‘อู๋ เทียนอี’ ผู้ได้รับ ‘เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา

0
2

อู๋ เทียนอี’ ผู้ได้รับ ‘เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา’: ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ที่ราบสูง’ ที่ปักหลักบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต

เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา” เป็นเกียรติภูมิสูงสุดภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2021 พิธีมอบ “เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา” จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างยิ่งใหญ่ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีน มอบเหรียญเกียรติยศแก่ผู้ได้รับรางวัลด้วยตนเอง

เฉพาะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ผู้สร้างคุณูปการอันยอดเยี่ยมแก่พรรคและประชาชนเท่านั้นจึงมีสิทธิ์ได้รับเกียรติเช่นนี้ พิธีมอบ “เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้โดยมีผู้ได้รับเกียรติอันสูงส่งรวม 29 คน รวมถึงอู๋ เทียนอี สมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน ผู้บุกเบิกภารกิจ ‘การแพทย์ที่ราบสูง’ และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่ราบสูงและสรีรวิทยาในภาวะออกซิเจนต่ำ ในช่วงเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา เขาผลักดันการแพทย์บนที่ราบสูงของจีนให้พัฒนาจาก “ไม่มี” สู่ “มี” จาก “อ่อนแอ” สู่ “แข็งแกร่ง” ชื่อของเขาได้ตราตรึงอยู่ในหัวใจประชาชนทุกชนเผ่าบนที่ราบสูงชิงไห่– ทิเบต

ช่วงทศวรรษ 1930 อู๋ เทียนอี เกิดในครอบครัวปัญญาชนทาจิกในเมืองอีลี่ เขตซินเจียง เขาตามพ่อแม่ไปอยู่ที่เมืองหนานจิง (นานกิง) และเรียนหนังสือที่นั่นเมื่อได้อายุ 9 ขวบ เดือนตุลาคม ค.ศ. 1950 กองทัพอาสาสมัครประชาชนจีนได้ข้ามแม่น้ำยาลู่ สงครามต่อต้านการรุกรานของสหรัฐฯ และช่วยเหลือเกาหลีได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ ที่เมืองหนานจิง อู๋ เทียนอีผ่านการตรวจสุขภาพตามเกณฑ์อย่างราบรื่นและกลายเป็นทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

อู๋ เทียนอี กล่าวว่า “อย่าคิดว่าผมตัวเล็ก แต่ผมมีสุขภาพดี ตอนนั้นผมมีความปรารถนาเพียงข้อเดียว คือเข้าร่วมกองทัพรับใช้ประเทศ” เนื่องจากมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี ทันทีที่เขาเข้าเป็นทหารก็ได้รับการจัดส่งไปรับการบ่มเพาะที่มหาวิทยาลัยการแพทย์จีน ภายหลังเขาผ่านการฝึกอบรมทางทฤษฎีเป็นเวลา 6 ปี สงครามต่อต้านสหรัฐฯ และช่วยเหลือเกาหลีได้ยุติลงแล้วหลังมีการลงนามข้อตกลงสงบศึก “แต่เวลานั้นกองทัพยังไม่ได้ถอนทัพกลับจีน ผมจึงขอวิงวอนอย่างแรงกล้าเพื่อไปแนวหน้า”

ค.ศ. 1957 อู๋ เทียนอีและภรรยาเปลี่ยนชุดทหารอาสาสมัครเดินทางไปที่โรงพยาบาลที่ 512 แห่งกองทัพอาสาสมัครประชาชนจีนในกรุงเปียงยาง ที่นั่นเนื่องจากมีผลงานโดดเด่นในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด เขาจึงได้รับการมอบรางวัลชั้นสามเป็นครั้งแรก

หลังจากตามกองทหารถอยทัพไปมณฑลชิงไห่ใน ค.ศ.1958 อู๋ เทียนอีถูกจัดส่งไปประจำการในกองร้อยทหารม้าเพื่อตอบสนองคำเรียกร้องที่ให้ “ทำการฝึกฝนทางการทหารอย่างขนานใหญ่” ในขณะนั้น “ผมอยากเป็นพลทหารธรรมดานายหนึ่ง” อู๋ เทียนอี กล่าวว่า เขาได้รับมอบเกียรติภูมิ “ทหารที่ดี 5 ประการ” ขณะประจำการในกองร้อยทหารม้า ซึ่งเป็นรากฐานสำหรับเขาในการ “ขี่ม้าเยี่ยมเยียนคนไข้” บนที่ราบสูงเป็นเวลายาวนานในภายหลัง

