ส.อ.ท. ผนึกกำลัง PPP Plastics และ AEPW เปิดตัวโครงการ ALL_Thailand

0
13

ส.อ.ท. ผนึกกำลัง PPP Plastics และ AEPW เปิดตัวโครงการ ALL_Thailand

นำร่อง 3 โครงการย่อยในประเทศไทย เพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน

กรุงเทพฯ – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ PPP Plastics และ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) จัดพิธีเปิดตัว โครงการ ALL_Thailand เพื่อการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยมี    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics และ มิสเตอร์เจค็อบ ดูเออร์ (Mr. Jacob Duer) ประธานบริหาร Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ร่วมเป็นประธานในพิธีพร้อมผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหารจากหน่วยงานผู้สนับสนุนหลัก PPP Plastics ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย, ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และบริษัท สุเอซ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด

โครงการ ALL_Thailand มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาต้นแบบและนวัตกรรมในการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ประโยชน์และป้องกันพลาสติกเหล่านั้นหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยเน้นการสร้างต้นแบบการจัดการตั้งแต่ต้นทางทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับจังหวัด ในทุกไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงระบบและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จภาครัฐสามารถนำไปขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของทางภาครัฐและ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย โดย ALL_Thailand ได้รับทุนสนับสนุนจาก AEPW เพื่อดำเนินงาน 3 โครงการย่อยในประเทศไทย ได้แก่ โครงการ EcoDigiclean Klongtoei (อีโคดิจิคลีนคลองเตย) โครงการ Rayong LessWaste(ระยองลดขยะ) และโครงการ Paving Green Roads (เพฟวิ่งกรีนโรด) โดยมีระยะเวลาดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 2 ปี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร Alliance to End Plastic Waste (AEPW) และ PPP Plastics เพื่อดำเนินโครงการในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้เกิด Business Model ในการจัดการขยะ และสามารถนำไปขยายผล ในวงกว้าง เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ มีความพร้อมในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขยะให้ครบวงจร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้วในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำไปใช้สำหรับงานสร้างถนนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ให้ประเทศไทยมีแนวทางในการจัดการขยะพลาสติกตลอด Supply Chain สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics กล่าวว่า โครงการ ALL Thailand ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย โดยโครงการอีโคดิจิคลีนคลองเตยEco Digiclean Klongtoei เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิตอล มาช่วยในการบริหารจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่น การสร้าง Application เพื่อช่วยบริหารจัดการขยะ การพัฒนาถังขยะรูปแบบใหม่กึ่งอัตโนมัติ เพื่อช่วยแยกขยะประเภทพลาสติก เพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติก ในส่วน Rayong Less-Waste หรือ ระยองลดขยะ จะเป็นการขยายโมเดลการจัดการขยะระดับชุมชนและท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนไปให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างชุมชนตัวอย่างในทั้ง 68 เทศบาลของจังหวัดระยอง เพื่อช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไปหลุมฝังกลบในระยองที่นับวันจะมีพื้นที่ลดน้อยลง และ โครงการ Paving Green Roads (เพฟวิ่งกรีนโรด) เป็นโครงการศึกษาวิจัยเพื่อนำพลาสติกใช้แล้วมาเป็นส่วนผสมในถนนยางมะตอยอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับหลายประเทศและในประเทศไทย เราได้ร่วมทำงานกับคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของการทำถนนที่มีส่วนประกอบของพลาสติกใช้แล้ว ทั้งในด้านอากาศและน้ำ รวมทั้งคุณสมบัติความแข็งแรงทนทาน และศักยภาพในการนำถนนพลาสติกที่ถูกรื้อถอนกลับมารีไซเคิลเพื่อสร้างเป็นถนนใหม่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างถนนของประเทศไทยในอนาคตต่อไป

มิสเตอร์เจค็อบ ดูเออร์ (Mr. Jacob Duer) ประธานและซีอีโอ Alliance to End Plastic Waste กล่าวว่า “ทั้ง 3 โครงการนี้มีเป็นตัวอย่างของกิจกรรมในพื้นที่ ที่มีเอกลักษณ์พิเศษที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อนำทั้ง 3 โครงการมารวมกันภายใต้โครงการ ALL_Thailand จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยกระจายความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในชุมชน สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ AEPW ที่ต้องการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและหยุดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม ภายใต้สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะพลาสติก    พร้อมเป็นตัวแทนภาคธุรกิจร่วมกำหนดมาตรฐานขวด PET พลาสติก จากรูปแบบขวดสี สู่ขวดใส เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำขวดพลาสติกนำกลับมารีไซเคิลได้ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมให้เกิดการจัดเก็บขวดพลาสติกที่ใช้แล้วเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับทิศทางเทคโนโลยีในอนาคต ด้วยภารกิจการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model)

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน จึงร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง PPP Plastics ตั้งแต่ปี 2560 และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้ PPP Plastics รวมทั้งโครงการ ALL-Thailand ในครั้งนี้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม DOW ยินดีให้การสนับสนุนโครงการและทำงานร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายเพื่อให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)  โดยตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกใช้แล้วที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาขับเคลื่อนการทำธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการพลาสติกตลอดทั้งวงจรอย่างใส่ใจและรับผิดชอบ โดยมีการดำเนินการ 3 ด้านหลัก คือ 1) การสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) การประยุกต์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ครอบคลุมทุกมิติของการทำธุรกิจ 3) การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างองค์กรและกับทุกภาคส่วน เพื่อดูแลและร่วมสร้างการเติบโตให้กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าGC หนึ่งในบริษัทผู้ก่อตั้ง PPP Plastics มีความยินดีที่ PPP Plastics สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร Alliance to End Plastic Waste ในการแก้ปัญหาเพื่อลดปริมาณพลาสติกที่ใช้แล้วบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และหลักการ 3Rs บริษัทฯ เห็นความสำคัญของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากพลาสติกที่ใช้แล้ว จึงนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้  เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ในรูปแบบที่หลากหลาย บริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการศึกษา พัฒนาการวิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะพลาสติกให้สอดคล้องกับแนวทาง BCG เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน GC หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกับ PPP Plastics และพันธมิตร จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้วอย่างเป็นระบบ และส่งผลให้โครงการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายที่วางไว้ ในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายใน ปี 2570”

นายนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาขยะพลาสติกเป็นความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่หลวงสำหรับทุกภาคส่วน เนสท์เล่ ในฐานะบริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก เราตระหนักดีถึงบทบาทและหน้าที่สำคัญของเราในฐานะผู้ผลิตที่ต้องมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่อนาคตที่ปลอดขยะ เนสท์เล่ได้มีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ของเราให้สามารถนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว เรายังเล็งเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และยินดีที่จะให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบโดยเร็ว”

Mr. Stephane Heddesheimer, CEO ของ กลุ่มรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ ของสุเอซ เอเชีย กล่าวว่า “การรีไซเคิลพลาสติก มีบทบาทสำคัญในการเร่งให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ของประเทศไทย และวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน บริษัท สุเอซ มุ่งมั่นที่จะ รีไซเคิลพลาสติก และเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานสำหรับประเทศไทย และยังคงร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย PPP Plastics และกลุ่มพันธมิตร ตลอดจนผู้นำอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า      เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ในการยุติขยะพลาสติก และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของเราจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และชุมชนของเรา”