จับตาบทบาท “จีน” ในเวทีการประชุม องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ครั้งที่ 22

0
1

จับตาบทบาท “จีน” ในเวทีการประชุม องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ครั้งที่ 22

การประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ครั้งที่ 22 ที่จัดขึ้นที่เมืองซามาร์กันต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 15 – 16 กันยายน พ.ศ. 2565  ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

เพราะนี่เป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ของประธานาธิบดีสี  จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19  และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำของสมาชิก SCO จะได้พบปะพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ที่ทำให้การประชุมที่ผ่านมาต้องปรับเป็นรูปแบบออนไลน์

นอกจากนี้  สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และ ประธานาธิบดี วลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เตรียมพบปะหารือกันนอกรอบ ระหว่างการร่วมประชุมนี้  นับว่าเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกของผู้นำ 2 ท่าน นับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทางการจีนแถลงว่า  การเข้าร่วมประชุม SCO ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นกิจกรรมทางการทูตที่สำคัญก่อนจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 แสดงถึงการที่จีนให้ความสำคัญอย่างมาก กับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศสมาชิก SCO ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงผันผวน

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่งจีนกับคาซัคสถาน และจีนกับอุซเบกิสถาน  จีนมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคาซัคสถานและอุซเบกิสถานเมื่อ 30 ปีก่อน  คาซัคสถานและอุซเบกิสถานถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของจีน  โดยเป็นประเทศบนเส้นทางของ Belt and Road  ถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีน

การเยือนคาซัคสถานและอุซเบกิสถานของประธานาธิบดีสี  จิ้นผิง  ก่อนการร่วมประชุม SCO ยังเป็นการยืนยันถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างจีนกับคาซัคสถาน และจีนกับอุซเบกิสถาน  ที่นักวิเคราะห์มองว่า  ในการพบปะกัน  ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับ ประธานาธิบดี คาเซิม-โชมาร์ต โตกาเยฟ แห่งคาซัคสถาน และประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ แห่งอุซเบกิสถาน จะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน

สำหรับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้  (SCO)  จัดตั้งขึ้นที่เซี่ยงไฮ้  สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปีค.ศ. 2001 ในปีแรก มีสมาชิกที่เข้าร่วมเต็มรูปแบบ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน  ต่อมาในปี ค.ศ. 2017  มีสมาชิกที่เข้าร่วมเต็มรูปแบบอีก 2 ประเทศ คือ อินเดียและปากีสถานทำให้ปัจจุบัน มีสมาชิกเต็มรูปแบบจำนวน 8 ประเทศ  นอกจากนี้ ยังมีประเทศผู้สังเกตการณ์ 4 ประเทศ ได้แก่  อัฟกานิสถาน  เบลารุส  อิหร่าน และมองโกเลีย และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่  อาเซอร์ไบจาน  อัลเมเนีย  กัมพูชา  เนปาล  ตุรกี และศรีลังกา

ในเชิงพื้นที่   มีพื้นที่ประเทศสมาชิก SCO ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 4ของโลก ครอบคลุม 3 ใน 5 ของทวีปเอเชีย  และ มีประชากรรวมกันเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของโลก  ในด้านเศรษฐกิจ ปีค.ศ. 2021  ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสมาชิก SCO อยู่ที่ประมาณ 23.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของ จีดีพีโลก ซึ่งใหญ่กว่าเมื่อเริ่มก่อตั้งถึง 13 เท่า  ขณะที่ปริมาณการค้าระหว่างจีนและประเทศสมาชิก SCO อื่น ๆ มีมูลค่าสูงถึง 343,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ

จุดมุ่งหมายสำคัญในการก่อตั้ง SCO เมื่อปีค.ศ. 2001 คือ การสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียกลาง  ที่มีภัยคุกคามจากการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และลัทธิสุดโต่งต่างๆ ต่อมามีการส่งเสริมการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก SCP ทำให้ปริมาณการค้ารวมของประเทศสมาชิก SCO เพิ่มขึ้นจากกว่า 667,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ.2001 เป็นมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีค.ศ. 2020

หากย้อนดูบทบาทของจีน ที่ผ่านมาจีนมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนา SCO บนหลักการเรื่องความไว้วางใจ  การมีผลประโยชน์ร่วมกัน  ความเสมอภาค  การให้คำปรึกษา  การยอมรับนับถือในอารยธรรมที่หลากหลาย  และการแสวงหาการพัฒนาร่วมกัน  โดยในปีค.ศ. 2018 มีการจัดตั้ง ขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าของจีน – SCO ที่ชิงเต่า (Qingdao) จัดตั้งศูนย์การขนส่งหลายรูปแบบ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกัน

สำหรับการประชุม SCO ในปีค.ศ. 2022 นี้ มีการหารือในวาระสำคัญหลายประเด็น เช่นเรื่อง สถานการณ์โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร  และการตอบรับประเทศอื่นๆ ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก SCO รวมถึงการกําหนดทิศทางของ SCO ปี ค.ศ. 2023 -2027 เพื่อที่จะประกาศปฏิญญาซามาร์กันต์ต่อไป

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการประชุมทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีจีนและรัสเซีย ประธานาธิบดีจีนและอินเดียที่มีแนวโน้มที่จะหารือเกี่ยวกับประเด็นสําคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อจะร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตที่โลกกำลังดำเนินอยู่

แหล่งข้อมูล : www.cctvplus.com

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย