เรือยักษ์ขน ‘ก๊าซธรรมชาตินำเข้า’ เทียบท่าในซานตง ผ่านเส้นทาง ‘หลงโข่ว-มาเลเซีย’

0
52
(แฟ้มภาพซินหัว : ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุก๊าซธรรมชาติเหลวกำลังถูกขนถ่ายจากเรือบรรทุกสินค้า)

ปักกิ่ง, 24 ส.ค. (ซินหัว) —  เมื่อไม่นานนี้ ท่าเรือหลงโข่วในเมืองเยียนไถ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน ได้ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์บรรจุของเหลวลงจากเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มาเทียบท่า โดยตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้มีลักษณะเป็นถังภายในบรรจุก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้เรือขนาดใหญ่เช่นนี้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ผ่านเส้นทางขนส่ง “หลงโข่ว-มาเลเซีย”

เรือลำนี้มีชื่อว่า “ไทเกอร์ บินตูลู” (TIGER BINTULU) มีความยาว 192 เมตร กว้าง 37.6 เมตร มีความสามารถในการบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ใส่ก๊าซธรรมชาติเหลวได้เกือบ 700 ตู้ คิดเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลวรวมประมาณ 15,000 ตัน

ศุลกากรหลงโข่วได้ช่วยประสานงานระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้การขนถ่ายสินค้าออกจากเรือเป็นไปอย่างราบรื่น ผ่านนโยบายสนับสนุนหลากหลาย ตลอดจนแนวทางการจัดการและควบคุมที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่าง ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุของเหลว 402 ตู้ จึงถูกขนถ่ายออกจากเรือได้สำเร็จภายใน 20 ชั่วโมง

ท่าเรือหลงโข่ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของเขตเศรษฐกิจโป๋ไห่ (Bohai Economic Rim) โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการก่อตั้งต้นแบบการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์บรรจุก๊าซธรรมชาติเหลว ที่มีเส้นทางการเดินเรือและเรือแบบคงที่ และตั้งแต่ต้นปี 2022 หน่วยงานศุลกากรหลงโข่วได้ดูแลจัดการการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้าแล้วเป็นจำนวน 8 ครั้ง รวมเป็นตู้คอนเทนเนอร์ 1,327 ตู้

เมื่อเทียบกับวิธีการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวแบบเก่า คอนเทนเนอร์แบบถังสำหรับบรรจุก๊าซธรรมชาติเหลวมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ทั้งยังปลอดภัยและมีเสถียรภาพมากขึ้น

(เรียบเรียงโดย Yu Huichen, Xinhua Silk Road, https://en.imsilkroad.com/p/329647.html)