ภาษาจีน ภาษาที่น่าสนใจแห่งยุคสมัย

0
44

ภาษาจีนถือเป็นภาษาที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมากในโลกของเรา และมีแนวโน้มเป็นภาษาที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ในอนาคตบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้นั้นมีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนเป็นอย่างมาก องค์กรภาครัฐ บริษัทเอกชน ในประเทศไทยหลายแห่งมีความต้องการพนักงานที่มีทักษะทางด้านภาษาจีน ในระดับที่สามารถพูด อ่าน เขียนได้ โดยมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นถึง 35% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และ บุคลากรในกลุ่มที่ใช้ภาษาจีนได้นี้จะได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งการมีทักษะภาษาจีนนั้นเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้เกิดจุดเด่นในการสมัครงานในตลาดแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ของประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ทำให้ภาษาจีนกลายเป็นภาษากลางในกลุ่มการค้าของจีน-อาเซียน  ผู้ที่สามารถสื่อสารได้มักจะมีความได้เปรียบเป็นอย่างมาก

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน และมีประชากรที่มีบรรพบุรุษมาจากประเทศจีนหรือมีเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับพบว่าคนไทยเชื้อสายจีนในรุ่นถัดมาสองหรือสามรุ่นนั้น กลับยังไม่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ และมักจะใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นหลัก จนประมาณหลังปี พ.ศ. 2518 จึงได้มีการฟื้นฟูการเรียนภาษาจีนกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

ในด้านการเรียนการสอนภาษาจีนประเทศไทย ได้มีการบรรจุหลักสูตรภาษาจีนเพื่อใช้ในการเรียนการสอนมานานกว่า 50 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้รัฐบาลสั่งห้ามมิให้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนค่อนข้างนาน จนกระทั่งจากปี พ.ศ. 2518 จึงการศึกษาภาษาจีนจึงเริ่มกลับมามีการจัดการเรียนการสอนอีกครั้ง จนต่อมาปี พ.ศ. 2535  รัฐบาลไทยได้ประกาศอนุญาตให้สอนภาษาจีนได้ในทุกระดับชั้นเรียน และ มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นตามลำดับ

ในปัจจุบันนั้น ภาษาจีนได้กลายเป็นภาษาต่างชาติที่คนไทยให้ความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในการเลือกเรียนเสริม   ทำให้สถาบันการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ทำการเปิดสอนกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในประเทศไทย พบว่า มีจำนวนสถานศึกษาในระดับต่างๆ ที่เปิดสอนในหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีน มากกว่า 1,700 แห่ง โดยกระจายในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการศึกษานอกระบบอีกกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา) และมีแนวโน้มจะมีการเปิดสอนเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต

เดิมทีผู้เขียนไม่คิดว่าตนเองจะมีโอกาสได้ใช้ภาษาจีน และคิดว่าภาษาจีนนั้นไม่มีความจำเป็นกับสายอาชีพ จนกระทั่งมีโอกาสประสานงานกับชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนคนจีนที่ทำงานในประเทศไทย อีกทั้งยังได้มีโอกาสติดต่อประสานงานกับหน่วยงานในประเทศจีน รวมถึงบุคคลแวดล้อมล้วนต่างมีความสัมพันธ์กับประเทศจีนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผู้เขียนจึงตระหนักได้ว่า ในอนาคตการสื่อสารภาษาจีนอาจจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราก็เป็นได้

จากปัจจัยต่างๆ ที่ประเทศจีนนั้นได้มีการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง  และกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลของโลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ทำให้ภาษาจีนกลายเป็นภาษาที่สำคัญแห่งยุคสมัย และกำลังเข้ามามีอิทธิพลกับเราในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งมิใช่เพียงเพราะภาษาจีนเป็นภาษาที่คนนิยมมากที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ภาษาจีนกำลังจะกลายเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดในโลก และปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษาจีนในการสื่อสารถึง 1.3 พันล้านคนทั่วโลก โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคการศึกษาของไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาจีน โดยกระทรวงศึกษาธิการและสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กําหนดยุทธศาสตร์ให้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนไว้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 ส่งผลให้ในปัจจุบันมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเปิดสอนภาษาจีนจํานวนมาก และกระจายอยู่ทุกภูมิภาค โดยมีการเปิดสอนในระดับประถมศึกษาในอีกหลายโรงเรียนอีกด้วย รวมถึงมีโรงเรียนสอนสองภาษาไทย-จีน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 14 โรงเรียน ในส่วนของระดับอุดมศึกษานั้น หลักสูตรภาษาจีนได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับปริญญาตรี ของ มหาวิทยาลัยรัฐ และ มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามการที่ภาครัฐไทยได้ให้ความสำคัญและกำหนดนโยบายด้านการศึกษาภาษาจีนนั้น ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากขาดความร่วมจากเจ้าของภาษาอย่างประเทศจีน โดยประเทศจีนได้ให้การสนับสนุนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ 1. การสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญทางภาษาจีน ทั้งการอบรมพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน และการส่งครูผู้สอนจีนเข้าไปสอนในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และประถมศึกษา โดยผ่านสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น สถาบันขงจือ ซึ่งมีถึง 16 แห่งทั่วประเทศ 2. การสนับสนุนด้านกิจกรรมการแข่งขันทางภาษาจีน ที่ผ่านมามีโครงการเพชรยอดมงกุฎถือเป็นการแข่งแข่งระดับประเทศ อีกทั้งประเทศจีนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าร่วมแข่งขันทางภาษาจีนในโครงการอื่นๆในระดับนานาชาติของประเทศจีนได้อีกด้วย 3. การสนับสนุนด้านทุนการศึกษา ประเทศไทยได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปแลกเปลี่ยนยังประเทศจีน มากกว่า 200 ทุนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นทุนเรียน แบบไม่มีเงื่อนไขต้องใช้ทุน โดยมีทั้งทุนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากรัฐบาลจีนและจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของจีน ทั้งนี้มีบุคลากรที่เคยได้รับทุนการศึกษาจากประเทศจีนได้กลับมาพัฒนาหลักสูตรด้านการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยจำนวนหนึ่งซึ่งกระจายอยู่ในมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานด้านนโยบายการศึกษา ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่าวิชาภาษาจีนนั้นอาจจะถูกบรรจุให้เป็นวิชาบังคับในประเทศไทยก็เป็นได้ ทั้งนี้มีหลายประเทศได้ดำเนินการบรรจุวิชาภาษาจีนเป็นวิชาบังคับเรียบร้อยแล้ว

ยังไม่สายเกินไป.. หากท่านผู้อ่านกำลังสนใจที่จะเริ่มต้นศึกษาภาษาจีน เพราะเหล่าเจ้าสัว เจ้าของกิจการต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยหลายท่าน นอกจากจะรับพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้แล้วนั้น ต่างสนใจที่จะศึกษาและเรียนภาษาจีนโดยจ้างครูมาสอน หรือ สมัครเรียนกับสถานบันภาษาจีนทั้งสิ้น บ้างก็ส่งลูกหลานเรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่ 2 ที่ 3 รวมถึงส่งไปเรียนยังประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจอีกด้วย

จากหัวข้อที่ว่า “ภาษาจีน ภาษาที่น่าสนใจแห่งยุคสมัย” นั้น คงไม่มากเกินไป หรือไกลเกินความจริง และผู้เขียนมีความเชื่ออย่างยิ่งว่าคนไทยโดยเฉพาะภาคธุรกิจและบริการควรมีทักษะภาษาจีน เพื่อติดต่อสื่อสารอันจะเป็นประโยชน์ต่ออาชีพและธุรกิจของท่านอย่างแน่นอนในยุคหลังโควิด-19

บทความโดย ดร.กฤตติกา เศวตอมรกุล ร

รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

และ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร

ภาพโดย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์