การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของจีนมีผลงานโดดเด่น

0
1
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของจีนมีผลงานโดดเด่น
 
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การชี้นําของความคิดว่าด้วยอารยธรรมทางนิเวศวิทยาของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนได้ยืนหยัดการพัฒนาสีเขียวและเสริมสร้างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาอย่างต่อเนื่องพร้อมไปกับการสร้างผลงานอันโดดเด่น
 
ความพยายามอย่างต่อเนื่องแลกมาซึ่งท้องฟ้าสีคราม
 
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่งที่เพิ่งปิดฉากลงได้ไม่นาน ฉากที่บรรดานักกีฬาพลิกตัวกลางอากาศ บวกกับท้องฟ้าสีครามอันสดใสที่อยู่เบื้องหลังของพวกเขา ร่วมกันประกอบขึ้นเป็นภูมิทัศน์ที่ตราตรึงใจผู้คนมากที่สุด ในระหว่างงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้คุณภาพอากาศของกรุงปักกิ่งอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง “ปักกิ่งบลู” ได้รับการชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์จากสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
งานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเป็นหน้าต่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของจีนในการจัดการมลพิษ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวภาคเหนือของจีนเคยเกิด “หมอกควันหนัก” บ่อยครั้ง และมีโอกาสน้อยที่จะได้พบวันที่ท้องฟ้าสีคราม ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา จีนได้ทุ่มเทอย่างเป็นประวัติการณ์ในการสร้างสรรค์อารยธรรมทางนิเวศวิทยา ได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเอาชนะสงครามป้องกันและบำบัดมลพิษอย่างแน่วแน่
 
เพื่อแลกมาซึ่งท้องฟ้าสีครามมากขึ้น ภาคเหนือของจีนมีมากกว่า 20 ล้านครัวเรือนในชนบทได้ยุติวิธีการทําความร้อนด้วยการจุดไฟและรมควัน ใช้ไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติแทนที่ถ่านหิน ได้ลดการปล่อยสารมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน การถลุงเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดําเนินการดัดแปลงเพื่อให้ปล่อยสารมลพิษในระดับที่ต่ำเป็นพิเศษ ได้คัดออกหรือสั่งปิดวิสาหกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษและไม่ได้มาตรฐานตามนโยบายท้องถิ่น ได้ดำเนินการลดมลพิษยานยนต์ ยกระดับคุณภาพน้ำมันและมาตรฐานการปล่อยไอเสีย ยอดปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนต่างก็เป็นที่หนึ่งของโลก
 
หลังผ่านการบริหารจัดการมาเป็นเวลาหลายปี เมื่อปี 2021 คุณภาพอากาศกรุงปักกิ่งได้มาตรฐานอย่างรอบด้านเป็นครั้งแรก การจัดการมลพิษทางอากาศได้ประสบความสําเร็จเชิงหมุดหมาย
 
ท้องฟ้าสีครามเมฆสีขาวค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งเท่านั้น นายหวัง จินหนาน สมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศจีน และผู้อํานวยการสถาบันวางแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาจีนกล่าวว่า ระหว่างปี 2017 ถึง 2021 ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในเมืองต่าง ๆ ที่มีระดับสูงกว่าอำเภอในแง่การปกครองได้ลดลง 25% สัดส่วนของวันที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีเยี่ยมเพิ่มขึ้น 4.9% และจํานวนวันมลพิษหนักลดลงเกือบ 40%
 
ออกมาตรการปกป้องแม่น้ำให้เป็นสีเขียวครามอย่างต่อเนื่อง
เมื่อปี 2021 คุณภาพน้ำโดยรวมในเขตทะเลสาบไป๋หยางเตี้ยน ซึ่งขึ้นชื่อเป็น “ไข่มุกแห่งภาคเหนือของจีน” อยู่ในระดับ III และดัชนีสารพิษที่สําคัญลดลงอย่างมาก ทั้งนี้หมายความว่าไป๋หยางเตี้ยนได้ยกระดับขึ้นเป็นหนึ่งในทะเลสาบที่ดีระดับชาติแล้ว
 
ไป๋หยางเตี้ยนเป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในที่ราบภาคเหนือของจีน ในอดีตเนื่องจากขาดการคุ้มครองร่วมกันจากทางต้นน้ำและปลายน้ำ ไป๋หยางเตี้ยนได้กลายเป็นสถานที่สกปรก
 
หลังจากการจัดตั้งเขตใหม่สงอันเมื่อปี 2017 ไป๋หยางเตี้ยนได้รับการบริหารจัดการด้านนิเวศวิทยาเชิงระบบขนานใหญ่เป็นประวัติการณ์ ได้ยกระดับขีดความสามารถในการบําบัดน้ำเสีย ลดมลพิษทางการเกษตร ดําเนินการเติมน้ำทางนิเวศวิทยา บทบาท “ไตแห่งภาคเหนือ” ได้รับการเร่งซ่อมแซมและฟื้นฟู คุณภาพน้ำปรับปรุงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด
 
ฝูงนกน้ำบินกระพือปีก ปลากะพงที่หายหน้าหายตาไปหลายปีก็ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตไป๋หยางเตี้ยนตลอดทั้งปีกล่าวว่า ปลากะพงต้องการเงื่อนไขสูงมากทางด้านคุณภาพน้ำ การปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งของมันพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณภาพน้ำของไป๋หยางเตี้ยนดีขึ้นแล้วจริงๆ
 
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ปีนี้ เรือบรรทุกสินค้าพลังงานไฟฟ้าขนาด 3,000 ตันลําแรกในลุ่มแม่น้ำแยงซีได้ออกเดินเรือเป็นครั้งแรกในเมืองหนานจิง เรือลํานี้ได้รับการดัดแปลงจากเรือบรรทุกสินค้าพลังงานน้ำมันโดยใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานเดียวของเรือ ได้บรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เสียงรบกวนต่ำ และปราศจากมลพิษ
 
“ร่วมกันทุ่มเทเพื่อการคุ้มครอง ไม่ดำเนินการพัฒนาขนาดใหญ่” เพื่อปกป้องแม่น้ำแยงซีอันใสสะอาดไหลไปยังทิศตะวันออกอย่างยิ่งใหญ่ มณฑลและนครสองฝั่งแม่น้ำแยงซีต่างได้ใช้ปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปกป้อง “แม่น้ำแม่” ได้แก้ไขปัญหายุ่งยากที่ “โรงงานสารเคมีล้อมแม่น้ำ” วิสาหกิจเคมีภัณฑ์ตามแนวแม่น้ำได้ “ปิดหรือเปลี่ยนกิจการ ดัดแปลง หรือย้ายสถานที่” ได้ดำเนินการจัดระเบียบท่าเรือและชายฝั่งแม่น้ำ ดัดแปลงบริเวณชายฝั่งแม่น้ำเป็นพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะ ดําเนินการ “ห้ามทำการประมงเป็นเวลา 10 ปี” ชาวประมงนับหลายแสนคนได้เปลี่ยนอาชีพ มณฑลและนครตามสองฝั่งแม่น้ำแยงซีได้ค้นพบหนทางใหม่ที่ถือระบบนิเวศสำคัญที่สุดและดำเนินการพัฒนาสีเขียว
 
นายจาง โป อธิบดีกรมสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาด้านน้ำ และวิศวกรใหญ่ประจำกระทรวงสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาแห่งประเทศจีน กล่าวว่า เมื่อปี 2021 คุณภาพสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาด้านน้ำทั่วประเทศได้รักษาไว้ซึ่งแนวโน้มแห่งการปรับปรุงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักของลุ่มแม่น้ำแยงซีถึงระดับ II ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปีแล้ว
 
นายจาง หมิงฮ่าว อาศัยอยู่ริมแม่น้ำแยงซี ในเมืองถงหลิงมณฑลอานฮุย เป็นอาสาสมัครอนุรักษ์ทางชีวภาพในแม่น้ำแยงซี “เมื่อหลายปีก่อน ผมไปเฝ้ารอในแหล่งที่มีโลมาหัวบาตรหลังเรียบแยงซีเคยปรากฏให้เห็นบ่อย ๆ แต่ก็พบเห็นไม่บ่อยนัก แต่เมื่อปี 2021 เราได้เห็นมันทุกวันแล้ว ” จาง หมิงฮ่าว บอกว่า เมื่อน้ำใสสะอาดขึ้นและมีปลามากขึ้น โลมาหัวบาตรหลังเรียบแยงซีจึงได้เพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติ
 
พัฒนาอย่างต่อเนื่องให้แผ่นดินจีนเปี่ยมไปด้วยสีเขียว
 
จีนให้ความสำคัญกับการปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปัจจุบันอัตราการครอบคลุมพื้นที่ป่าของจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เมื่อทศวรรษ 1980 เป็นร้อยละ 23.04 ในปัจจุบัน ทรัพยากรป่าไม้เติบโตอย่างต่อเนื่อง สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยในเมืองและชนบทได้รับการปรับปรุงดีขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวโดยรวมจีนได้บรรลุการเปลี่ยนแปลงจากสีเหลืองสู่สีเขียวและจากสีเขียวสู่ความงาม
 
ไม่เพียงแค่นั้น ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจีนยังได้ยกระดับการคุ้มครองระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ได้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติรุ่นแรก เช่น อุทยานแห่งชาติซานเจียงหยวน อุทยานแห่งชาติหมีแพนด้า อุทยานแห่งชาติเสือดาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุทยานแห่งชาติป่าฝนเขตร้อนไหหลํา และอุทยานแห่งชาติภูเขาอู่อี เป็นต้น ครอบคลุมพื้นที่คุ้มครองถึง 230,000 ตารางกิโลเมตร และครอบคลุมเกือบ 30% ของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าที่ประเทศบนบกให้การอนุรักษ์ในลำดับสำคัญ พื้นที่เส้นสีแดงในการคุ้มครองระบบนิเวศที่จีนกําหนดขึ้นในเบื้องต้นมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 25% ของพื้นที่บนบกทั่วประเทศ โดยจีนได้จัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติต่าง ๆ เกือบ 10,000 แห่ง
ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าแห่งการสร้างสรรค์อารยธรรมทางนิเวศวิทยาของท้องที่ต่างๆ วิสัยทัศน์ที่สวยงามแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
ก่อนเทศกาลตรุษจีนปีขาลมาถึง ในป่าต้าซิงอันหลิงได้ปรากฏร่องรอยเสือโคร่งไซบีเรียอีกครั้ง ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า ตามข้อมูลที่บันทึกไว้การ “ปรากฏตัว” ของเสือโคร่งไซบีเรียครั้งนี้ห่างจากการพบร่องรอยเสือในป่าต้าซิงอันหลิ่งครั้งล่าสุดกว่า 50 ปีแล้ว ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับปรุงดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในท้องถิ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 
“มนุษย์ไม่ทําลายภูเขาเขียว ภูเขาเขียวย่อมไม่ให้มนุษย์ผิดหวัง” ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยวชนบทและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา ท้องที่มากมายของจีนได้ค้นพบหนทางที่ได้ชัยชนะทั้งทางด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการพัฒนาเศรษฐกิจ
 
แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(CMG)
ภาพประกอบ
ภาพประกอบ 1
การแข่งขันสโนว์บอร์ดประเภท Big Air ชาย รอบชิงชนะเลิศในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 จัดขึ้นที่แท่นสกีกระโดดไกลโส่วกังในกรุงปักกิ่ง
ภาพประกอบ 2
ทัศนียภาพทะเลสาบไป๋หยางเตี้ยน (บันทึกภาพด้วยโดรน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2021)
ภาพประกอบ 3
เสือดาวหิมะที่บันทึกภาพด้วยกล้องอินฟราเรดในอุทยานแห่งชาติซานเจียงหยวน (บันทึกภาพเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2020)
ภาพประกอบ 4
ทิวทัศน์ป่าปลูกไซ่ห่านป้า (บันทึกภาพด้วยโดรน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2021)