม หรือ เล่าความสามารถของมนุษย์ในการเอาชัยเหนืออุปสรรค แต่ทุกเรื่องได้รับฉันทามติด้านโปรดักชันซึ่งผู้ชมไทยยอมรับว่าแสดงออกถึงงบลงทุนมหาศาลรวมทั้งความประณีตในการถ่ายทำ ฝีมือในการสื่อสารอารมณ์ของนักแสดงก็ถือว่ามีความเป็นมืออาชีพ

แต่ความนิยมภาพยนตร์จีนอาจจะยังไม่สูงเท่าละคร/ซีรีส์ เพราะตลาดภาพยนตร์ไทยคุ้นชินกับงานฮอลลีวูดมานาน ผู้ชมจะเลือกชมงานที่เชื่อว่าคุ้มค่าบัตรเข้าชมเนื่องจากราคาบัตรโรงภาพยนตร์ไทยอยู่ในอัตราเกินครึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ 336 บาท/วัน ถ้าไม่ใช่งานประเภทโปรดักชันอลังการ คนไทยจะสนใจงานซึ่งอยู่ในกระแสปากต่อปาก มีความทันสมัย และใช้วิธีเล่าแบบสตูดิโอชั้นนำของฮอลลีวูด

กระนั้น ภาพยนตร์จีนบางเรื่องเริ่มเป็นที่กล่าวขานมากขึ้นในปี 2563 งานที่ว่าได้รับแรงหนุนจากรีวิวเวอร์ชาวไทยซึ่งให้ทั้งคำชมด้านอรรถรสความบันเทิงและคุณค่าสังคม มีการบอกต่อในหมู่ผู้ชมจนนำไปสู่การแบ่งปันเรื่องราวทางโซเชียลมีเดีย Leap และ Nezha คือตัวอย่างงานดังกล่าวซึ่งบรรลุกระแสตอบรับในทางบวก ทั้งสองเรื่องมอบความรู้สึกร่วมแก่ผู้ชมด้วยชั้นเชิงการเล่าบวกประเด็นสื่อสารสากลโดยเฉพาะประเด็นารพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการทำเพื่อสังคม นี่ถือเป็นจุดเริ่มของตลาดภาพยนตร์จีนในไทย ที่เหลือขึ้นอยู่กับปริมาณการส่งออก ยุทธศาสตร์การตลาด และความคงตัวของมาตรฐานงานที่จะทำให้ผู้ชมไทยเชื่อว่าคุ้มกับเวลา

ไม่ว่าจะอย่างไร การทำให้ความนิยมยืนตัวในประเทศไทยในระดับเดียวกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือ กระทั่งสหรัฐฯ ต้องอาศัยการสร้างคอนเทนต์ที่มีความลงตัวระหว่างสากลลักษณ์กับเอกลักษณ์แบบจีน สากลลักษณ์หมายถึงสไตล์งานและแก่นเรื่องที่ผู้ชมต่างชาติรวมทั้งไทยเข้าใจได้ไม่ยาก หากเป็นงานที่ผ่านกระแสความนิยมในระดับนานาชาติ โอกาสเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมไทยจะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะผู้ชมจะรู้สึกพึงพอใจที่ได้มีส่วนร่วมในกระแสความนิยมสากล สำหรับเอกลักษณ์แบบจีน มันคือองค์ประกอบที่จะสร้างความแตกต่างให้แก่ภาพยนตร์และละคร/ซีรีส์ในยุคแห่งความดาษดื่นของคอนเทนต์บันเทิง เอกลักษณ์ดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของบุคลิกตัวละคร กายภาพของวัฒนธรรม ลีลาการสื่อสาร ดนตรีประกอบ ปรัชญา ฯลฯ เอกลักษณ์ที่จะเข้าถึงผู้ชมได้ต้องเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นสีสัน ความลึกซึ้ง ความหมายของชีวิต ฯลฯ ที่สำคัญ ไม่ควรเป็นเอกลักษณ์ที่พัฒนามาจากงานยอดนิยมของชาติอื่น

นอกจากนี้ ความเข้าใจประชากรจะช่วยประกันความสำเร็จในภาพรวม หากลองพิจารณาความสำเร็จของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จะพบว่ามาจากคลื่นความสนับสนุนของผู้ชม งานอย่างโอชินในยุค 80 หรือ แดจังกึมในยุค 2000 ล้วนสนองตอบต่อความต้องการผู้ชมกลุ่มที่ทรงอิทธิพลที่สุด นั่นคือผู้หญิง หรือ กลุ่มแม่บ้านที่มีเวลาสำหรับการชมละคร/ซีรีส์ ผู้ชมกลุ่มนี้ให้ความสำคัญแก่ประเด็นนำเสนออันเป็นโลกของผู้หญิง เช่น ความเท่าเทียม การเป็นผู้นำในครอบครัว ความรักโรแมนติก ฯลฯ การศึกษาเมื่อนานมาแล้วในสหรัฐฯ เผยว่าผู้ชมหญิงไม่เพียงมีปริมาณมหาศาล แต่ยังชักจูงให้คนรอบข้างเลือกชมงานที่ตัวเองชอบด้วย

ในทำนองเดียวกัน ความสำเร็จของละคร/ซีรีส์จีนในช่วงหลังเกิดจากการสนองตอบผู้ชมหญิงยุคใหม่ที่ปรารถนาความสัมพันธ์ในอุดมคติ ใคร่เห็นบทบาทใหม่ๆ ของสตรีโดยเฉพาะบทบาทเชิงรุก ผู้ชมบางรายให้ความสนใจแก่ผู้รับบทตัวละครชาย จนเกิดเป็นแฟนคลับเฉพาะนักแสดง กระนั้นต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ชมชาย ส่วนใหญ่เป็นความสำเร็จของงานที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมกำลังภายใน มีการพูดคุยเกี่ยวกับความคลาสสิกของงานโดยอิงเนื้อหาจากวรรณกรรมต้นฉบับ บางครั้ง ผู้ชมกล่าวถึงความงามสง่าของผู้รับบทตัวละครหญิงจนอาจกลายเป็นอีกเหตุผลของการเลือกชม กรณีตัวละครหญิงใน Heavenly Sword and Dragon Slaying Sabre ปี 2562 คือตัวอย่างที่ยังคงเห็นได้ตามเพจกำลังภายในยุคปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่าประเด็นนำเสนอกับนักแสดงคือจุดแข็งที่ช่วยวางรากฐานความนิยมให้แก่งานของจีน

แต่ถ้าต้องการขยายความสำเร็จ ผู้ผลิตจีนอาจต้องเน้นความหลากหลายเพื่อรองรับประชากรทุกกลุ่ม ใช้การวิจัยทางการตลาดเข้าช่วย ในอดีต งานจำพวกซูเปอร์ฮีโร่ซีรีส์ หรือ อะนิเมะซีรีส์ของญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในกลุ่มเยาวชนไทยเพราะตอบสนองต่อจินตนาการอันบรรเจิด นั่นนำไปสู่ความชอบประเพณีญี่ปุ่นในกาลต่อมา หรือ ซีรีส์/ภาพยนตร์ฮ่องกงในอดีตจับใจผู้ชมไทยหลายกลุ่มอายุด้วยเรื่องราวของมาเฟีย เทพนิยาย มุขขำขัน วังหลวง พลังทางตุลาการ ฯลฯ การย้อนความหลังเกี่ยวกับซีรีส์/ภาพยนตร์ฮ่องกงจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยมในโลกออนไลน์ของไทยกระทั่งปัจจุบัน

คนไทยหลายกลุ่มอายุพร้อมรอบริโภคความบันเทิงใหม่ๆ จากจีน การผลิตงานเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มเหล่านั้นจะช่วยขยายฐานความนิยมได้ แล้วตัวแทนแต่ละกลุ่มจะทำหน้าที่เป็น influencer ผู้แบ่งปันความบันเทิงของตนให้แก่สังคมรอบข้างดังปรากฏในกรณีของญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้