ขยายไม่หยุด! ท่าเรือกว่างโจว เปิดเส้นทางขนส่ง “ทางรถไฟ-ทะเล” แล้ว 35 เส้นทาง

0
25
(แฟ้มภาพซินหัว : ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าที่มุ่งหน้าสู่เมืองฮัมบวร์คในประเทศเยอรมนี เดินทางออกจากท่าเรือบกระหว่างประเทศ เมืองสือเจียจวง มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน วันที่ 17 เม.ย. 2022)

ปักกิ่ง, 17 ส.ค. (ซินหัว) — ข้อมูลสถิติชี้ว่า จนถึงปัจจุบันท่าเรือกว่างโจวได้เปิดใช้งานเส้นทางขนส่งทางรถไฟ-ทะเล อันเป็นเส้นทางการขนส่งแบบหลากหลายวิธี (Intermodal Transportation) แล้วรวมทั้งสิ้น 35 เส้นทาง โดยเชื่อมต่อกับหลายมณฑลภายในประเทศ เช่น เจียงซี หูหนาน ซื่อชวน (เสฉวน) และกว่างซี อ้างอิงจากรายงานของเว็บไซต์ข่าว Chinanews.com เมื่อวันอังคาร (16 ส.ค.)

เมื่อเร็วๆ นี้ กว่างโจวเปิดบริการเส้นทางขนส่งตู้คอนเทนเนอร์แบบผสมทั้งทางรถไฟและทางทะเลสายใหม่ โดยเชื่อมต่อเมืองหลิ่วโจวในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับท่าเรือหนานซาของนครกวางโจว ซึ่งถือเป็นช่องทางการขนส่งแบบหลากหลายวิธีสายที่ 35 ของการท่าเรือกว่างโจว หรือ กว่างโจว พอร์ต กรุ๊ป (Guangzhou Port Group)

การเดินทางด้วยรถไฟมีระยะทางรวมประมาณ 1,000 กิโลเมตร และใช้เวลาเพียง 4 วันจากโรงงานในหลิ่วโจวถึงท่าเรือหนานซา ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับทางถนน

สินค้าบนรถไฟส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ผลิตในหลิ่วโจว โดยหลังจากผ่านการขนถ่าย ตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้จะถูกส่งไปยังแอฟริกา

เป็นที่ทราบกันว่าหลิ่วโจวเป็นแหล่งสินค้าที่สำคัญของท่าเรือกว่างโจว ซึ่งมีสินค้ามากมายและมีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ช่องทางการขนส่งแบบผสมผสานดังกล่าว จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทท้องถิ่นในหลิ่วโจวโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปริมาณการขนส่งทางรถไฟ-ทะเลของท่าเรือหนานซาในเครือท่าเรือกวางโจวอยู่ที่ 31,000 ทีอียู (หน่วยนับสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุต)

(เรียบเรียงโดย Bao Nuomin, Xinhua Silk Road, https://en.imsilkroad.com/p/329563.html)