ช่วงปลายทศวรรษ 1950 คนหนุ่มสาวจำนวนมากไปยังมณฑลชิงไห่เพื่อสร้างสรรค์ที่ราบสูงด้วยความฝัน สิ่งที่คาดคิดไม่ถึง คือ ผู้ร่วมสร้างสรรค์จากดินแดนชั้นในของจีนจำนวนมากซึ่งเพิ่งเคยขึ้นไปยังชิงไห่เป็นครั้งแรกก็เกิดอาการไม่สบายเนื่องจากภาวะขาดออกซิเจนบนที่ราบสูงภายหลังพวกเขาไปถึงชิงไห่ได้ไม่นาน เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก และปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น แต่เนื่องจากขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บบนที่ราบสูง “โรคที่ราบสูง” หลายต่อหลายโรคจึงถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบหรือโรคเลือดคั่งในปอดที่พบเห็นได้โดยทั่วไป เป็นเหตุทำให้ผู้ร่วมสร้างสรรค์จำนวนมากล้มป่วยกระทั่งเสียชีวิตลง

อู๋ เทียนอี กล่าวว่า ในเวลานั้นโรคที่ราบสูงยังคงว่างเปล่าในด้านการวิจัยทางการแพทย์ในจีน ภายในประเทศจีนยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคนี้ และในด้านการแพทย์ที่ราบสูงนานาชาติก็มีเพียงชาวต่างชาติเท่านั้นที่ออกเสียง “ผมต้องเอาชนะโรคที่ราบสูงให้ได้” การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้อู๋ เทียนอีทำเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นตลอดชีวิตหลังจากนั้นซึ่งก็คือการวิจัยทางการแพทย์บนที่ราบสูง

สภาพแวดล้อมอันเลวร้ายที่ขาดออกซิเจนและมีความกดอากาศต่ำบนที่ราบสูงชิงไห่–ทิเบตนั้น ถือเป็นอุปสรรคแก่มนุษย์ในการพัฒนาที่ราบสูง ทั้งยังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนและทหารในที่นั่น จำต้องค้นพบต้นตอที่ก่อให้เกิดโรคบนที่ราบสูงและดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง” อู๋ เทียนอีเริ่มใช้ความรู้ทางการแพทย์ที่ได้เรียนรู้มาในการปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชนบนที่ราบสูง

ค.ศ. 1978 อู๋ เทียนอีกับเพื่อนร่วมงานได้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิจัยทางการแพทย์บนที่ราบสูงแห่งแรกของประเทศ เพื่อทำความเข้าใจโรคที่ราบสูงทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังต่าง ๆ อย่างครอบคลุมโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 – 1992 อู๋ เทียนอีรับหน้าที่เป็นผู้นำในการสำรวจโรคที่ราบสูงครั้งใหญ่ที่กินเวลานานกว่า 10 ปี ครอบคลุมประชากร 100,000 คน “ทุกครั้งที่ผมไปสถานที่ใดผมจะถามว่าพื้นที่ไหนอยู่เหนือระดับน้ำทะเลมากที่สุด” อู๋ เทียนอี กล่าวว่า การวิจัยทางการแพทย์บนที่ราบสูงจำต้องไปแหล่งที่สูง ห่างไกล และด้อยพัฒนา ต้องพยายามไม่ให้ตกหล่นแม้แต่ครัวเรือนเดียวหรือคนเดียว จึงจะรับรู้ถึงสภาพการกระจายของโรคและปัจจัยการเกิดโรคได้อย่างแม่นยำ

เวลาลงพื้นที่เลี้ยงสัตว์ พอกางเต็นท์ ตั้งอุปกรณ์เครื่องมือและมีเสียงเครื่องยนต์ดังขึ้น บรรดาชาวปศุสัตว์นึกว่าทีมฉายภาพยนตร์มาแล้ว” อู๋ เทียนอี ทนอาการไม่สบายจากภาวะขาดออกซิเจนบนที่ราบสูง เช่น ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ ท้องร่วง และอาเจียน เป็นต้น เขาขี่ม้าและนำจามรีที่บรรทุกอุปกรณ์เครื่องมือมากมายเดินทางไปยังเต็นท์ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ซึ่งอยู่ห่างไกลเพื่อสำรวจโรคที่ราบสูงอย่างครอบคลุม เมื่อหิวก็กินข้าวบาร์เลย์ของชาวปศุสัตว์หรืออาหารแห้งที่เตรียมไปเอง ตกกลางคืนเขากับชาวปศุสัตว์นอนในเต็นท์เดียวกันที่มีอุณหภูมิลบ 30 กว่าองศาเซลเซียส ยามดึกดื่นเขามักจะจุดตะเกียงเนยเพื่อเรียบเรียงข้อมูลตัวเลข

เพื่อศึกษา “ลักษณะทางสรีรวิทยาในการปรับตัวเข้ากับภาวะขาดออกซิเจนบนที่ราบสูง” ของชาวทิเบตในราบสูงชิงไห่-ทิเบต ซึ่งถือเป็นหัวข้อที่เป็นเป้าหมายหลักในการศึกษาวิจัย อู๋ เทียนอีซึ่งเชี่ยวชาญภาษาจีน ภาษาทาจิก ภาษาอังกฤษ และภาษารัสเซีย เรียนรู้ภาษาทิเบตเพิ่มเติมอีกภาษาหนึ่ งระหว่างทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาหลายทศวรรษ เขาเดินทางไปยังพื้นที่สูงส่วนใหญ่บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ทั้งยังช่วยรักษาพยาบาลชาวปศุสัตว์หลายหมื่นคน โดยรวบรวมข้อมูลทางคลินิกจำนวนมาก บรรดาชาวทิเบตที่เลี้ยงสัตว์ต่างเรียกเขาด้วยความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมว่า “หมอที่ดีบนหลังม้า”

เกี่ยวกับโรคที่ราบสูงทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต อู๋ เทียนอีได้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบจากแง่มุมทางระบาดวิทยา พยาธิสรีรวิทยา และการแพทย์คลินิก เขาได้เสนอมาตรฐานการวินิจฉัยโรคที่ราบสูงชนิดเรื้อรังเชิงปริมาณ ซึ่งถูกสมาคมการแพทย์ภูเขาสูงระหว่างประเทศ (The International Society of Mountain Medicine, ISMM) ใช้เป็นมาตรฐานสากลและตั้งชื่อว่า “มาตรฐานชิงไห่” โดยมีการใช้อย่างเป็นเอกภาพในระดับสากลใน ค.ศ. 2005 อู๋ เทียนอีได้สร้างคุณูปการอันโดดเด่นในการป้องกันและรักษาโรคที่ราบสูง

ภาวะขาดออกซิเจนบนที่สูงและหนาวเหน็บเป็นบททดสอบอันหนักหน่วงต่อสุขภาพของผู้ก่อสร้างทางรถไฟ นี่เป็นปัญหาความยากลำบากระดับโลกในการสร้างทางรถไฟบนที่ราบสูงและนับเป็นความท้าทายใหม่สำหรับการแพทย์ที่ราบสูง

ในช่วงห้าปีของการก่อสร้างทางรถไฟชิงไห่–ทิเบต ในฐานะอดีตหัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่ราบสูงของกระทรวงการรถไฟจีน อู๋ เทียนอีเป็นผู้นำในการกำหนดชุดมาตรการคุ้มครองแรงงานและมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ราบสูง ทั้งยังได้กำหนดมาตรการคุ้มครองสุขภาพและแผนปฐมพยาบาลที่ถูกหลักวิทยาศาสตร์และครอบคลุม ตลอดจนยังได้เขียนวิธีการวินิจฉัยโรคที่ราบสูงด้วยตนเองลงในคู่มือความรู้ทางวิทยาศาสตร์และส่งถึงมือคนงานก่อสร้างทางรถไฟทุกคน

“80% ของพื้นที่ตามแนวทางรถไฟชิงไห่-ทิเบตอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 4500 เมตร ออกซิเจนที่ร่างกายได้รับที่นี่มีเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณออกซิเจนในพื้นที่ที่มีความสูงเท่าระดับน้ำทะเล” อู๋ เทียนอีกล่าว เขาได้นำทีมวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทีมแพทย์ขึ้นไปบนภูเขาด้วยตัวเองเพื่อแนะแนวการทำงาน สามารถลดอัตราการเกิดโรคที่ราบสูงแบบเฉียบพลันจาก 9.8% ในระยะแรกของการก่อสร้างทางหลวงชิงไห่-ทิเบตเหลือต่ำกว่า 1%

การศึกษาวิจัยของอู๋ เทียนอีไม่เพียงแต่เป็นหลักประกันการก่อสร้างทางรถไฟชิงไห่-ทิเบตให้เป็นไปอย่างราบรื่นเท่านั้น หากยังสร้าง “ปาฏิหาริย์” ทางการแพทย์ระดับโลกที่มีคนงาน 140,000 คนทำงานบนพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตรเป็นเวลา 4 ปี โดยไม่มีกรณีการเสียชีวิตจากโรคที่ราบสูงแบบเฉียบพลันเกิดขึ้นแม้แต่รายเดียว

ผมเป็นทั้งหมอและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังเป็นคนรอบรู้โรคที่ราบสูงมากที่สุด ผมจำเป็นต้องไป!” เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 2010 จังหวัดปกครองตนเองชนเผ่าทิเบตอี้ว์ซู่ มณฑลชิงไห่ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 แมกนิจูด อู๋ เทียนอีวัยกว่า 70 ปี นอนไม่หลับทั้งคืน เขายื่นคำขอด้วยความสมัครใจโดยไม่คำนึงถึงการห้ามปรามของเพื่อนร่วมงานและสมาชิกครอบครัว นำทีมแพทย์รุดไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง

หลังจากไปถึงพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว เขาได้ต่อสู้ทั้งวันทั้งคืนในแนวหน้าการกู้ภัย ในเวลากลางวัน เขาเดินทางไปมาอย่างเร่งรีบระหว่างจุดกู้ภัยที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อชี้นำและเข้าร่วมช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการน้ำท่วมปอดซึ่งเป็นโรคที่ราบสูง ในตอนกลางคืนเขายังเดินทางไปยังทีมแพทย์ต่าง ๆ เพื่อบรรยายความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคที่ราบสูง เพื่อร่วมกันใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการช่วยชีวิตและปกป้องสุขภาพของประชาชน

นี่คือแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลสูงที่สุดในโลก เราต้องเอาชนะภัยพิบัติแผ่นดินไหวบนที่ราบสูงด้วยจิตวิญญาณของชาวคอมมิวนิสต์” อู๋ เทียนอีกล่าว หลังจากเกิดแผ่นดินไหว เขาเป็นประธานการประชุมหลายครั้งเพื่อสรุปประสบการณ์การบรรเทาภัยแผ่นดินไหวอี้ว์ซู่ ทั้งยังได้แนะนำประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จของจีนในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคที่ราบสูงแบบเฉียบพลันให้กับประชาคมระหว่างประเทศด้วย

อู๋ เทียนอีเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์หลายครั้งระหว่างทางไปชนบท จนถึงปัจจุบันขาของเขายังมีแผ่นสเตนเลสยาวกว่า 10 เซนติเมตรชิ้นหนึ่ง การรับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือยูวีเป็นเวลานานบนที่ราบสูงทำให้ดวงตาทั้งสองข้างของเขาเป็นโรคต้อกระจกอย่างรุนแรง หลังการผ่าตัดเขาทุ่มเททำงานในห้องปฏิบัติการทันทีโดยไม่พักผ่อนแม้แต่น้อย ในระหว่างทดลองจำลองโมดูลออกซิเจนความดันสูงและต่ำ อู๋ เทียนอีอาสารับความเสี่ยงจากการทดลองครั้งแรกโดยเข้าไปในโมดูลทดลองอย่างไม่ลังเล เนื่องจากขาดประสบการณ์ความกดอากาศในโมดูลลดลงอย่างรวดเร็วเป็นเหตุทำให้เยื่อแก้วหูทะลุและสมรรถภาพการได้ยินของเขาได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง แต่เขาก็ได้ค้นพบดัชนีชี้วัดด้านความปลอดภัยในการทำงานของโมดูล

อู๋ เทียนอีทำงานมาทั้งชีวิตด้านสุขภาพและสาธารณสุข เขาได้รับรางวัลมากมายนับไม่ถ้วน “ที่ราบสูงชิงไห่–ทิเบตเป็นฐานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของผมและเป็นรากฐานของชีวิตผมด้วย การวิจัยทางการแพทย์บนที่ราบสูงคือความปรารถนาตลอดชีวิตของผม ‘เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา’ เป็นเกียรติภูมิอันสูงสุดภายในพรรคฯ เป็นทั้งเกียรติยศและการทดสอบ ในอนาคตผมจะนำพาทีมงานและฝึกอบรมผู้รับช่วงต่อภารกิจให้ดี สร้างคุณูปการมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันแก่สุขภาพของประชาชนและทหารบนที่ราบสูง” อู๋ เทียนอีกล่าว

แปลเรียบเรียงโดยภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีนCMG