มองอนาคตความร่วมมือไทย-จีน  หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเยือนไทย

0
1
มองอนาคตความร่วมมือไทย-จีน  หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเยือนไทย
 
การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2565 และ คำยืนยันว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะเดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ หากไม่ติดภารกิจ  เป็นสิ่งตอกย้ำถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไทยและจีนที่มีมาโดยตลอดตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศเป็นเวลา 47 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518
 
การเดินทางมาเยือนไทยของนายหวัง อี้ ในครั้งนี้ เป็นการเดินทางมาเยือนไทยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี โดยครั้งล่าสุดคือเดือนตุลาคม 2563  ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือจากที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเยือนเมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1-2 เมษายน 2565 และยังเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ของไทยและจีน
 
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยว่า ไทยและจีนจะพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกันในหลายด้าน ได้แก่ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี  โดยไทยและจีนเห็นพ้องร่วมกันในความร่วมมือระหว่างประเทศที่ทั้งสองประเทศบทบาทสำคัญ ได้แก่ กรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศ BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ที่จีนเป็นประธานการประชุมในปีนี้  และกรอบความร่วมมือเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ รวมถึงกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง  ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) และกรอบความร่วมมืออาเซียน -จีน
 
 
ส่วนความร่วมมือในกรอบทวิภาคี มีการหารือกันหลายด้านอาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การอำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีน  ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ประกอบการไทยและผู้บริโภคจีน โดยจีนจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง การเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจุดนำเข้าผลไม้ที่สถานีรถไฟด่านมอฮั่นและด่านอื่นๆ  การพัฒนาช่องทางสีเขียว เพิ่มความคล่องตัวในการตรวจสอบสินค้า  
 
การพัฒนาเส้นทางการขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ได้แก่การผลักดันระบบการขนส่งทางรถไฟ โดยการเชื่อมโยงโครงการรถไฟจีน – ลาวกับระบบรางของไทย การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงจากจีนเชื่อมระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor- ILSTC) เพื่อเป็นเส้นทางส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทยไปจีนและไปสู่ยุโรป
 
ส่วนเรื่องการเดินทางระหว่างไทยและจีน ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด 19 จะมีความสะดวกขึ้น จากที่ทางจีนอนุญาตให้สายการบินของไทยกลับไปเปิดทำการบินเชิงพาณิชย์ในเส้นทางไทยจีนเพิ่มมากขี้น  รวมถึงทางจีนเริ่มอนุญาตให้นักศึกษาไทยกลับไปศึกษาต่อที่จีนได้   นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยจีนจะช่วยเรื่องการปราบปรามขบวนการมิจฉาชีพที่ใช้รูปแบบการโทรศัพท์หลอกลวงด้วย
 
นอกจากนี้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังมองถึงบทบาทเชิงรุกของไทยว่า ไทยพร้อมส่งเสริมให้ประเทศมหาอำนาจมีบทบาทที่สร้างสรรค์ช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค เช่น สถานการณ์เมียนมาร์  สถานการณ์ทะเลจีนใต้  สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี  เพื่อให้เกิดประโยชน์กับไทย จีน และภูมิภาค
 
นับว่าการหารือกันของทั้งสองฝ่ายถือเป็นความร่วมมือกันระหว่างไทยและจีนในหลายมิติ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด 19  เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของทั้งสองประเทศ ดังที่  พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวกับ นายหวัง อี้ ว่า 齐心协力,事事顺利(ฉีซินเฉียลี่ ชื่อชื่อชุ่นลี่) “ร่วมแรงร่วมใจ ทุกเรื่องสมความปรารถนา”
ภาพข่าว : กระทรวงการต่างประเทศ
 
บทความโดย ประวีณมัย  บ่ายคล้อย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG)