เจาะใจผู้ประกอบการไทย ปั้นแบรนด์กล้วยชุมชนเจาะตลาดจีน

0
1

เจาะใจผู้ประกอบการไทย ปั้นแบรนด์กล้วยชุมชนเจาะตลาดจีน

กว่า 5 ปีแล้ว ที่แบรนด์ ““Chips & Chill” แบรนด์กล้วยแปรรูปของพิมพร แจ่มโพธิ์  เป็นที่รู้จักในตลาดจีน

พิมพร แจ่มโพธิ์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจกล้วยแปรรูป เริ่มจากเมื่อปี 2539  ผลผลิตกล้วยน้ำว้าล้นตลาด  จนทำให้กล้วยน้ำว้าจังหวัดสุโขทัยราคาตกต่ำอย่างรุนแรง  ขายได้เพียงราคาหวีละ 50 สตางค์  เธอจึงเริ่มนำกล้วยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น กล้วยทอดรสเนย ปรากฎว่าเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า

จากนั้น จึงเริ่มทำธุรกิจกล้วยแปรรูป โดยส่งเสริมชุมชนและเกษตรกรที่จังหวัดสุโขทัยปลูกกล้วยและขายให้กับทางบริษัท  นำมาแปรรูปเป็นรสชาติต่างๆ มีหน้าร้านอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยและขายในประเทศ

ส่วนจุดเริ่มต้นของการส่งออกกล้วยไปยังประเทศจีน เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560  มีลูกค้านักท่องเที่ยวชาวจีนมาชิมกล้วยของที่ร้านแล้วติดใจ  จึงติดต่อขอให้ส่งกล้วยไปขายที่จีน  เธอจึงเริ่มศึกษาตลาดต่างประเทศ และจัดตั้งบริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด  โดยได้รับคำปรึกษาจากสำนักงานพาณิชย์ จังหวัดสุโขทัย เรื่องขั้นตอนการส่งสินค้าไปประเทศจีน

เธอเล่าว่าตอนแรกที่ส่งออกเป็นการขายเป็นตู้  ตู้หนึ่งมีกล้วยประมาณ 16,500 กิโลกรัม  ต่อมาจึงคิดต่อยอดธุรกิจ  สร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่า เห็นว่าผลิตภัณฑ์กล้วยของเธอเป็นของขบเคี้ยวที่ทานแบบชิลๆ เลยตั้งชื่อแบรนด์ว่า  “Chips & Chill”

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาผู้บริโภคและตลาดจีน มีการศึกษาพฤติกรรมของคนจีนว่าชอบรสชาติแบบไหน  และได้รับคำตอบว่า ผู้บริโภคชาวจีนจะชอบกล้วยรสเนยเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้จึงมีการพัฒนา Chips & Chill ให้มี 3 รส คือ กล้วยรสเนย หม่าล่า และ ต้มยำ  และกำลังพัฒนาจะมีรสใหม่ คือกล้วยทอดรสลาบ รวมถึงจะเปลี่ยนรูปแบบของกล้วยให้มีแบบเส้นด้วย  โดยจุดเด่นของ Chips & Chill อยู่ที่การใช้น้ำมันรำข้าวทอดกล้วย ซึ่งเป็นน้ำมันเพื่อสุขภาพ

โดยตอนนี้ Chips & Chill มีจำหน่ายในประเทศจีน ที่ร้าน Thai Pavillion ในสนามบินปักกิ่ง ต้าซิง และยังจำหน่ายออนไลน์ที่แพลทฟอร์ม เถาเป่า (Taobao) และพินตัวตัว (Pinduodio)  มียอดส่งออกไปจีนเดือนละ17,500 กิโลกรัม  โดยได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการค้า FTA ระหว่างจีนกับอาเซียน เนื่องจากจีนไม่เก็บภาษีศุลกากรกับกล้วยแปรรูปที่ส่งออกจากไทย

นอกจากตลาดจีนแล้ว  พิมพรบอกว่ายังมีขยายตลาดส่งออกยังประเทศเกาหลีใต้  ลาว เมียนมาร์ และมาเลเซีย  โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด  โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวที่เมืองไทย  แต่ยอดการส่งออกกล้วยแปรรูปไปจีนในช่วงยังเติบโตต่อเนื่อง ถือเป็นอีกตัวอย่างของผู้ประกอบการรายเล็กที่พัฒนาแบรนด์อาหารไทยเจาะตลาดจีนได้สำเร็จ

บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย