มองความเปลี่ยนแปลงของจีนจากการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ครั้งที่ 7

0
34

องความเปลี่ยนแปลงของจีนจากการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ครั้งที่ 7

วันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 สำนักงานสารนิเทศ คณะรัฐมนตรีจีน จัดงานแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่ง โดยนายหนิง จี๋เจ๋อ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน บรรยายสรุปสาระสำคัญของรายงานผลการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ครั้งที่ 7 ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงหลายด้านในช่วงหลายปีที่ผ่านของจีนอย่างน่าสนใจ

การสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศจีนครั้งนี้ มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 10 ธันวาคม ค.ศ. 2020 โดยระดมเจ้าหน้าที่สำรวจข้อมูลกว่า 7 ล้านคน จึงถูกมองว่าเป็นการสำรวจสภาพและพลังแห่งชาติครั้งสำคัญ ก่อนหน้านี้สาธารณรัฐประชาชนจีนเคยสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศในปี ค.ศ. 1953, 1964, 1982, 1990, 2000 และ 2010 ตามลำดับ

รายงานผลการสำรวจครั้งล่าสุด ระบุว่า ทั่วประเทศจีนมีประชากร 1,411.78 ล้านคน เพิ่มขึ้น 72.06 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2010 ที่มีจำนวน 1,339.72 ล้านคน อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 0.53% ลดลง 0.04% เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 0.57% ระหว่างปี ค.ศ. 2000 2010 ทั้งนี้ บ่งบอกให้เห็นว่าประชากรจีนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตในระดับต่ำ

นายหนิง จี๋เจ๋อ ให้ความเห็นว่า “นี่เป็นผลลัพธ์เชิงภววิสัยหลังจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองเข้าสู่ขั้นตอนที่แน่นอน ทั้งยังเป็นปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วต่างก็เผชิญโดยทั่วไป”

ตามสถิติใหม่ ครอบครัวจีนมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ยที่ 2.62 คน ลดลงจาก ค.ศ. 2010 0.48 คน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ครอบครัวจีนมีขนาดเล็กลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการไหลเวียนในประเทศของประชากรเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับสภาพที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด หนุ่มสาวชาวจีนมักนิยมแยกกันอยู่กับพ่อแม่เมื่อแต่งงาน

ในด้านอัตราส่วนระหว่างเพศนั้น จีนมีประชากรเพศชาย 723.34 ล้านคน ครองสัดส่วนที่ 51.24% และเพศหญิง 688.44 ล้านคน ครองสัดส่วนที่ 48.76% ของจำนวนประชากรทั้งหมด อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงอยู่ที่ 105.07 ซึ่งหมายถึงมีผู้ชาย 105.07 คน ต่อผู้หญิง 100 คน ลดลงเล็กน้อยจากผลการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ครั้งที่ 6 ข้อมูลระบุด้วยว่า อัตราส่วนเพศของทารกแรกเกิดอยู่ที่ 111.3 ซึ่งหมายถึงสัดส่วนทารกเพศชาย 111.3 คน ต่อทารกเพศหญิง 100 คน ลดลงจากอัตราส่วนใน ค.ศ. 2010 ถึง 6.8% ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า อัตราส่วนทางเพศของประชากรจีนกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สมดุลยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ในด้านโครงสร้างอายุ จีนมีประชากรอายุระหว่าง 0 14 ปี จำนวน 253.38 ล้านคน ครองสัดส่วน 17.95% อายุระหว่าง 15 59 ปี จำนวน 894.38 ล้านคน ครองสัดส่วน 63.35% อายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 264.02 ล้านคน ครองสัดส่วน 18.70% (ในจำนวนนี้ ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวน 190.64 ล้านคน ครองสัดส่วน 13.50%) หากเทียบกับ ค.ศ. 2010 อัตราส่วนประชากรในแต่ละช่วงวัยดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35 ลดลงร้อยละ 6.79 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.44 ตามลำดับ ทั้งนี้ สามารถฟันธงได้ว่า การปรับการวางแผนครอบครัวจากเดิมที่ใช้นโยบายลูกคนเดียวสู่การอนุญาตให้คู่สามีภรรยามีลูกได้ 2 คนตั้งแต่ ค.ศ. 2016 เป็นต้นมานั้นได้ประสบผลลัพธ์เชิงบวก ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นค่อนข้างเร็ว นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า ช่วงระยะเวลาหนึ่งในอนาคต จีนจะเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่องด้านการพัฒนาอย่างสมดุลของประชากร

ผู้เชี่ยวชาญจีนมองว่า การใกล้มาถึงของ “สังคมผู้สูงวัย” เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ในด้านความท้าทาย “สังคมผู้สูงวัย” ทำให้จำนวนประชากรวัยทำงานลดน้อยลง ภาระการเลี้ยงดูคนชราในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อระบบบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ส่วนด้านโอกาสของ “สังคมผู้สูงวัย” คือ การขยายตัวขึ้นของการบริโภคสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ กระตุ้นให้เกิดการบริโภครูปแบบใหม่ที่หลากหลาย

แม้เมื่อเทียบกับ ค.ศ. 2010 จำนวนประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 16 59 ปีในจีนลดลงกว่า 40 ล้านคน แต่นายหนิง จี๋เจ๋อ กล่าวว่า “จากผลการสำรวจ ประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 16 59 ปี ในจีนมีจำนวน 880 ล้านคน ทรัพยากรแรงงานยังคงมีเพียงพอ การสำรวจครั้งนี้บอกให้เราทราบด้วยว่า อายุเฉลี่ยของประชากรจีน คือ 38.8 ปี กล่าวในภาพรวมยังคงอยู่ในวัยที่มีกำลังวังชาอย่างเต็มเปี่ยม”

 

ผลการสำรวจล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า จีนประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในด้านการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ขจัดการไม่รู้หนังสือในกลุ่มวัยกลางคนและเยาวชนอย่างจริงจังในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นายหนิง จี๋เจ๋อ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน แถลงว่า ปัจจุบัน จำนวนประชากรจีนที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 218.36 ล้านคน หากเทียบกับ ค.ศ. 2010 ตัวเลขนี้เพิ่มจาก 8,930 คนต่อ 100,000 คนมาเป็น 15,467 คนต่อ 100,000 คน ส่วนอัตราการไม่รู้หนังสือลดลงจากร้อยละ 4.08 เหลือร้อยละ 2.67 คุณภาพประชากรจึงมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  สถิติระบุด้วยว่า ประชากรจีนที่อาศัยในเมืองมีจำนวน 901.99 ล้านคน ครองสัดส่วน 63.89% ส่วนอีก 509.79 ล้านคนอาศัยอยู่ในชนบท คิดเป็นสัดส่วน 36.11%

เมื่อเทียบกับ ค.ศ. 2010 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 236.42 ล้านคนและลดลง 164.36 ล้านคนตามลำดับ อัตราส่วนของประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.21 ทั้งนี้ เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า พร้อมไปกับการลงลึกพัฒนาอุตสาหกรรมแบบใหม่ ระบบสารสนเทศและการเกษตรที่ทันสมัย ตลอดจนการปฏิบัติตามนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานะของชาวนาที่ทำงานและใช้ชีวิตในเมืองให้เป็นชาวเมือง ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระบวนการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ของจีนถูกขับเคลื่อนอย่างคงเส้นคงวา การสร้างสรรค์ความเป็นเมืองของจีนมีผลสำเร็จเชิงประวัติศาสตร์

รายงานผลการสำรวจล่าสุดยังชี้ให้เห็นว่า ประชากรจีนที่มีทะเบียนสำมะโนครัวไม่ตรงกับที่อยู่ในปัจจุบันนั้นมีจำนวนมากถึง 492.76 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรอพยพ 375.82 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 88.52% และ 69.73% ตามลำดับเมื่อเทียบกับ ค.ศ. 2010 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนได้สร้างเงื่อนไขสำหรับการไหลเวียนของประชากร การไหลเวียนของประชากรในอนาคตมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงพลังชีวิตของการพัฒนาเศรษฐกิจ “จีนแห่งการไหลเวียน” นับวันยิ่งโดดเด่นมากขึ้น

นอกจากนี้ สถิติยังยืนยันอย่างเต็มที่ว่า ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประชากรชนกลุ่มน้อยของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศล้วนได้รับการพัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างรอบด้าน ปัจจุบัน ชาวฮั่นซึ่งเป็นชาติพันธุ์หลักของจีนมีประชากรรวม 1286.31 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 91.11% ขณะที่ ประชากรชนกลุ่มน้อยมีจำนวน 125.47 ล้านคน ครองสัดส่วน 8.89% หากเทียบกับ ค.ศ. 2010 จำนวนประชากรชาวฮั่นกับชนกลุ่มน้อยต่างเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.93 และร้อยละ 10.26 ตามลำดับ

เขียนเรียบเรียงโดย Lu Yongjiang

เจ้าหน้าที่ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน